บทสรุป: กองทุนบริหารความเสี่ยงและประเด็นเชิงนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 19, 2008 16:20 —กระทรวงการคลัง

          Hedge funds ทวีความสำคัญในตลาดการเงินโลก โดยปี 2007 มีจำนวนกว่า 11,000 กองทุน และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 2.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 11.3 เท่าจากปี 1995 ทั้งที่ Hedge funds มีมูลค่าเพียงร้อยละ 2-3 ของกองทุนในโลกแต่มีบทบาทสูง จาก 1) การซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็ว มีการประมาณว่ามีการซื้อขายที่ระหว่างร้อยละ 30-50 ของปริมาณการซื้อขายต่อวัน (Daily turnover) ของ New York Stock Exchange และ London Stock Exchange และ 2) ทำการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ลงทุนและใช้ตราสารอนุพันธ์มาก เช่น LTCM มีเงินทุน 4.8  พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่บริหารทรัพย์สิน (Balance sheet) มูลค่า  120 พันล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 86 ของมูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์ไทย ก่อนที่จะมีปัญหาจนต้องถูกปิดกองทุน 
ประสบการณ์ต่างประเทศชี้ว่าประเด็นเชิงนโยบายสำคัญคือ การปกป้องนักลงทุน การปกป้องความน่าเชื่อถือของตลาดทุน และการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามการสร้างประโยชน์จาก hedge funds ไม่มีการพิจารณามากนัก
สำหรับประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีแนวทางสร้างประโยชน์และรองรับ Hedge funds หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการร่วมศึกษานโยบายที่เหมาะสม
จากการศึกษาในเบื้องต้นเห็นว่าแนวทางรองรับที่เหมาะสมคือการใช้หลักกลไกตลาด market approach ที่สนับสนุนการทำธุรกิจรวมทั้ง hedge funds และใช้การกำกับดูแลตามปกติ เช่นเดียวกับกองทุนประเภทอื่นๆ โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อสร้างโอกาสและลดผลกระทบทางลบ สำหรับประเทศ ดังนี้
1) พัฒนาระบบการติดตามข้อมูลกองทุนขนาดใหญ่รวมทั้ง Hedge funds โดยเฉพาะกองทุนที่ใช้การกู้ยืมเงินระดับสูงและใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินมาก
2) สนับสนุนการจัดตั้ง Hedge funds ของไทยตามความพร้อมของนักลงทุนและตลาดทุน รวมทั้งสนับสนุน Hedge funds ที่ใช้ไทยเป็นที่ตั้งการดำเนินการ โดยไม่ระดมทุนหรือลงทุนในประเทศ (offshore funds)
3) เพิ่มบทบาทสถาบันตัวกลาง คือ บริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับ Hedge funds ในการติดตาม ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการให้สินเชื่ออย่างรัดกุมบนจ้อมูลที่เพียงพอ
4) เพิ่มความสัมพันธ์กับ Hedge funds โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารในรูปแบบไม่เป็นทางการ
5) เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่อง Hedge funds
กองทุนบริหารความเสี่ยงและประเด็นเชิงนโยบาย
(Hedge Funds and Policy Implications)
การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์แนวโน้ม และประเด็นเชิงนโยบาย สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับ Hedge funds โดย Hedge funds มีแนวโน้มทวีความสำคัญมากขึ้น และประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุนไทยมากขึ้นในอนาคต จากการขยายตัวในระดับสูง และพฤติกรรมการลงทุนระยะสั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วในปริมาณที่สูง และมีการใช้เงินกู้ยืมในระดับสูง ตลอดจนกลยุทธ์การลงทุน
ที่หลากหลายและสลับซับซ้อน อย่างไรก็ตามประโยชน์จาก Hedge funds ก็มี เช่นการเพิ่มสภาพคล่อง
ให้ตลาดเงินตลาดทุน
1. ความหมายและวิธีการลงทุนของ Hedge funds
1.1 ความหมายของ Hedge fund
กองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge funds) ไม่มีคำนิยามเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป1 แต่ตามปกติจะหมายถึงกองทุนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1) มีจำนวนผู้ลงทุนใน Hedge funds จำนวนจำกัด เป็นกองทุนในรูป Private partnership เพื่อหลีกเลี่ยงกฏระเบียบเกี่ยวกับการลงทุน โดยตามปกติเป็นนักลงทุนที่มีรายได้สูง สถาบันการเงิน รวมถึงนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ และผู้บริหารจัดการ Hedge funds โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ถือเงินลงทุนของกองทุนนั้น
2) มีการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนแบบค่าสมบูรณ์ หรือคงที่ (Absolute return) โดยการ Hedging คือการลงทุนโดยมีการบริหารความเสี่ยง หรือ การทำ Arbitrage คือการทำกำไรในตราสารทางการเงินที่มีราคาผิดปกติไม่สอดคล้องกับราคาที่ควรจะเป็น
3) ใช้วิธีการกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนและใช้ ตราสารอนุพันธ์ (Use of leveraged and derivative securities) หรือวิธีทางการเงินใหม่ๆ (Financial innovation)
4) แสวงหากำไรในการลงทุนโดยไม่จำกัดวิธีการลงทุน
Hedge fund แรกของโลกคือ A.W. Jones ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยมีกลยุทธ์การลงทุนที่หวังผลตอบแทนแน่นอนโดยการทำการป้องกันความเสี่ยงของการลงทุน (Hedge) เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของตลาดการเงินถึงแม้ว่า Hedge funds จะมีการขยายตัวเป็นอัตราส่วนที่สูงมากในปัจจุบัน แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสินทรัพย์การลงทุนที่บริหารโดยกองทุนต่าง ๆทั่วโลก ประมาณว่า Hedge funds มีขนาดเพียงร้อยละ 2 - 3 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Hedge funds มีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูงมีการประมาณว่ามีการซื้อขายที่ระหว่างร้อยละ 30 — 50 ของปริมาณการซื้อขายต่อวัน (Daily turnover) ของ New York Stock Exchange (NYSE) และ London Stock Exchange (LSE)
1.2 วิธีการลงทุนของ Hedge funds
การลงทุนของ Hedge funds จะใช้กลวิธีการลงทุนที่หลากหลาย โดยทั่วไปหลักการลงทุนของ Hedge funds จะเป็นการกระจายความเสี่ยง ที่จะไม่ทำการลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์เพียงประเภทเดียวซ้ำกันเรื่อย ๆ จะถือครองหลักทรัพย์ตราสารต่างๆ เพื่อการเก็งกำไร จากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์นั้นๆ ในระยะเวลาสั้นผ่านการหาโอกาสการสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาในตลาดต่างๆ รวมถึงการลงทุนในการ
ควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ หรือการเข้าเก็งกำไรในกิจการที่มีแนวโน้มจะล้มละลาย โดยการเข้าบริหารจัดการให้มีผลที่ดีขึ้น แล้วแสวงหากำไรจากส่วนต่างราคาตลาดของกิจการนั้น ๆ
สำหรับประเภทของ Hedge funds แยกตามกลยุทธ์การลงทุนมีดังนี้3
1) Equity hedge (30% of Hedge funds industry) ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยใช้ทั้งการซื้อและยืมหุ้นมาขายล่วงหน้า (Long and short)
2) Event driven (20% of Hedge funds industry) การลงทุนในการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ หรือการเข้าเก็งกำไรในกิจการที่มีแนวโน้มจะล้มละลาย โดยการเข้าบริหารจัดการให้มีผลที่ดีขึ้น แล้วแสวงหากำไรจากส่วนต่างราคาตลาดของกิจการนั้น ๆ
3) Relative arbitrage (13% of Hedge funds industry) 3% การหาโอกาสจากส่วนต่างราคาในตลาดต่างๆ จากความไม่สมบูรณ์ของตลาด
4) Global macro (11% of Hedge funds industry) เน้นการลงทุนลักษณะ Top-down ตามภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศต่างๆ อัตราดอกเบี้ย และดัชนีรวมของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีความแตกต่าง
5) Fixed income (7% of Hedge funds industry) ลงทุนในตราสารหนี้ ทั้ง hi-yield bond และ securitized products ต่าง ๆ
6) Emerging Markets (4% of Hedge funds industry) ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ
7) Others (16% of Hedge funds industry)
ความได้เปรียบของ Hedge funds คือ การหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ โดยส่วนใหญ่ Hedge funds จะมีผู้ลงทุนในกองทุนไม่เกิน 10 ราย ซึ่งจะไม่มีการเปิดขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะมากนัก และจดทะเบียน offshore เพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่อาจทำให้ Hedge funds ขาดความคล่องตัว และความเป็นอิสระในการบริหารกองทุน
สำหรับ Hedge funds ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 กองทุนแรกและทรัพย์สินภายใต้การจัดการมีดังนี้คือ
ตารางที่ 1 Hedge funds ที่ใหญ่ที่สุดของโลกและทรัพย์สินภายใต้การจัดการสิ้นปีปี 2007
USD Billion
1. JPMorgan Asset Management 44.7
2. Bridge Water Associates 36.0
3. Farallon Capital Management 36.0
