รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 18-22 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 25, 2008 11:56 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 76.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อหน้าที่อยู่ที่ระดับ 73.6 จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการให้ลดลง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายยังคงมีการปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดโลกที่ยังขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้เดิม ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าอยู่ในระดับสูง ได้แก่ พลังงานทดแทน การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซ ซึ่งทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมด้านพลังงานที่ได้รับผลดีต่อเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
มูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 43.9 ต่อปี เร่งจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.4 ต่อปี ด้วยมูลค่าที่สูงสุดเช่นเดียวกันที่ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการขยายตัวในอัตราเร่งเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป อัญมณี และข้าว ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 278.9 197.1 และ 212.1 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และยานยนต์ ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 16.5 และ 45.3 ต่อปี ทั้งนี้ การขยายตัวของการนำเข้าสินค้า เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณร้อยละ 24.2 ต่อปี และราคาร้อยละ 15.9 ต่อปี ปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.2 นั้น สะท้อนว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ไม่น่าจะชะลอตัวลงมากอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากมาอยู่ที่ร้อยละ 5 ของมูลค่าส่งออกรวม
มูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 55.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.7 ต่อปี ด้วยมูลค่าที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวดสินค้า เช่น น้ำมันดิบ สินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าบริโภค ขยายตัวร้อยละ 94.5 52.9 36.3 และ 48.3 ต่อปี การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่เร่งตัวขึ้นมาก บ่งชี้ว่าการส่งออกในอนาคตน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งตัวขึ้นมาก สะท้อนว่าการลงทุนภาคเอกชนในเครื่องมือเครื่องจักรน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขยายตัวของการนำเข้าสินค้า เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณร้อยละ 30.2 ต่อปี และราคาร้อยละ 19.1 ต่อปี
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือนก.ค. 51 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 16.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี ส่งผลให้ยอดสะสม 7 เดือนแรกปี 51 สามารถขยายตัวถึงร้อยละ 5.9 ต่อปี สะท้อนการใช้จ่ายในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ขยายตัวได้ดีเนื่องจาก1) รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 51 และนโยบายรัฐบาล 6 มาตรการ 6 เดือนที่ช่วยผ่อนคลายภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค. ที่ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 71.8 จากระดับ 70.8 ในเดือนก่อนหน้า 2) ผลทางบวกจากภาวะผันผวนของราคาน้ำมันที่จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้นเห็นได้จากรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวที่สามารถประหยัดน้ำมันดีกว่าประเภทอื่นๆมีสัดส่วนตลาดเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 50 และขยายตัวได้ถึงร้อยละ 19 ต่อปี
Economic Indicators: Next Week
หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ เดือน มิ.ย. 51 คาดว่าอยู่ที่ระดับร้อยละ 35.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 36.1 โดยยอดหนี้สาธารณะรวมในเดือนมิ.ย. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ 3,370 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 26 พันล้านบาท ทั้งนี้ การลดลงของของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงประมาณ 22 พันล้านบาท จากการชำระคืนหนี้ต่างประเทศและในประเทศที่ครบกำหนด และการลดลงของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูประมาณ 14 พันล้านบาท เนื่องจากการซื้อคืนพันธบัตรกองทุนที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนภายในประเทศโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวลง ตามราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าในประเทศชะลอตัวประกอบกับแนวโน้มการชะลอทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจำพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมการเกษตร
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายในวันที่ 27 ส.ค. 51 คาดว่า ธปท.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมเนื่องจาก แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังลดลง จากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลง รวมถึงมาตรการบรรเทาเงินเฟ้อ 6 มาตรการ 6 เดือน คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังปรับลดลงที่ร้อยละ 1.4
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.5 นอกจากนี้ ตลาดการเงินและตลาดทุนได้มีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง — ยาว มีการปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.35 และ 0.9 ตามลำดับจากที่ระดับร้อยละ 4.02 และ 5.66 ต่อปี ตามลำดับ ณ วันที่ 16 ก.ค. (การประชุมกนง. ครั้งก่อน) เป็นที่ระดับร้อยละ 3.67 ต่อปี และ 4.78 ต่อปี ณ สิ้นวันที่ 20 ส.ค. 51
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นค่าเงินบาท ค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์และค่าเงินวอนเกาหลี
ที่อ่อนค่าลง
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐเนื่องจาก 1) ความกังวลเกี่ยวกับการขาดทุนเพิ่มขึ้นที่เกี่ยวกับสินเชื่อของบริษัทการเงินสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงออกไป โดยซิตี้กรุ๊ปได้ปรับลดคาดการณ์ผลกระกอบการของเลห์แมน บราเธอร์ส และปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการของโกลด์แมน แซคส์,เมอร์ริล ลินช์ และมอร์แกน สแตนเลย์ โดยระบุถุงการขาดทุนในสินทรัพย์ที่ยากต่อการขาย และปริมาณการซื้อขายของลูกค้าที่ลดลง 2) ความกังวลเกี่ยวกับบริษัทเฟรดดี้แมค และเฟนนี เม ที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นต่อระบบการเงินที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังในการเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ และ 3) ราคาน้ำมันดิบที่กลับมาเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลส่งผลต่อแรงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดจากแรงกดดันจากปัจจัยในประเทศของสหรัฐที่ส่งผลต่อการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของยูโรจะที่ออกมาสะท้อนถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจยูโรโซนในช่วงที่เหลือของปี ทั้งตัวเลข Manufacturing PMI ที่ยังคงต่ำกว่าระดับที่ 50 ซึ่งแสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ตัวเลขดุลการค้าของญี่ปุ่นก็มีการเกินดุลลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะอันใกล้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลดแรงกดดันให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก
ด้านค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์และค่าเงินวอนเกาหลีอ่อนค่าลงมากที่สุดใน
