บทสรุปผู้บริหาร: ค่าเงินในเอเชียเมื่อบทบาทของดอลลาร์ลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2008 12:10 —กระทรวงการคลัง

                                                บทวิเคราะห์
เรื่อง ค่าเงินในเอเชียเมื่อบทบาทของดอลลาร์ลดลง
บทสรุปผู้บริหาร
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์กังวลว่าการแข็งค่าของเงินบาทที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในตลาดโลก หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้โต้แย้งแนวคิด โดยให้เหตุผลว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจแข็งขึ้นจริง แต่หากเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในเขตเอเชียต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว จะพบว่าค่าเงินบาทมิได้แข็งค่าขึ้นมากไปกว่าค่าเงินสกุลอื่นจึงไม่น่ากระทบภาคส่งออกของไทยมากนักอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
อัตราการเปลี่ยนแปลงในรูปเงินสกุลท้องถิ่นของข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เสนอในบทวิเคราะห์นี้ ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณ ราคาและค่าเงินที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐด้วย
การใช้อัตราแลกเปลี่ยนทวิภาคีต่อดอลลาร์สหรัฐเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชียไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียและสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีน้อยลงในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคมีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เงินยูโรและเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศในเขตเอเชียเองมีความสำคัญในตลาดโลกทัดเทียมดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น นักวิเคราะห์ควรใช้ดัชนีซึ่งเป็นตัวแทนของค่าเงินในภูมิภาคเป็นค่าอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโรหรือเงินเยน เพียงค่าใดค่าหนึ่ง
สศค. วิเคราะห์ว่าค่าเงินในภูมิภาคมิได้แข็งขึ้นมากนักหากใช้อัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคเป็นค่าอ้างอิงแทนดอลลาร์สหรัฐ การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะมากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคจริงในช่วงปี 2549 แต่ในปี 2550 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ในขณะที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจึงเป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ
1. ความเป็นมา
ความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
- ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการมักกล่าวถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง หลายฝ่ายกังวลว่าการแข็งค่าของเงินบาทที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในตลาดโลก ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนบางแห่งได้โต้แย้งแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจแข็งขึ้นจริง แต่หากทำการเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนทวิภาคี (Bilateral exchange rate) ของเงินสกุลอื่น ๆ ในเขตเอเชียเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแล้ว จะพบว่าค่าเงินบาทมิได้แข็งค่าขึ้นมากไปกว่าค่าเงินสกุลอื่น ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันของไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่เปลี่ยนไปดังกล่าวมากนักอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงทำให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญเสื่อมค่าลงไปด้วย
- ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในช่วงขาลง เกิดปัญหา Sub-prime ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินทั่วโลก และยังทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนเข้าสู่ประเทศในเขตเอเชีย อันเนื่องมาจากแรงจูงใจในอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้นและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกที่อิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าเงินแข็งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยทันที และสกุลเงินที่อิงกับตะกร้าเงินซึ่งประกอบด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่มีค่าด้อยตามดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งไปกว่านี้การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐยังกระทบกับตัวเลขข้อมูลในรูปสกุลเงินท้องถิ่นของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีหน่วยบันทึกสากลเป็นดอลลาร์สหรัฐให้เสื่อมค่าลงด้วย เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลบัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ดุลการชำระเงิน มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการ เงินลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้นเนื่องจากอัตราการเปลี่ยนแปลงในรูปสกุลเงินท้องถิ่นของข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศเหล่านี้ มิได้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณและราคาเท่านั้น แต่ได้รับผลจากค่าเงินที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐด้วย
การพิจารณาค่าเงินสกุลท้องถิ่นต้องคำนึงถึงปริมาณการค้าภายในภูมิภาคมากกว่าสหรัฐฯ
- การใช้อัตราแลกเปลี่ยนทวิภาคีต่อดอลลาร์สหรัฐ ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทกับเงินสกุลต่าง ๆ ในเขตเอเชียไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียและสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของคู่ค้าและคู่แข่งในตลาดโลก ดังจะเห็นได้จากการส่งออกของประเทศในภูมิภาคนี้มีการพึ่งพาตลาดสหรัฐลดลงการค้าระหว่างประเทศภายในประเทศสมาชิกอาเซียน การค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิกอาเซียน +32และการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศอาเซียน+3 กับอินเดียจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ ในขณะเดียวกันมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอาเซียน+3 กับไต้หวันลดลงเรื่อย ๆ และเมื่อพิจารณามูลค่าการค้ากับฮ่องกงพบว่ามูลค่ารวมของการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 กับฮ่องกงมีสัดส่วนสูงกว่าการค้ากับไต้หวันและอินเดีย เนื่องจาก 1)มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับฮ่องกงต่อมูลค่ารวมของการค้าระหว่างประเทศของจีนมีสัดส่วนสูง และ 2) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนต่อมูลค่ารวมของการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มประเทศเอเชียมีสัดส่วนที่สูง
บทบาทของเงินสกุลท้องถิ่นในเอเชียเริ่มมีมากขึ้น
สำหรับการลงทุนระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารทางการเงิน (Portfolio Investment) ของประเทศสมาชิกภายในกลุ่มอาเซียนและอาเซียน+3 (Intra-Regional Investment) มีเพิ่มขึ้นแม้จะเพียงเล็กน้อย ดังจะเห็นได้จากตารางที่ 1 ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการรวมตัวกันของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากระดับการพัฒนาของตลาดเงินและตลาดทุนไม่เท่าเทียมกัน ดังจะเห็นได้ว่าตลาดเงินและตลาดทุนของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีการพัฒนาที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศกลุ่ม CLMVB3 ยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก อย่างไรก็ดีตลาดพันธบัตรในประเทศเขตเอเชียมีสัดส่วนปริมาณ
สัดส่วนของเงินลงทุนในตราสารทางการเงิน ของกลุ่มประเทศอาเซียน และอาเซียน+3 (%)
กลุ่มประเทศ แหล่งที่มาของทุน 2544 2545 2546 2547 2548
อาเซียน+3 อาเซียน+3 3.11 2.54 2.51 2.97 N/A
อาเซียน+3 อาเซียน 1.47 1.41 1.35 1.66 N/A
อาเซียน อาเซียน+3 24.77 17.54 20.02 24.16 N/A
อาเซียน อาเซียน 11.03 10.09 11.29 15.23 N/A
ที่มา: IMF Coordinated Portfolio Investment Survey
2. การคำนวณค่าอัตราแลกเปลี่ยนทวิภาคีของเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชียต่อดัชนี RMU
งานวิจัยของนงนุช ตันติสันติวงศ์ (2550)5 ได้เสนอวิธีการคำนวณดัชนี RMU เมื่อเทียบกับทั้งดอลลาร์สหรัฐ (USD) และเงินยูโร (Euro) โดย X (USD-Euro /RMU) เป็นค่าของดัชนี RMU ในรูปของดัชนีถ่วงน้ำหนัก USD-Euro
X (USD-Euro /RMU) = E Aj /XR(j/USD-Euro)
XR(j/USD-Euro) เป็นอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศสมาชิก j ต่อดัชนี USD-Euro และ Aj เป็นค่าถ่วง
น้ำหนักหรือปริมาณเงินสกุล j ในดัชนี RMU
