Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 ส.ค. 2551
SUMMARY:
- นักเศรษฐศาสตร์คาดธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่น เล็งจัดงบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์กระตุ้นเศรษฐกิจ
- แบงค์จีนสุดคึกกำไรปักษ์แรกร้อยละ 71
HIGHLIGHT:
1. ธ.แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ คาดธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 27 ส.ค. นี้ กนง.น่าจะมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นครั้งสุดท้ายของปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 51 พบว่า การใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาสแรก โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 51 มีแนวโน้มชะลอลงจาก 6 มาตรการของรัฐบาล นอกจากนี้ ตลาดการเงินและตลาดทุนได้มีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง — ยาว มีการปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลง จากที่ระดับร้อยละ 4.02 และ 5.66 ต่อปี ตามลำดับ ณ วันที่ 16 ก.ค. (การประชุม กนง. ครั้งก่อน) เป็นที่ระดับร้อยละ 3.73 ต่อปี และ 4.93 ต่อปี ณ สิ้นวันที่ 22 ส.ค. 51 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าธปท.อาจจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี
2. ญี่ปุ่น เล็งจัดงบ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์กระตุ้นเศรษฐกิจ
- สำนักข่าวเกียวโดและหนังสือพิมพ์โยมิอุริ เผยว่าญี่ปุ่นกำลังจัดทำมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมูลค่าถึง 8 ล้านล้านเยน หรือ 73,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ และผู้บริโภครับมือราคาเชื้อเพลิง และสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะรวมถึงการช่วยเหลือธุรกิจภาคเกษตรและประมงที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 51 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง และความต้องการของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ดีมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้และเป็นการสร้างความเชื้อมั่นให้กับการบริโภคและการลงทุนให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี
3. แบงค์จีนสุดคึกกำไรปักษ์แรกร้อยละ 71
- ธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งจีน (CCB) เปิดเผยผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่าผลกำไรปรับตัวขึ้นมาถึงร้อยละ 71 ที่ 5.87 หมื่นล้านเหรียญหยวนCCB ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีนยังคงเพิ่มปริมาณเงินกู้ให้กับลูกค้า แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดมาตรการจำกัดธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งต่างจาก ธ.พาณิชย์อื่นๆของจีนที่เริ่มชะลอธุรกิจสินเชื่อหลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ธ.พาณิชย์ของจีนขยายเงินกู้ภายในประเทศสูงถึง 2.45 ล้านล้านหยวนเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมยอดปล่อยกู้สูงถึง 2.86 หมื่นล้านหยวนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ต่อปีจากปีที่แล้วสวนทางกับความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในไตรมาส 2
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 51 อยู่ที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม จากอุปสงค์ภายในประเทศผ่านการลงทุนภาคเอกชนถือว่ายังคงแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากการขยายตัวของยอดปล่อยกู้สินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของ CCB ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจที่เข้ามาชดเชยการส่งออกที่ชะลอลงของจีนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th