บทสรุปผู้บริหาร: ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในภาวะวิกฤตอาหารโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2008 11:43 —กระทรวงการคลัง

                                        บทวิเคราะห์ 
เรื่อง ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในภาวะวิกฤตอาหารโลกยุทธศาสตร์ประเทศไทยในภาวะวิกฤตอาหารโลก 1
บทสรุปผู้บริหาร
.. ในช่วงที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้นมากทั่วโลก ในส่วนประเทศไทยนั้นภาวะราคาอาหารแพงจะทำให้เกษตรกรไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับประโยชน์ ทำให้เกษตรกรเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤตราคาอาหารและพลังงานแพงนั้นจะทำให้คนจนโดยเฉพาะในเมืองเสียประโยชน์
.. สาเหตุของราคาสินค้าอาหารแพงนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ ประการที่หนึ่ง ได้แก่ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ร้อนแรง ประกอบกับความต้องการพืชพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากน้ำมันที่ราคาแพงขึ้น ทำให้ผู้คนหันไปใช้พลังงานทางเลือก ประการที่สองเกิดจากปริมาณการผลิตอาหารไม่เพียงพอ โดยเกิดจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ประกอบกับการขาดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นภาวะราคาน้ำมันแพงทำให้วัตถุดิบในการเพาะปลูกพืช เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ประการสุดท้ายเกิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์
.. ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการพลิกวิกฤตอาหารโลกให้เป็นโอกาสของไทย สำหรับผู้ผลิตหรือเกษตรกรผู้ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากภาวะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นนั้น รัฐบาลไม่ควรมีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการจำกัดการส่งออก ประกอบกับควรมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้านการเงินและวัตถุดิบ ควรสนับสนุนให้มีการค้าเสรีโดยเฉพาะด้านการเกษตร รวมทั้งควรมีการพัฒนาอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรใหม่ ๆ และสำหรับผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ยากจนในเขตเมืองที่จะได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่แพงขึ้นนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยอาจมีโครงการแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชนรายได้น้อย หรือโครงการแจกจ่ายคูปองสำหรับประชาชนฐานะยากจนให้สามารถซื้อสินค้าจำเป็นและใช้ในการขนส่ง
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่รุนแรงและลุกลามจากประเด็นด้านเศรษฐกิจจนกลายเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพและความมั่นคงในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา จนทำให้องค์กรระหว่างประเทศทั้ง สหประชาชาติ ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอันมาก สำหรับประเทศไทยนั้น วิกฤตราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวนับได้ว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส กล่าวคือ ราคาอาหารที่แพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะคนจนในเขตเมือง ขณะที่เป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์
สถานการณ์ด้านราคาพลังงานและอาหาร
ในช่วงที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกต่าง ๆ โดยเฉพาะหมวดธัญพืชได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ราคาข้าว ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง โดยเฉพาะข้าวในตลาดกลางสินค้าเกษตรชิคาโก้ (Chicago Board of Trade : CBOT) ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 101 ต่อปี ขณะที่ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง แพงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ต่อปี ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน เช่น ข้าวนาปี ข้าวมะลิ และข้าวนาปรัง ที่ขยายตัวร้อยละ 74.6 100.1 และ 92.6 ในเดือนพฤษภาคมตามลำดับ
ผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้น