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโรสามารถคำนวณจาก
XR(j/USD-Euro) = wUSD* XR(j/USD)+ wEuro * XR(j/Euro)
wUSD และ wEuro เป็นค่าถ่วงน้ำหนักของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นต่อดอลลาร์สหรัฐ และค่าถ่วงน้ำหนักของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นต่อเงินยูโร ซึ่งขึ้นอยู่กับสัดส่วนการค้าของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน+3 กับสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป จากการศึกษาของ Ogawa and Shimizu (2005) wUSD เท่ากับ 0.65 และ wEuro เท่ากับ 0.35 อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นต่อเงินยูโรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยระหว่างปี 2543-2548 เนื่องจากปี 2549 อัตราแลกเปลี่ยนทวิภาคีของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุล j เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี RMU สามารถคำนวณได้จาก
XR(j/RMU) = X (USD-Euro /RMU)* XR(j/USD-Euro)
โดย XR(j/RMU) เป็นอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศสมาชิก j ต่อดัชนี RMU
ในการคำนวณค่าถ่วงน้ำหนักของเงินแต่ละสกุล Aj แม้ว่าทฤษฎี Optimal Currency Area (OCA) จะอธิบายว่ากลุ่มประเทศที่จะใช้นโยบายทางการเงินร่วมกันหรือใช้เงินสกุลร่วมนั้น จะต้องมีสภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ทฤษฎีนี้เหมาะกับการพัฒนา RMU เพื่อใช้ในธุรกรรมทางการเงินมากกว่าเพื่อใช้สำหรับการคำนวณค่า RMU ให้เป็นดัชนีชี้วัด (Indicator) ตัวหนึ่งในการติดตามและประเมินภาวะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 หรือเป็นค่าเปรียบเทียบ (Numeraire) ของอัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีเพื่อใช้ประเมินภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคควรจะประกอบด้วยเงินทุกสกุลในกลุ่มประเทศ ทั้งนี้ค่าถ่วงน้ำหนักจะขึ้นอยู่กับหลักความสำคัญทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจต่อภูมิภาค (Economic Contributions to the Region) ซึ่งกำหนดโดยปัจจัยต่อไปนี้
1. สัดส่วนของมูลค่าผลิตผลมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ต่อมูลค่าผลิตผลมวลรวมภายในภูมิภาค(Regional Gross Domestic Product) ในการคำนวณสัดส่วนมูลค่าผลิตผลมวลรวมภายในประเทศของประเทศสมาชิกจะต้องมีการปรับ GDP ให้มีหน่วยเดียวกัน การคำนวณอาจใช้ GDP ที่ปรับค่าด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) ซึ่งเรียกว่า PPP-exchange-rate GDP หรือ GDP ที่ปรับค่าด้วยอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า Marketexchange-rate GDP
2. สัดส่วนการค้าภายในภูมิภาค (Intra-regional Trade Volume) คือผลรวมของมูลค่าการนำเข้าจากประเทศกลุ่มอาเซียน+3 และมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน+3 ของประเทศสมาชิกนั้นต่อผลรวมของมูลค่าการนำเข้าจากประเทศกลุ่มอาเซียน+3 และมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน+3 ของประเทศสมาชิกทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน+3
สัดส่วนมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกกับกลุ่มอาเซียน+3 และฮ่องกงต่อมูลค่าการค้าทั้งหมดของกลุ่ม
งานวิจัยของนงนุช ตันติสันติวงศ์ (2550) ได้เสนอรูปแบบที่เป็นไปได้ของดัชนี RMU ซึ่งคำนวณค่าถ่วงน้ำหนักและดัชนี RMU ที่อิงกับเงินสกุลต่าง ๆ ของประเทศอาเซียน+ 3 และฮ่องกงไว้ 4 รูปแบบ ได้แก่
1. RMU 13-PPP ประกอบด้วย 13 ประเทศ กล่าวคือ อาเซียน+ 3 โดยคำนวณค่าถ่วงน้ำหนักจาก PPPexchange-rate GDP
2. RMU 13-Market ประกอบด้วย 13 ประเทศ กล่าวคือ อาเซียน+ 3 โดยคำนวณค่าถ่วงน้ำหนักจาก market-exchange-rate GDP
3. RMU 14-PPP ประกอบด้วย 14 ประเทศ กล่าวคือ อาเซียน+ 3 + เขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยคำนวณค่าถ่วงน้ำหนักจาก PPP-exchange-rate GDP
4. RMU 14-Market ประกอบด้วย 14 ประเทศ กล่าวคือ อาเซียน+ 3 + เขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยคำนวณค่าถ่วงน้ำหนักจาก market-exchange-rate GDP