4. Renaissance Technologies Corps. 33.3
5. Och-Ziff capital Management 33.2
6. D.E. Shaw Group 32.2
7. Goldman Sachs Asset Management 29.2
8. Paulson & Co. 29.0
9. Barclays Global Investors 26.2
10. GLG Partners 23.9
ที่มา : IFSL (2007b) “Hedge Funds 2008” International Financial Services London
2. แนวโน้มของกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge funds)
กองทุนบริหารความเสี่ยงหรือ Hedge funds มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิพลต่อตลาดการเงินสูงขึ้นตามลำดับ สร้างสรรค์นวัตกรรมประเภทใหม่ ๆ ของการลงทุน โดยเป็นไปพร้อมกับพัฒนาการทางการลงทุน และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในการลงทุน
2.1 การเพิ่มขึ้นของกองทุนบริหารความเสี่ยง
จำนวน Hedge funds และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร Hedge funds อัตรามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยในปี 2007 Hedge funds มีสินทรัพย์กว่า 2.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้เพิ่มขึ้นกว่า 11.3 เท่าจากปี 1995 และในปี 2007 มีจำนวน Hedge funds มากกว่า 11,000 กองทุน ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้มีการขยายตัวในระดับสูงคือ ผลตอบแทนที่ Hedge funds ส่วนใหญ่ทำได้มักจะสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนทั่วไป รวมทั้งการเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่เน้นการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็วและมีมูลค่าสูง
ภายใต้การบริหารของ Hedge funds มักจะมีลักษณะของการลงทุนที่ใช้เครื่องมือทางการเงินหลายรูปแบบในการกระจายความเสี่ยง และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนของตลาดได้ โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ Hedge funds ที่สำคัญ เช่น การขยายตัวของตลาดการเงินและการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนอย่างหลากหลาย ประกอบกับมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น และพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนการดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้หลายรูปแบบและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะลงทุนสินทรัพย์ของตนผ่าน Hedge funds เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทุนเหล่านี้กลายเป็นผู้ทรง
อิทธิพลในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
2.2 การเพิ่มขึ้นของกองทุนบริหารความเสี่ยงในเอเชีย
การลงทุนของ Hedge funds ในเอเชียอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น โดยประมาณร้อยละ 60 จะเป็นการลงทุนในกลวิธีง่าย ๆ ได้แก่ Long/short equities สำหรับสินทรัพย์ของ Hedge funds ในเอเชียได้เพิ่มขึ้นโดยคิดเป็น 6 เท่าจาก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2002 เป็น 130,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2006 และคาดว่าในปี 2010 Hedge funds จะสามารถบริหารสินทรัพย์ได้กว่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การลงทุนของ Hedge funds ในเอเชียคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารกองทุนของ Hedge funds ทั่วโลกโดยคิดเป็นเพียงไม่ถึงร้อยละ 15 ของ Hedge funds ทั่วโลก
3. บทบาทของ Hedge funds และระบบการเงิน
3.1 การพัฒนาตลาดการเงิน รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่อง
Hedge funds สร้างนวัตกรรมทางการเงินและวิธีการลงทุนใหม่ เพิ่มอุปทานการลงทุนในตลาดการเงินและขยายฐานนักลงทุน ตลอดจนช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาดการเงิน ถึงแม้ว่า Hedge funds จะมีขนาดเพียงร้อยละ 5 ของทรัพย์สินภายใต้การบริหารของกองทุนต่างๆทั่วโลก อย่างไรก็ตาม Hedge funds มีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูง มีการประมาณว่า มีการซื้อขายที่ระหว่างร้อยละ 30 — 50 ของปริมาณการซื้อขายต่อวัน (Daily turnover) ของ New York Stock Exchange (NYSE) และ London Stock Exchange (LSE)
3.2 ผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