การที่ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีอาหารเป็นขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) วิเคราะห์ว่า วิกฤตราคาอาหารโลกอาจทำให้เศรษฐกิจเอเชียตกต่ำลง โดยได้ประเมินผลกระทบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ตั้งสมมุติฐานว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.5 จะทำให้เงินเฟ้อของประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยประเทศที่ไม่มีภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศในเอเชียต้องขึ้นดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 1 และทำให้เศรษฐกิจชะลอลงร้อยละ 1 ส่วนกรณีที่ 2 หากราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.5 จะทำให้ผลกระทบรุนแรงกว่า โดยเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 2.4 ดอกเบี้ยจะขึ้นร้อยละ 3 และเศรษฐกิจชะลอลงร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม โดย GDP จะชะลอลงร้อยละ 0.7 และ ร้อยละ 0.67 ในกรณีแรกและกรณีที่สองตามลำดับ นอกจากนั้น ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นยังส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนและเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรสุทธิ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ ซึ่งราคาอาหารที่สูงขึ้นจึงทำให้ประชาชนที่ยากจนไม่สามารถนำรายได้ที่มีอยู่เดิมจุนเจือต่ออาหารได้ และก่อให้เกิดปัญหาการขาดสารอาหาร(Malnutrition) โดยจากสถิติของ World Bank พบว่าจากวิกฤติราคาอาหารจะทำให้มีคนจนเพิ่มสูงขึ้น 100 ล้านคนจาก 1,000 ล้านคนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเทศไทยนั้นภาวะราคาอาหารแพงจะทำให้เกษตรกรไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับประโยชน์ (เนื่องจากมีเกษตรกรถึงร้อยละ 38.5 ของประเทศไทย) โดยราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทำให้มูลค่าของสินค้าเกษตรที่ขายได้สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย
จากฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง จะเห็นว่าล่าสุดในเดือนพฤษภาคม รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อแล้ว) ที่คำนวณโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั้น ขยายตัวถึงร้อยละ 31.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.1 ต่อปี ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตเป็นหลัก โดยจะเห็นได้ว่าราคาของผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 37.9 ต่อปีในเดือนพฤษภาคม ประกอบกับปริมาณผลผลิตทางเกษตรในเดือนพฤษภาคมขยายตัวที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี ตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรในเดือนพฤษาคมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน
รายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นทำให้เกษตรกรเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพิจารณาได้จากเครื่องชี้วัดการบริโภคระดับฐานราก เช่น ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (รถกระบะ 1 ตัน) รวมถึงยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์นั้นเริ่มขยายตัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์หลังจากที่หดตัวมาโดยตลอด ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ก็พลิกฟื้นตั้งแต่
ต้นปี โดยเป็นการขยายตัวของยอดขายในต่างจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณว่าเมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงเริ่มมีการซื้อรถบรรทุก โดยเฉพาะรถกระบะเพื่อขนย้ายผลผลิตเพื่อนำมาจำหน่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤตราคาอาหารและพลังงานแพงนั้นจะทำให้คนจนโดยเฉพาะในเขต กทม. เสียประโยชน์ โดยจากสถิติของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าในปี 2549 คนจนในกทม. มีรายจ่ายเกี่ยวกับค่าอาหารและอุปโภคบริโภคถึงร้อยละ 45.3 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย
สาเหตุของวิกฤติราคาอาหาร
สาเหตุของราคาสินค้าอาหารแพงนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ ประการที่หนึ่ง ได้แก่ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย จากการที่ประเทศเหล่านี้มีภาวะความเป็นอยู่ดีขึ้น แนวโน้มการบริโภคข้าวจึงลดลง และหันมาบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ทำให้มีความต้องการธัญพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยจากสถิติของธนาคารโลก ระบุว่าในปี 2531 ประชาชนจีนบริโภคเนื้อสัตว์ปีละประมาณ 20 กิโลกรัม แต่ในปัจจุบันบริโภคถึงปีละ 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งจำนวนดังกล่าวทำให้ความต้องการธัญพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เพราะปกติแล้วจะต้องใช้ธัญพืชถึง 7 กิโลกรัมเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมเท่านั้น
นอกจากนั้น ราคาธัญพืชแพงขึ้นเป็นผลกระทบจากความต้องการพืชพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากน้ำมันที่ราคาแพงขึ้น ทำให้ผู้คนหันไปใช้พลังงานทางเลือก เช่นไบโอดีเซลและเอเธอนอลมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับทำให้ความต้องการวัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน เช่น น้ำตาล ข้าวโพด ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลังถีบตัวสูงขึ้นเป็นทวีคูณ โดยในสหรัฐนั้นกว่าร้อยละ 30 ของข้าวโพดที่เพาะปลูกนั้นใช้ในการผลิตเนอเธอนอล
