Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ก.ย. 2551
SUMMARY:
- คาดมูลค่าการส่งออกปี 2551อาจขยายตัวได้ตามเป้าพิเศษร้อยละ 15-20 ต่อปี
- ญี่ปุ่นทุ่ม 12 ล้านล้านเยนหนุนมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวดีเกินคาดในไตรมาส 2
HIGHLIGHT:
1. คาดมูลค่าการส่งออกปี 2551อาจขยายตัวได้ตามเป้าพิเศษร้อยละ 15-20 ต่อปี
- อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกเปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี 2551 ว่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นบางรายการที่อาจมีปัญหา แต่คาดว่าจะขยายตัว ได้ตามเป้าที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี และอาจจะขยายตัวได้ตามเป้าพิเศษที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 15-20 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกของไทยที่ได้เปลี่ยนไปยังตลาดใหม่ (Export Decoupling) ทำให้การส่งออกมีการขยายตัวได้ดี ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลางที่มีการเติบโตในระดับสูง ทำให้การส่งออกยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงแม้ว่าจะมีปัญหาจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดย สศค.คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 51 ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2551 จะอยู่ที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 26.1 ต่อปี
2. ญี่ปุ่นทุ่ม 12 ล้านล้านเยนหนุนมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ
- นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยว่าได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ มูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3.6 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และหยุดแนวโน้มการก่อภัยคุกคามฉุดให้ประเทศถดถอย ทั้งนี้ สำหรับแผนของรัฐบาลประกอบไปด้วยมาตรการต่างๆที่ช่วยผู้บริโภค บริษัทเอกชนและเกษตรกร ตลอดจนรับประกันสินเชื่อให้กับบริษัทขนาดกลางถึงย่อม
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 51 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.4 ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ประกอบกับการส่งออกที่ชะลอตัวลง และความต้องการของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ดีมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้และเป็นการสร้างความเชื้อมั่นให้กับการบริโภคและการลงทุนให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี
3. เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวดีเกินคาดในไตรมาส 2
- เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปีในไตรมาส 2 ปี 51 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 1 และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.9 เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ความต้องการภายในประเทศมิได้ชะลอลงมาก อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในระยะต่อไปน่าจะชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกและราคาเชื้อเพลิงและโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่กระทรวงการคลังมาเลเซียคาดว่าในปี 51 เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.7 ชะลอจากร้อยละ 6.3 ในปีก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวได้ดีเกินคาดเนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก (ร้อยละ 26 ของการส่งออกรวม) ขณะที่การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 110 ของ GDP ดังนั้นราคาสินค้าเกษตรโลกที่สูงขึ้นประกอบกับค่าเงินริงกิตที่อ่อนลงทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปริงกิตขยายตัวดีมาก (ประมาณร้อยละ 20 ต่อเดือนนับจากต้นปี) ทั้งนี้ แม้ว่ามาเลเซียจะเผชิญเงินเฟ้อที่สูง (ร้อยละ 8.5 ในเดือน ก.ค.) ซึ่งอาจทำให้ความต้องการภายในประเทศชะลอลงในระยะต่อไป แต่การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีประกอบกับนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมาเลเซียให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดย สศค. คาดว่าในปี 51 เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ร้อยละ 6.2
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th