การลงทุนของ Hedge fundsขนาดใหญ่ สามารถผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ แนวโน้มการลงทุนของ Hedge funds ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีลักษณะเป็นการลงทุนระยะสั้น และสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างตลาดได้อย่างรวดเร็วในปริมาณสูงเมื่อเห็นช่องทางและโอกาสที่ดีกว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบการเงินได้ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets)ซึ่งมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องต่ำ
การกู้ยืมของ Hedge funds มีระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับสูง เพื่อขยายการลงทุนในการที่จะรักษาระดับผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนในภาวะที่จำนวนของ Hedge funds และมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งการกู้ยืมในระดับสูงเกินสมควร จะเกิดความเสี่ยงกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้มากขึ้น และอาจเกิดผลกระทบกับระบบการเงินโดยรวมได้หาก Hedge funds ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกิดปัญหาทางการเงิน เช่น ในกรณีของ Long Term Capital Management ที่มีปัญหาในเดือนกันยายน 1988 จน Federal Reserve Bank of New York ต้องเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องให้ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 122,400 ล้านบาท ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ) เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้และระบบการเงิน ทั้งนี้ต้นปี 1998 ก่อนที่ LTCM จะมีปัญหา เงินทุนของกองทุนมี 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่บริหารทรัพย์สิน (Balance sheet) ที่ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 4,080,000 ล้านบาท ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 86 ของมูลค่าตลาด
ของตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยรวม (Market capitalization of SET เดือน มกราคม 2550 มีขนาด 140.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
4. Hedge funds และประสบการณ์ต่างประเทศด้านนโยบาย
4.1 การปกป้องนักลงทุน (Investor protection)
ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษไม่มีมาตรการพิเศษ เนื่องจากตามปกติ Hedge funds มีจำนวนผู้ลงทุนน้อยราย และเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือเป็นนักลงทุนสถาบัน และ Hedge funds หานักลงทุนแบบ Private placement ทำให้ผลกระทบอยู่ในกลุ่มนักลงทุนที่มีความพร้อมในการรับความเสี่ยงที่ดีระดับหนึ่งอย่างไรก็ตามแนวโน้มของกองทุนต่างๆ รวมทั้งกองทุนประกันสังคม มีการใช้ Hedge funds มากขึ้นซึ่งหากเกิดการขาดทุนอย่างมากจะทำให้มีผลกระทบต่อสาธารณะได้
4.2 การปกป้องความน่าเชื่อถือตลาดทุน (Market Integrity Protection)
ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษไม่มีมาตรการพิเศษ ใช้นโยบายกำกับโดยใช้กลไกตลาด (Market discipline) คือการส่งเสริมความโปร่งใสของข้อมูล สนับสนุนการเพิ่มการบริหารความเสี่ยงของ Hedge funds สถาบันการเงิน และนักลงทุนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ก็เป็นการใช้กฎระเบียบเดิมคือการกำกับดูแล พฤติกรรมชี้นำตลาด การสร้างราคา การทุจริตต่างๆ เช่นการทุจริตทางบัญชี
นอกจากนี้แนวทางในการดำเนินการคือ การเพิ่มความสัมพันธ์กับ Hedge funds โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารในรูปแบบไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ จากการที่มีการจัดทำการหารืออย่างไม่เป็นทางการและมีการเผยแพร่ Best practices of Hedge funds โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยง พบว่าระดับการกู้ยืมเงินของ Hedge funds industry ลดลง
4.3 การปกป้องเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน (Financial system stability protection)
ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษไม่มีมาตรการพิเศษ ใช้นโยบายกำกับดูแลเดิมโดยเพิ่มมาตรการเพื่อความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง และความร่วมมือระหว่างประเทศดังนี้
1) หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินมีการติดตาม การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินทั้งความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ และความเสี่ยงจากด้านอื่นๆ
2) การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เนื่องจาก Hedge funds เป็นกองทุนที่ดำเนินการในหลายประเทศ และสามารถความผันผวนให้กับตลาดการเงินระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นในการประสานงาน เช่น Hedge funds ทำการกู้ยืมเงินจากทั้งธนาคารใน ประเทศสหรัฐอเมริกาและสวิส แต่ธนาคารในประเทศสหรัฐอาจไม่รู้ว่ามีการกู้ยืมเงินจากประเทศสวิส
5. Hedge Funds และแนวทางการรองรับของไทย
จากประสบการณ์ในต่างประเทศ Hedge funds ได้สร้างประโยชน์โดยเพิ่มสภาพคล่องและการลงทุนที่ช่วยพัฒนาตลาดการเงินและได้สร้างนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ตลอดจนวิธีการบริหารความเสี่ยง ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม Hedge funds สามารถสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพตลาดการเงินรวมทั้งระบบเศรษฐกิจในระดับสูงได้เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก ทั้งนี้ประเด็นนโยบายด้าน Hedge funds ควรมีการร่วมพิจารณาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบิ้องต้นขอเสนอแนวทางรองรับดังนี้
5.1 การสนับสนุน Hedge Funds
ในประเด็นนี้ ประเทศไทยยังไม่มีการส่งเสริมให้กองทุนดำเนินการในลักษณะนี้ ซึ่งการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนของไทย สามารถช่วยพัฒนาตลาดการเงิน และสร้างธุรกิจด้านนี้ในประเทศ อย่างไรก็ตามต้องมีการพิจารณา
ถึงความพร้อมของนักลงทุนและตลาดการเงินประเทศ สำหรับกองทุน Hedge funds จากต่างประเทศไทยสนับสนุนการลงทุนจากต่งประเทศโดยทั่วไปและไม่ได้มีอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของกองทุนต่าง ๆ รวมทั้ง Hedge funds การสนับสนุนเป็นพิเศษจึงยังไม่มีความจำเป็น
และหากต้องการสร้างโอกาส หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาถึงความเหมาะสม ในการสนับสนุน Hedge funds ที่เป็น Offshore funds สามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการดำเนินงาน โดยมีการลงทุนในประเทศอื่นและไม่ระดมทุนจากประเทศไทย เพราะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจกับประเทศและเพิ่มประสบการณ์ในการลงทุนในลักษณะนี้สำหรับบุคคลากรที่เกี่ยวข้องของไทย
5.2 การกำกับดูแล
ในขณะนี้ยังไม่การดำเนินการพิเศษ สำหรับการกำกับดูแล ทั้งนี้การกำกับดูแล Hedge funds สามารถทำได้ทั้งการออกกฏระเบียบต่าง ๆ เจาะจงสำหรับ Hedge funds หรือใช้กลไกตลาด (Market discipline)ซึ่งพิจารณาจากประสบการต่างประเทศแล้ว แนวทาง Market ประกอบแนวทางการกำกับดูแลปัจจุบันในเรื่อง การสร้างราคา การชี้นำตลาด และการทุจริตต่าง ๆ จะเหมาะสมกว่า โดยเพิ่มการดำเนินงาน ดังนี้
(1) พัฒนาระบบการติดตามข้อมูลกองทุนขนาดใหญ่รวมทั้ง Hedge funds โดยเฉพาะกองทุนที่ใช้การกู้ยืมเงินระดับสูงและใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินมาก โดยเพิ่มความสำคัญของการติดตามข้อมูลและประสานงาน อาจพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานขึ้นในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง (Large Fund Service Office) และมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการหารือถึงการดำเนินการเพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้เกี่ยวข้อง และลดการซ้ำซ้อนของงาน
(2) การเพิ่มบทบาทสถาบันตัวกลาง คือ บริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับ Hedge funds ในการติดตาม ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการให้สินเชื่ออย่างรัดกุมบนข้อมูลที่เพียงพอ
(3) หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินมีการติดตาม การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินทั้งความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ และความเสี่ยงจากด้านอื่นๆ
(4) การเพิ่มความสัมพันธ์กับ Hedge funds โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารในรูปแบบไม่เป็นทางการทั้งนี้ จากการที่มีการจัดทำการหารืออย่างไม่เป็นทางการและมีการเผยแพร่ Best practices of Hedge funds โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยง พบว่าระดับการกู้ยืมเงินของ Hedge funds industry ลดลง
(5) การเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่อง Hedge funds เนื่องจาก Hedge funds เป็นกองทุนที่ดำเนินการในหลายประเทศ จึงควรมีการร่วมมือในการดำเนินการรองรับ ตลอดจนสนับสนุนอย่างเหมาะสม
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