สาเหตุที่การปลูกพืชพลังงานต้องใช้พื้นที่มากนั้น เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานทางเลือกต่าง ๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ โดยจากสถิติของธนาคารโลกพบว่าในการเติมน้ำมันรถยนต์เต็มถังแต่ละครั้ง ต้องใช้ธัญพืชในการผลิตเพียงพอสำหรับจะเลี้ยงคน 1 คนถึง 1 ปี นอกจากนั้น ราคาธัญพืชน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้เกษตรกรที่เคยปลูกพืช
นอกจากนั้น การที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศเจริญแล้วเช่นสหรัฐมีการผลักดันให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในการปลูกพืชอาหารลดลง เนื่องจากมีการนำพื้นที่ที่ควรจะผลิตพืชอาหารไปใช้ในการเพาะปลูกพืชพลังงานแทน เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มการเพาะปลูกข้าวโพดเพื่อนำไปทำ Ethanol เพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยจะเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวโพดเพื่อการผลิต Ethanol จากประมาณ 3 พันล้านบุชเชลล์ต่อปีในปัจจุบันเป็นประมาณ 6 พันล้านบุชเชลล์ในปี พ.ศ. 2560
นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลในประเทศอื่น ๆ เช่นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศบราซิล ต่างมีนโยบายเพิ่มผลผลิต Ethanol ด้วยเช่นกัน ทำให้คาดว่าปริมาณการผลิต Ethanol ของทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 20,000 ล้านแกลลอนต่อปีในปัจจุบันเป็นประมาณ 25,000 ล้านแกลลอนในปี 2560
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยนั้น คาดว่าจะไม่ประสบกับปัญหาพืชพลังงานแย่งพื้นที่ของพืชอาหารในการเพาะปลูกดังเช่นประเทศอื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่แยกจากกันชัดเจน เช่น พืชอาหารโดยเฉพาะข้าวนั้นจะเพาะปลูกในที่ลุ่มที่มีระบบชลประทานพร้อมมูล (ส่วนใหญ่บริเวณภาคกลางและอีสานบางส่วน) ขณะที่พืชอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน จะเพาะปลูกในแถบภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศ ตามลำดับ ฉะนั้น สภาวะราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้นนี้ ทำให้พืชพลังงานที่เพาะปลูกได้ในประเทศไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ราคาดีขึ้นมาก และยังได้ส่งอานิสงค์ไปยัง มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ให้ราคาดีขึ้นด้วย ดังนั้น ภายใต้วิกฤตพลังงานและอาหาร เกษตรกรของไทยจึงได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน
สาเหตุประการที่สองที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นเกิดจากปริมาณการผลิตอาหารไม่เพียงพอ โดยเกิดจากภาวะ Global Warming จากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้บางประเทศที่เป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรประสบปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภาวะแห้งแล้งในออสเตรเลียและเวียดนามพายุไซโคลนที่ถล่มบังกลาเทศและอินเดีย หรือล่าสุดพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มในพม่า รายงานความเสียหายเบื้องต้นพื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด 2.65 ล้านไร่ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตพืชอาหารของโลกทั้งสิ้น
นอกจากนั้นการผลิตพืชอาหาร ส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตพืชอาหารหลักของโลกยังมีการผลิตโดยใช้ภูมิปัญญาที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ ไม่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรใหม่ๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการผลิตพืชอาหารของประเทศกำลังพัฒนาด้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีลักษณะภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสมในการทำการเพาะปลูกมากกว่าก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น ในการปลูกข้าวนั้น ไทยมีประสิทธิภาพในการผลิตเพียง 2.9 ตันต่อเฮกต้าร์เท่านั้น ต่ำกว่าประเทศที่มีภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกน้อยกว่า เช่น อียิปต์ และสหรัฐฯที่มีประเทศภาพในการผลิตถึง 10.6 และ 7.7 ตัน/เฮกต้าร์ ตามลำดับ
นอกจากนั้นภาวะราคาน้ำมันแพงทำให้วัตถุดิบในการเพาะปลูกพืช เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก สาเหตุจากการเร่งผลิตพืชเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และนานาประเทศต้องเร่งผลิตพืชอาหาร โดยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยเพิ่มผลผลิต ประกอบกับปุ๋ยเคมีเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ อาทิ แอมโมเนีย ยูเรีย ทำให้เกิดการแย่งซื้อในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏ นอกจากนั้นนโยบายภาครัฐที่บิดเบือนอุปทานตลาดโลก เช่น การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศขึ้นภาษีส่งออกปุ๋ยเคมีจากร้อยละ 0-35 เป็นร้อยละ 135 ในช่วง 20 เมษายน - 30 กันยายน 2551 ส่งผลกระทบต่อราคาปุ๋ยโลกเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศที่ทำเกษตรเป็นสำคัญ