บรรดาเงินสกุลของภูมิภาค แม้ว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และธนาคารกลางเกาหลีใต้จะได้เข้าแทรกแซงค่าเงินสกุลเปโซ และวอน ตามลำดับอย่างมากแล้วก็ตาม จากตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ณ สิ้นเดือนก.ค. 51 อยู่ที่ 247.5 เทียบกับ ณ สิ้นปี 50 ที่ระดับ 275.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง -10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินวอน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินวอนเกาหลีอ่อนค่าลงเร็วที่สุดในภูมิภาคที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มาจากความกังวลจากสถานการณ์สินเชื่อตึงตัว รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นกดดันราคาหุ้นในประเทศให้ลดลง
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์และค่าเงินวอน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเนื่องจาก ค่าเงินบาทอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างมาก รองจากค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์และเงินวอนเกาหลี ในขณะที่ค่าเงินประเทศคู่ค้าอื่นๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลคู่ค้าที่สำคัญค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจาก กลุ่มผู้นำเข้า รวมถึงธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในประเทศได้มีแรงเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐอย่างมากนอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยยังคงขายสุทธิอย่างต่อเนื่องด้วย
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 22 ส.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.27 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 5.13
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 23.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 12.5) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 11.9) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 11.8) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 10.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7.9) เงินเยน (ร้อยละ 4.5) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1.8) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร (ร้อยละ 5.5) หยวน (ร้อยละ 4.1) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.1) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.5)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 15 ส.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ระดับ 118.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลงคาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับคาดว่าผู้ประกอบการน่าจะเร่งการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ค่าเงินมีทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนก.ค.51 มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 55.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่าผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 8 ส.ค.51) ร้อยละ 0. 32 จาก 33.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 33.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 ส.ค.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลข Housing started ของสหรัฐเดือนก.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -29.6 ต่อปี เนื่องจากอุปทานบ้านที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ได้มีจำนวนมากทั้งนี้ตัวเลข Housing started เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหดตัวลงร้อยละ -11.0 นับเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขคำขอสร้างบ้านใหม่ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ภาวะการสร้างบ้านในอนาคตยังหดตัวในระดับสูงเช่นกัน
ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐในเดือนก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปีสูงสุดในรอบ 27 ปี เนื่องมาจากราคาขายส่งพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมยา ตลอดจนวัตถุดิบประเภทสินค้าทุน ทั้งนี้ ดัชนีสินค้าพลังงานสำเร็จรูป (Finished energy goods) ขยายตัวถึงร้อยละ 28.0 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหาร) ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี นับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 ปี ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตที่สูงขึ้นอย่างมากส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะต้องทบทวนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน จากเดิมที่คาดว่า Fed จะคงที่อัตราดอกเบี้ย Fed Fund ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.0 ต่อปี ไปจนถึงปีหน้า ยกเว้นในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่เหลือของปีจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน
ดุลการค้าของยูโรโซนเดือนมิ.ย. 51 ขาดดุล -0.1 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -3.9 พันล้านยูโร เนื่องจากการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การนำเข้าทรงตัว มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 51 คิดเป็น 135.5 พันล้านยูโร หรือขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 135.6 พันล้านยูโร หรือขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี
Flash Manufacturing PMI ของยูโรโซนเดือนส.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 47.5 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.4 แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงหดตัว ตัวเลข PMI ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ปี 51 จะชะลอตัวลง
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 51 ในภาวะที่มีเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกัน โดยมีความกังวลว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กระจายไปทั่วโลกจะมีมากขึ้นและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือน ก.ค. 51 เกินดุลลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ 91.1 พันล้านเยนจาก 138.6 พันล้านเยนในเดือน มิ.ย. 51 โดยมีการส่งออกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี หลังหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี ทั้งนี้ ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งกลายมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของญี่ปุ่น แทนที่สหรัฐฯ โดยการส่งออกไปยังเอเชียซึ่งมีสัดส่วนถึงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวมของญี่ปุ่นมีการขยายตัวที่ร้อยละ 12.7 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันและวัตถุดิบนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งในช่วงเดือน ก.ค. 51 ทำให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 18.2 ต่อปี จากร้อยละ 16.2 ต่อปี
การส่งออกสินค้าที่มิใช่น้ำมันของสิงคโปร์เดือน ก.ค. 51 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.7 ต่อปี จากร้อยละ -10.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยมีการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -14.2 ต่อปี เป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท ยกเว้นส่วนประกอบของแผงวงจรไฟฟ้า โดยมีการส่งออกเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -43.7 ต่อปี เร่งจากร้อยละ -32.9 ต่อปี และการส่งออก Disk Drive ที่หดตัวร้อยละ -25.1 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักรองลงมามีการหดตัวร้อยละ -42.4 ต่อปี
อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงเดือนก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาอาหาร และราคาค่าเช่าบ้าน โดยดัชนีราคาอาหารในเดือน ก.ค. ขยายตัวร้อยละ 28.3 ต่อปี โดยเฉพาะราคาข้าวและเนื้อวัวที่ขยายตัวร้อยละ 66.3 และ 45.6 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮ่องกงได้ขยายช่วงเวลาสำหรับมาตรการยกเว้นค่าเช่าบ้านของรัฐไปจนถึงเดือนต.ค. 51 นี้ จะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