เนื่องจากการใช้สัดส่วนของ GDP ที่คำนวณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนแบบ PPP และ Market ทำให้ค่าถ่วงน้ำหนักที่ได้แตกต่างกัน การเลือกดัชนีที่เหมาะสมที่สุดนั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัย ในที่นี้ ดัชนี RMU 14-PPP น่าที่จะเป็นรูปแบบของดัชนี RMU ที่เหมาะสมที่สุดโดยพิจารณาถึง 2 ปัจจัยหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อการนำดัชนี RMU ไปใช้ในการติดตามภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเท่านั้น ซึ่งได้แก่
- ระดับความสมดุลของค่าถ่วงน้ำหนัก ดัชนีชี้วัดการเบี่ยงเบน (Deviation Indicators) โดยทั่วไปนั้น ใช้ในการวัดความมีเสถียรภาพของตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ดังนั้นหากดัชนี RMU ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดัชนีดังกล่าวไม่ควรอิงกับค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งมากเกินไป หากใช้เกณฑ์เดียวกับดัชนี ECU ของกลุ่มประเทศยุโรป ค่าถ่วงน้ำหนักของเงินสกุลหนึ่ง ๆ ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 (หรือร้อยละ 33.33)
- นัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินของเงินสกุลอื่นในภูมิภาคที่มิได้เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน+3 จากงานวิจัยของนงนุช ตันติสันติวงศ์ (2550) พบว่าการค้าระหว่างประเทศกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียที่มิได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 มีน้อยกว่าการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับฮ่องกงมีมากกว่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับไต้หวันและอินเดีย โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการค้าระหว่างฮ่องกงและกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ต่อการค้ารวมภายในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 สูงถึงร้อยละ 20.4 การคำนวณดัชนี RMU เพื่อเป็นค่ามาตรฐาน(Benchmark rate) จึงน่าจะครอบคลุมถึงเงินดอลลาร์ฮ่องกงเป็นหนึ่งในสกุลเงินของดัชนี RMU
ค่ามาตรฐานดังกล่าวสามารถนำไปเปรียบเทียบและตรวจสอบกับค่าเงินแต่ละสกุลในภูมิภาคว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราสกุลต่าง ๆ อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ กล่าวคือไม่มีค่าที่ต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป นอกจากนี้ ยังใช้ตรวจสอบค่าความผันผวนของค่าเงินของประเทศสมาชิกว่าน้อยหรือมากเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค
3. ผลการวิเคราะห์
จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและเมื่อเทียบกับดัชนี RMU ในช่วงปี 2550 มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นเงินหยวน ดอลลาร์ฮ่องกงวอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและรูเปียห์อินโดนีเซีย กล่าวคือ ค่าเงินส่วนใหญ่ในเอเชียมีการปรับตัวแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีค่าเงินอ่อนตัวลงและค่าเงินดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีใต้และดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวอ่อนลงอยู่ในวงแคบ เมื่อพิจารณาค่าเงินเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน RMU พบว่าค่าเงินเยนญี่ปุ่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน 2 ประเภทมีความผันผวนและขนาดที่ไม่เท่ากันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินยูโร โดยทั่วไปค่าเงินในเอเชียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงมีการเคลื่อนไหวที่มีความผันผวนน้อยกว่าค่าเงินเมื่อเทียบกับดัชนี RMU จากตารางที่ 2 ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและเมื่อเทียบกับดัชนี RMU มีความผันผวนที่แตกต่างกัน ยกเว้นเงินเยน เปโซฟิลิปปินส์ โดยวอนเกาหลีใต้ เงินหยวน ริงกิตมาเลเซียดอลลาร์สิงคโปร์และรูเปียห์อินโดนีเซียมีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนต่อ RMU สูงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดอลลาร์ไต้หวัน ดอลลาร์ฮ่องกงและเงินบาทที่มีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน RMU น้อยกว่า
ผลการวิเคราะห์สามารถสรุปได้ดังนี้