สาเหตุประการสุดท้ายที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นได้แก่ การเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ แทนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และ เงินสกุลท้องถิ่นต่างๆมีอำนาจซื้อมากขึ้น : จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน ประกอบกับปัญหา (twin deficits) ที่เรื้อรัง และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการถือครองสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ รวมไปถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้นักลงทุนถอนเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อหาสินทรัพย์ที่มั่นคงกว่า เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ นักลงทุนและนักเก็งกำไรจึงต้องมองหาสินทรัพย์อื่นที่มั่นคงและไม่เสื่อมค่าลงหรือเสื่อมค่าช้ากว่า หรือทำการเก็งกำไรในตลาดซื้อ-ขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้ามากขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ทองคำ โลหะ พืชอาหาร และพืชพลังงานทดแทน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการพลิกวิกฤตอาหารโลกให้เป็นโอกาสของไทย
จากการวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตอาหารโลกข้างต้น จะพบว่าสาเหตุหลักมีอยู่ 3 ประการ อันได้แก่ (1) ความต้องการอาหารโลกที่เพิ่มขื้น (2) ปริมาณการผลิตที่จำกัด และ (3) การเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการพลิกวิกฤตอาหารดังกล่าวให้เป็นโอกาส กล่าวคือ ช่วยบรรเทาผลกระทบของราคาอาหารที่แพงขึ้นต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะคนจนในเขตเมือง ขณะที่เสริมโอกาสสำหรับเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงเสนอแนะยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการที่จะพลิกวิกฤตอาหารในปัจจุบันให้เป็นโอกาส โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ขณะที่ผลักดันให้เกษตรกรผู้ที่ควรจะได้รับประโยชน์จากภาวะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นได้ประโยชน์เต็มที่ โดยใช้การวิเคราะห์ในรูปแบบ SWOT Analysis ดังต่อไปนี้
ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย
จุดแข็ง
- ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศเหมาะกับการเกษตร
- ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิ
- ประเทศไทยมีการกระจายการส่งออกจากประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว และหันไปค้าขายกับประเทศในภูมิภาคและประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) มากขึ้น
จุดอ่อน
- ระบบชลประทานของไทยยังไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาอื่น ๆ
- ภาคการเกษตรไทยยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเต็มที่
- เกษตรกรไทยยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน/มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว
- ระบบสนับสนุนสินค้าเกษตร เช่นการขนส่ง (Logistic) คลังสินค้าเกษตร (ไซโล) ของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ
- ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผ่านราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่
โอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
โอกาส
- ราคาน้ำมันที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพืชน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น
- กรมธนารักษ์ยังมีพื้นที่ราชพัสดุ รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่าและสามารถใช้ทำการเกษตรได้
- ประเทศไทยมีกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
- การค้นคว้าวิจัยทางพันธุกรรม (Genetically Modified) อาจทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
กลยุทธ์ในการใช้จุดแข็งเพื่อขยายโอกาส
- รัฐบาลไม่ควรมีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการจำกัดการส่งออกหรือห้ามการส่งออกเพื่อกันปริมาณส่วนหนึ่งไว้ในประเทศ เพราะอาจส่งผลต่อราคาอาหารในระยะยาว เนื่องจากมาตรการลักษณะนี้จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับอุปสงค์ของตลาดที่บิดเบือนไปสู่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิต และทำให้เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากราคาในตลาดโลก ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มการลงทุนในระยะยาว
