กฎหมายเงินฝากซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างวินัยให้กับสถาบันการเงินและผู้ฝากเงิน และสร้างระบบคุ้มครองผู้ฝากเงินที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลและไม่สร้างภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากรโดยทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ากฎหมายนี้จะมีผลกระทบที่สำคัญหลายประการเกิดขึ้น (โดยที่ผู้เขียนกฎหมายมิได้ตั้งใจ) โดยผมจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น ผลต่อสถาบันการเงินและผลต่อผู้ฝากเงิน ซึ่งผลจะเกิดขึ้นแตกต่างกันต่อขนาดของสถาบันการเงินและขนาดของผู้ฝากเงิน
ผมคิดว่า 5 แบงก์ใหญ่จะมีต้นทุนเงินฝากที่ต่ำกว่าแบงก์ที่เหลือ เมื่อกฎหมายคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับกฎเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐานใหม่ (Basel II) และเกณฑ์การบันทึกบัญชีตามมาตรฐานใหม่ (IAS 39) จะทำให้แบงก์ขนาดเล็กขยายธุรกิจได้ยาก เพราะข้อจำกัดในเรื่องการหาเงินฝากและต้นทุนเงินฝากที่สูงกว่า ประกอบกับความสามารถในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าชั้นดีที่อัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจสินเชื่อ (ที่มีความเสี่ยงต่ำ) ได้ดีเท่ากับแบงก์ขนาดใหญ่ จึงน่าที่ 5 แบงก์ใหญ่จะขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอีก และน่าจะเกิดการควบรวมกิจการระหว่างสถาบันการเงินขนาดเล็กกันเอง หรือกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั้งของไทยและของต่างประเทศ สถาบันการเงินที่ต้องปรับตัวมากที่สุดเพื่อให้ยืนหยัดกับการแข่งขันได้ จะเป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กที่เหลือ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ คงต้องหาพันธมิตรหรือStrategic Partners มาช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและขยายฐานเงินฝาก ส่วนธนาคารของรัฐนั้นคงไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากรัฐบาลเป็นประกันตามกฎหมายอยู่แล้ว
สถาบันการเงินนอกจาก 5 แห่ง ดังกล่าว จะต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างและขยายฐานเงินฝากที่มั่นคง เช่น การเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจขึ้น การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากในรูปแบบใหม่ๆ ที่จูงใจผู้ออมเงินมากขึ้น อาทิเช่น บัญชีเงินฝากที่ควบคู่กับการประกันสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก เช่น Money Market Fund หรือเงินฝากที่มีการค้ำประกันเงินต้นแต่อัตราดอกเบี้ยอิงกับผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์
ผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน ผู้ฝากเงินที่เป็นลักษณะผู้ลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำเน็ญบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการกเษียณอายุ (RMF) กองทุนรวมโดยทั่วไป ซึ่งมีเงินภายใต้การบริหารการจัดการมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งฝากเงิน
บางส่วนไว้กับสถาบันการเงินเพื่อเป็นการลงทุนและเก็บสภาพคล่องตามระเบียบข้อบังคับและนโยบายของกองทุน นอกจากนั้นยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ มูลนิธิและองค์กรการกุศล ซึ่งมีเงินรวมกันไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท องค์กรเหล่านี้ จะเพิ่มความระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยถือว่าเงินฝากเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน (Asset Class) ประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องลงทุนโดยคำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างจริงจังควบคู่ไปกับ Asset Class ประเภทอื่นๆ ผมคิดว่าแบงก์ขนาดเล็กและยังไม่มีฐานผู้ฝากเงินที่มั่นคงพอ จะต้องหันมาพึ่งลูกค้าเงินฝากสถาบันเหล่านี้มากขึ้น โดยระดมเงินฝากในรูปการออกตั๋วเงินฝาก (B/E) หรือตราสารหนี้ในลักษณะที่คล้ายCommercial Paper มากขึ้น
ส่วนผู้ฝากเงินรายย่อยหรือผู้ฝากเงินนิติบุคคลที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท อาจจะมีความกังวลหรือไม่กล้าฝากเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท กับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว และกระจายไปฝากยังสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ 5 แห่ง จะได้เงินฝากในส่วนนี้มากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เหลือ (ด้วยเหตุผลที่ผมไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้)
แต่โดยทั่วไปแล้วผมคิดว่าทั้งผู้ฝากเงินรายย่อยและผู้ฝากเงินสถาบันจะไม่ค่อยกล้าฝากเงินแบบประจำระยะยาว แต่จะหันไปฝากเงินแบบประจำระยะสั้นๆ เช่น 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน เพราะผู้ฝากจะมีการประเมินสถาบันการเงินที่ตนเองฝากบ่อยครั้งขึ้น และอาจมีการเปลี่ยนไปฝากกับสถาบันการเงินอื่นถี่ขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัวของสถาบันการเงินในอีก 3 — 4 ปี ข้างหน้า (ซึ่งกฏหมายคุ้มครองเงินฝากจะทยอยลดการคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป) ว่าจะปรับกลยุทธ์การแข่งขันได้ดีแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบงก์ขนาดเล็ก แบงก์ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ที่เกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ต้องปรับปรุง แบงก์ใหม่ บริษัทเงินทุนและเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งหากปรับตัวรองรับกฎหมายและกฎเกณฑ์ใหม่ได้ดี ซึ่งผมเชื่อว่าคงมีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งทำได้ ก็จะสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ แต่สถาบันการเงินเหล่านี้ต้องเริ่มปรับตัวอย่างจริงจังตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพื่อรักษาฐานเงินฝากให้มั่นคง
โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ email: AreeMitr54@yahoo.com
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th