สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานสถานการณ์ของบริษัทเฟรดดี้ แมค (Freddie Mac) และบริษัทแฟนนี่ เม (Fannie Mae) สองสถาบันด้านสินเชื่อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ หลังจากที่ประกาศภาวะขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้กว่า 3 เท่า จากผลของวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
นักวิเคราะห์ของนิตยสารบารอนส์ (Barron’s) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของบริษัทแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังกดดันใหัสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเร่งระดมทุน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักซึ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองของทั้งสองบริษัทลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองถึงสามไตรมาสที่ผ่านมา และได้แสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สถาบันการเงินทั้งสองแห่งอาจไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอเพื่อกอบกู้วิกฤติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนครั้งใหม่นั้น จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงการดำเนินงาน และเพิ่มแนวโน้มที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจต้องอัดฉีดเงินทุนโดยการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ซึ่งมาตรการดังกล่าวนับเป็นการโอนกิจการของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งมาเป็นของรัฐ และจะเป็นการขจัดผู้ถือหุ้นสามัญของทั้งสองบริษัทซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือครองตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinate bondholder) ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสรอ. และจะส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ของยอดหนี้สาธารณะในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ความคิดเห็นในเชิงลบของนักวิเคราะห์ข้างต้น ประกอบกับที่รัฐมนตรีว่าการคลังสหรัฐฯ(นาย เฮนรี พอลสัน) ปฏิเสธที่จะออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกล่าว ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปีทางด้านบริษัทเฟรดดี้ แมค ที่เคยประกาศเป้าหมายการระดมทุนไว้ที่ 5.5พันล้านเหรียญสรอ. หรือกว่า 2 เท่าของมูลค่ารวมของบริษัทในปัจจุบัน ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์เป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรของบริษัทเฟรดดี้ แมค ครั้งล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้บริษัทเฟรดดี้แมค ประสบความยุ่งยากในการระดมทุนเพิ่มเติม และยังไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นบุริมสิทธิของทั้งบริษัทแฟนนี่ เม และบริษัท เฟรดดี้ แมค จากระดับ A1 มาอยู่ที่ระดับ Baa3 และลดอันดับความน่าเชื่อถือของความแข็งแกร่งทางการเงิน (bank financial strength rating) จากระดับ B-minus มาเป็นระดับ D-plus เนื่องจากการระดมทุนของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเป็นไปได้ยากขึ้นซึ่งส่งผลให้ความเป็นไปได้สูงที่จะต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามที่กล่าวข้างต้นอย่างไรก็ตาม บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ยังคงระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง (senior debt) ให้อยู่ที่ระดับ Aaa และระดับ Aa2 สำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิ
ก่อนหน้านี้ นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการกอบกู้วิกฤติของบริษัทแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค ด้วยการเข้าครอบครองสถาบันการเงินทั้งสองแห่งอย่างเต็มรูปแบบและแยกสถาบันการเงินทั้งสองแห่งออกเป็นองค์กรขนาดเล็กลง เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยแนวความคิดดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากนายเจฟฟรีย์ แล็คเกอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาริชมอนด์ อย่างไรก็ตาม นายแกรี่ สเติร์นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขามินนาโพลิส มีความคิดเห็นที่ต่างออกไป โดยสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือในระยะนี้โดยมีเป้าหมายให้สถาบันการเงินด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งสองแห่งยังสามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th