Economic Indicators: This Week
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เดือน มิ.ย. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 35.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 36.1 โดยมียอดหนี้สาธารณะรวม 3,373.7 พันล้านบาท ลดลงประมาณ 26.4 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ต่างประเทศและในประเทศที่ครบกำหนดทำให้หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงมีมูลค่าลดลง 22.0 พันล้านบาท และการซื้อคืนพันธบัตรกองทุนที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันทำให้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 14.3 พันล้านบาท
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อปี สอดคล้องกับยอดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในเดือนเดียวกัน แม้ต้นทุนของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกของเดือน ก.ค. โดยอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัวดี เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 39.5 ต่อปี) ยานยนต์(ร้อยละ 15.3 ต่อปี) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 6.3 ต่อปี) และเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 8.9 ต่อปี) อย่างไรก็ตาม การผลิตของสินค้าบางรายการหดตัวลงมากในเดือนนี้ ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง(ร้อยละ -37.6 ต่อปี) เครื่องประดับอัญมณี (ร้อยละ -29.9 ต่อปี)
ยอดขายปูนซีเมนต์ เดือน ก.ค. 51 หดตัวที่ร้อยละ -15.0 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -16.7 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี เนื่องจากราคาปูนซีเมนต์ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาปูนซีเมนต์เดือน ก.ค. ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี ส่งผลให้ราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 31.1 ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยเร่งสำรองปูนซีเมนต์ในช่วงก่อนหน้าเริ่มชะลอคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตามยอดขายเหล็กรวมในเดือน ก.ค ขยายตัวดีในอัตราเดียวกับไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 13.5 ต่อปี สอดคล้องกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 43.0 ต่อปีในเดือน ก.ค. บ่งชี้ว่าการลงทุนด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.51 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 1.27 ล้านคน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี เป็นร้อยละ 9.3 ต่อปี เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทุกสายการบินปรับค่าธรรมเนียมน้ำมัน และค่าตั๋วโดยสารขึ้นเกือบเท่าตัว ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางในทุกกลุ่มประเทศ
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค.51 ขาดดุล -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการกลับมาขาดดุลอีกครั้งหลังจากที่มีการขาดดุลในเดือนเม.ย.51 เป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเร่งตัวขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกจึงทำให้ดุลการค้าขาดดุลที่ -0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ดุลบริการ เงินโอน และบริจาค เกินดุล 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัด 7 เดือนแรก ยังคงเกินดุล 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายในวันที่ 27 ส.ค. 51 ธปท.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 3.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.75 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยทางเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ ธปท. ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก (1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกของปี เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศทั้งภาคเอกชนและภาครัฐอ่อนแอลง ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และ (2) ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในระยะข้างหน้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอยู่ เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ ธปท.ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอยู่
Economic Indicators: Next Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้วหดตัวร้อยละ -1.7 (ซึ่งนับเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 50) เป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงและผลจาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน โดยราคาน้ำมันขายปลีกเบนซิน95 (รวมแก๊สโซฮอล์) และดีเซลเฉลี่ยในเดือนส.ค.51 อยู่ที่ 39.6 และ 35.2 บาทต่อลิตร ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เฉลี่ย 43.3 และ 42.7 บาทต่อลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนยังช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพในด้านอื่น ๆ อาทิเช่น มาตรการใช้น้ำประปาฟรี (ต่ำกว่า 50 หน่วย) และมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี (ไม่เกิน 80 หน่วย) ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าในหมวดเคหสถานลดลงด้วย
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเยนและหยวนที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจาก 1) ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 51 (ปรับปรุง) ของสหรัฐขยายตัวถึงร้อยละ 2.2 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเบื้องต้นที่ประกาศไว้ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปีโดยภาคส่งออกและการบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง 2) ภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐเริ่มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยยอดขายบ้านสร้างใหม่และบ้านมือสองในเดือน ก.ค. ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาบ้าน Case-Shiller ตกต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 แต่มีสัญญาณว่าเริ่มหดตัวลดลงในอนาคต และ 3) ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ Conference Board ในเดือน ส.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงที่ระดับ 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้งทำให้ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่ตกต่ำมากดังคาด
ค่าเงินยูโร ปอนด์สเตอลิงค์และค่าเงินเอเชียโดยเฉพาะวอนเกาหลีอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าวอ่อนแอต่อเนื่อง โดยตัวเลขความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเยอรมัน (Ifo Index) หดตัวลงมากในเดือน ส.ค. เช่นเดียวกับคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในยุโรปที่หดตัวต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัย ราคาบ้าน และยอดค้าปลีกของอังกฤษตกต่ำมากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี ด้านเกาหลีใต้ประสบภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องในเดือน ก.ค. ทำให้ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางของทั้งสามเขตเศรษฐกิจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยในปลายปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้นักลงทุนโยกย้ายการลงทุนกลับไปสหรัฐมากขึ้น
ด้านค่าเงินเยนและหยวนมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อพื้นฐานในญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. ที่ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ขณะที่อัตราว่างงานลดต่ำลงและดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนเดียวกันทำให้ตลาดคาดว่าการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตเป็นไปได้มากขึ้น และเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินเยน ขณะที่รายงานข่าวที่ว่าทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวนเช่นกัน