- รัฐบาลควรมีนโยบายแบบ Proactive โดยเข้าไปรับทราบปัญหา รวมถึงทำการสอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกรมากขึ้นเพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- จัดโครงการให้เช่าที่ราชพัสดุเพื่อการเกษตรในราคาถูก เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเช่าที่ดินปลูกข้าวและพืชพลังงาน
- สนับสนุนการทำ Contract Farming โดยให้กลุ่มธุรกิจการเกษตรที่มีเงินทุนทำการสนับสนุนให้เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินทำการเพาะปลูกขณะที่กลุ่มธุรกิจทำการตลาดอย่างเป็นระบบ
กลยุทธ์ในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
- รัฐบาลควรเร่งโครงการ Mega-Projects โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาระบบชลประทานและระบบการขนส่ง(Logistic) ต่าง ๆ
- รัฐบาลจะร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชาการเกษตรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มุ่งผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้สามารถมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงจะมีการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อม และโรคระบาดต่าง ๆ มากขึ้น
- รัฐบาลควรมีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ทั้งด้านวัตถุดิบในการผลิต เช่น ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์พืช โดยอาจมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปดำเนินการช่วยเหลือจัดซื้อปุ๋ย อุปกรณ์การผลิต รวมถึงรับซื้อพืชผลในราคาถูกกว่าท้องตลาด
- ในด้านผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เช่น จัดมหกรรมสินค้าราคาถูก จัดทำโครงการแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชนรายได้น้อย หรือโครงการแจกจ่ายคูปองสำหรับประชาชนฐานะยากจนให้สามารถซื้อสินค้าจำเป็นและใช้ในการขนส่ง เป็นต้น
ภัยคุกคาม
- ภาคการเกษตรมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
- ราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนสูง
- แนวโน้มราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอาจกระทบต่อราคาวัตถุดิบทางการเกษตร
กลยุทธ์ป้องกันภัยคุกคาม
- รัฐบาลควรสนับสนุนการค้าเสรี โดยเฉพาะในประเด็นสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งเจรจาการค้าเสรีโดยเฉพาะในประเด็นมาตรการกีดกันการนำเข้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barrier) กับกลุ่มประเทศที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรหลักจากไทย
กลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงจุดอ่อนจากภัยคุกคาม
- รัฐบาลอาจมีการพัฒนาอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรใหม่ ๆ เช่น Put Option โดยเกษตรกรสามารถเลือกที่จะขายสินค้าเกษตร ณ ราคาที่ตกลงไว้ล่วงหน้าหรือไม่ก็ได้ (ในกรณีที่ราคาในท้องตลาดสูงกว่าราคาในสัญญา) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเริ่มรู้จักบริหารความ
เสี่ยง
- รัฐบาลควรเริ่มมีการพัฒนาการประกันภัยจากดัชนีสภาพอากาศ (Weather Index Insurance) เป็นการประกันภัยที่นำเอาดัชนีสภาพอากาศมาใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งหากสภาพอากาศที่แปรปรวนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรจะได้รับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น
กล่าวโดยสรุปคือ เพื่อเป็นการพลิกฟื้นวิกฤตให้เป็นโอกาส รัฐบาลควรมียุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจดังนี้
1. สำหรับผู้ผลิต หรือเกษตรกรผู้ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากภาวะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นนั้น รัฐบาลไม่ควรมีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการจำกัดการส่งออกหรือห้ามการส่งออกเพื่อกันปริมาณส่วนหนึ่งไว้ในประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้านการเงินและวัตถุดิบทางการเกษตรต่าง ๆ พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชาการเกษตรต่างๆ ผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้สามารถมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง รัฐบาลควรสนับสนุนการค้าเสรี โดยเฉพาะในประเด็นสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง และสุดท้าย รัฐบาลควรมีการพัฒนาอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรใหม่ ๆ
2. ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ยากจนในเมืองที่จะได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่แพงขึ้น ทำให้ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เช่น จัดมหกรรมสินค้าราคาถูก จัดทำโครงการแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชนรายได้น้อย หรือโครงการแจกจ่ายคูปองสำหรับประชาชนฐานะยากจนให้สามารถซื้อสินค้าจำเป็นและใช้ในการขนส่ง เป็นต้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