รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 20, 2008 12:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- ยอดใช้ก๊าซทะลุ 4 แสนตัน / เดือน
- สศก. เผยราคายางต่ำลงจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนชะลอตัว
- ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐเดือนก.ค. 51 สูงสุดในรอบ 27 ปี
HIGHLIGHT:
1. ยอดใช้ก๊าซทะลุ 4 แสนตัน / เดือน
- กรมธุรกิจพลังงานประเมินการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศ เดือน ก.ค. อยู่ที่ 4 แสนตัน โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นและการชะลอปรับราคา LPG ทำให้ยอดใช้ในภาคการขนส่งขยายตัวร้อยละ 30-40 ต่อปี โดยช่วง เม.ย.-ก.ค.51 มียอดนำเข้า LPG 1.3 แสนตัน และคาดว่ายอดความต้องการใช้ LPG จะเพิ่มจาก 3 ล้านเป็น 3.5 ล้านตันในปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดความต้องการ LPG เพิ่มขึ้นมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จาก 1 ในมาตรการ 6 เดือนของภาครัฐ ที่ให้ชะลอการปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือน เป็นปัจจัยส่งผลให้ยอดนำเข้า LPG มาใช้ในภาคขนส่งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคานำเข้าก๊าซ LPG สูงกว่าราคาที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งยอดนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาครัฐ จึงควรมีมาตรการป้องกันการใช้ก๊าซ LPG ที่ผิดวัตุประสงค์ที่ชัดเจนและในระยะยาวควรให้กลไกตลาดทำงานมากขึ้น
2. สศก. เผยราคายางต่ำลงจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนชะลอตัว
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า จากการที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในปีนี้มีการชะลอตัว เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราของไทย ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงระยะยาวถึงปี 2552 โดยเฉพาะการส่งออกยางพาราไทยไปจีนที่ชะลอตัวลง ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจีนสั่งนำเข้ายางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมรถยนต์มีการชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกยางพาราไปจีนลดลงด้วย
ทั้งนี้ราคายางที่ตลาดกลางหาดใหญ่ทุกตัวมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. ถึงปัจจุบันราคาลดลงกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม และการส่งออกยางในครึ่งปีแรกมีปริมาณลดลงร้อยละ 2 ขณะที่มูลค่าเพิ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3
- อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคายางเฉลี่ยก.ก.ละ 90 บาท เป็นราคาที่สูงและเกษตรกรพอใจ เมื่อเทียบจากเดิมที่ราคายางเฉลี่ยอยู่ที่ก.ก.ละ 40 บาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ค.51มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 60.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และการขยายตัวตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ( 7 เดือน) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 24.7
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐเดือนก.ค. 51 สูงสุดในรอบ 27 ปี
- กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี สูงสุดในรอบ 27 ปี เนื่องมาจากราคาขายส่งพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมยา ตลอดจนวัตถุดิบประเภทสินค้าทุน ทั้งนี้ ดัชนีสินค้าพลังงานสำเร็จรูป (Finished energy goods) ขยายตัวถึงร้อยละ 28.0 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหาร) ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี นับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขล่าสุดเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตที่สูงขึ้นอย่างมากส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะต้องทบทวนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน จากเดิมที่คาดว่า Fed จะคงที่อัตราดอกเบี้ย Fed Fund ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.0 ต่อปี ไปจนถึงปีหน้า ยกเว้นในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่เหลือของปีจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