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ ริงกิตมาเลเซีย และค่าเงินวอน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ไปอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ทำให้มีแรงซื้อสินทรัพย์สกุลเงินบาทมากขึ้น เงินบาทจึงอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินคู่ค้าสำคัญบางสกุล เช่น ปอนด์สเตอลิงค์ริงกิตมาเลเซีย และค่าเงินวอนอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 29 ส.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.17 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.62
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 26.4) ดอลลาร์ฮ่องกง(ร้อยละ 11.5) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 11.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 11.0) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 11.0) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7.7) เงินเยน (ร้อยละ 4.3) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.7) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร (ร้อยละ 5.2) หยวน (ร้อยละ 4.8) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 0.9) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.8)
Foreign Exchange and Reserves:
ณ วันที่ 22 ส.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 0.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 117.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุน
ต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ -0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 15 ส.ค.51) ร้อยละ 0. 37 จาก 33.74บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 33.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 22 ส.ค.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลข Existing home sales ของสหรัฐ เดือน ก.ค. 51 มีจำนวน 515,000 หลัง หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.1 จากที่เคยติดลบร้อยละ -2.8 (qoq annualized) ในเดือนมิ.ย. 51 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 50 ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนก.ค. 51 ยังคงหดตัวลงร้อยละ -13.2 ทั้งนี้เป็นผลจากสต๊อกบ้านยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาบ้านมือสองลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนบ้านที่ถูกยึดและขายทอดตลาดสูงขึ้นเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาบ้านและยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐลดลงอย่างต่อเนื่องไปอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐโดยสะท้อนจากการลงทุนในหมวดที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวลงมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ -22.2 ต่อปี
ดัชนีราคาบ้านของสหรัฐ (OFHEO) ไตรมาสที่ 2 ปี 51 หดตัวลงร้อยละ -4.8 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาบ้านของ S&P Case Shiller ในไตรมาสที่ 2 หดตัวลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -15.4 ต่อปี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐเดือน ส.ค. 51 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.9 แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น มาจากความกังวลจากความเสี่ยงภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงมากว่า 1 เดือน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อตลาดแรงงานให้ปรับตัวดีขึ้น
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 ต่อปีในไตรมาส 1 ปี 51 ผลจากการขยายตัวชะลอลงของการบริโภคภาคเอกชนที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี จากร้อยละ 5.2 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้าและการบริโภคภาครัฐที่หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี จากเดิมที่เคยขยายตัวที่ร้อยละ1.9 ต่อปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวได้ด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ ของการลงทุนรวมที่เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและการกลับฟื้นตัวอีกครั้งของการส่งออกในไตรมาส 2 จากเดิมที่เคยหดตัวถึงร้อยละ -6.1 ต่อปีในไตรมาส 1 ทำให้การผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ในขณะที่การนำเข้ายังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.0 ต่อปีจากที่หดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปีในไตรมาส 1
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 51 ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก overnight ร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 6.0 และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม overnight เป็นร้อยละ 8.0 แม้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะชะลอลง ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ภายในช่วงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งธนาคารกลางคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับสูงสุดในเดือน ต.ค. นี้ แต่จะไม่เกินระดับร้อยละ 13.0 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปีนี้จะอยู่ประมาณร้อยละ 9.0-11.0 ซึ่งสูงจากที่คาดไว้เดิมที่ร้อยละ 7.0-9.0 และคาดว่าปี 52 ภาวะเงินเฟ้อจะชะลอลงมาอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 6.0-8.0
เศรษฐกิจไต้หวันไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปีชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้การส่งออกมีการขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 ต่อปีในไตรมาส 2 ชะลอลงจากร้อยละ 11.8 ต่อปี และผลจากภาวะราคาน้ำมันและอาหารที่แพงจนค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนต่อ GDP ถึงร้อยละ 60.0 ทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในไตรมาส 2 เพียงร้อยละ 1.1 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 2.0 ต่อปีในไตรมาส 1 ในขณะเดียวกันการลงทุนรวมหดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ส่วนการบริโภคภาครัฐนั้น หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวร้อยละ
1.7 ต่อปีในไตรมาส 1
GDP ของสหรัฐไตรมาสที่ 2 ปี 51 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี (หรือ 3.3 ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) ปรับตัวดีขึ้นมากจากตัวเลขที่ประกาศเบื้องต้นที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี โดยภาคส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 11.2 ต่อปี อันเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านมาขณะที่การบริโภคยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี ส่วนภาคการลงทุนในหมวดที่อยู่อาศัยยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -22.2 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในระยะต่อไปหากการลงทุนที่อยู่อาศัยเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาคการบริโภคยังคงขยายตัวดี อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐไม่ตกต่ำมากดังคาดได้
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
GDP มาเลเซียไตรมาส 2 ปี 51 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 กอปรกับการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมัน แม้ว่ามาเลเซียจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นช่วยชดเชยการบริโภคที่ขยายตัวชะลอลง
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th