1. เงินหยวนจีน ค่าเงินหยวนเทียบกับ RMU มีความผันผวนใกล้เคียงกับค่า RMU เทียบกับดอลลาร์สหรัฐและยูโร เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.2 เป็นค่าเงินที่แข็งขึ้นเป็นอันดับ 7 ในภูมิภาค แต่เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ค่าเงินหยวนมีค่าอ่อนตัวลงร้อยละ 1.24 แสดงว่าการปรับค่าแข็งขึ้นมาตลอดช่วง 1 ปีนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและการละเลยประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและค่าเงินในภูมิภาคเอเชียและยุโรป การแข็งค่าของเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีเพิ่มขึ้นในปี 2550 ที่ร้อยละ 6.5 สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ในขณะที่มีค่าเงินเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นแข็งขึ้นร้อยละ 1.3 เท่านั้น การแข็งค่าของเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการไหลเข้าของเงินทุนเข้าประเทศจีน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการคาดการณ์และความเชื่อของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ว่าเงินหยวนมีค่าอ่อนกว่าความเป็นจริงเนื่องจากมีการเคลื่อนไหวได้เพียงช่วงแคบ ๆ
2. เงินดอลลาร์ฮ่องกง เมื่อพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์ฮ่องกงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินมีการเคลื่อนไหวในช่วงแคบ ๆ เท่านั้น โดยในปี 2549 มีค่าอ่อนลงร้อยละ 0.3 และในปี 2550 อ่อนลงร้อยละ 0.2 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแทรกแซงเพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางของประเทศ ดูได้จากค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับ RMU มีค่าอ่อนลงเรื่อย ๆ ในปี 2549 มีการอ่อนค่าร้อยละ 4.9 และอ่อนลงอีกในปี 2550 ที่ร้อยละ 5.8 การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฮ่องกงส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มหันมาลงทุนในประเทศจีนและประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนในประเทศเหล่านี้สูงกว่าและมีศักยภาพที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นได้จากฮ่องกงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนและเกาหลีใต้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากดอลลาร์ฮ่องกงผูกค่าไว้กับดอลลาร์สหรัฐและเงินหยวน ดังนั้นเมื่อสกุลเงินในเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจะให้ค่าดอลลาร์ฮ่องกง
3. เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย เนื่องจากการส่งออกของอินโดนีเซียพึ่งพิงตลาดสหรัฐลดลงตั้งแต่ปี 2549 จึงเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 เริ่มมีการเคลื่อนไหวห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2549 โดยค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นในปี 2549 ร้อยละ 7.4 เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคและอ่อนลงในปี 2550 ที่ร้อยละ 4.9 ในขณะที่ค่าเงินเมื่อเทียบกับ RMU แข็งขึ้นในปี 2549 เพียงร้อยละ 1.7 เป็นอันดับ 5 ของภูมิภาค และอ่อนตัวลงร้อยละ 10.4 ในปี 2550 ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
4. เงินเยนญี่ปุ่น ในช่วงปี 2549 มีการปรับตัวอ่อนลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2549 ถึงกลางปี 2550 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหา Carry-Trade และการไหลออกของเงินทุนญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศในแถบเอเชีย เพื่อแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นของนักลงทุนญี่ปุ่น ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงร้อยละ 2.4 แสดงว่าเงินเยนเองมีการอ่อนตัวลงมาก โดยจะเห็นได้ว่าค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคอ่อนลงร้อยละ 7.3 ในส่วนครึ่งปีหลังของปี 2550 ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 5.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ โดยจะเห็นได้จากค่าเงินเยนยังคงอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งหากตลาดส่งออกรายใหญ่ของญี่ปุ่นเปลี่ยนมาเป็นเอเชียก็อาจจะทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นและเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ต่ำกว่า 100 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐมากนัก
5. เงินวอนเกาหลีใต้ อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวทั้ง 2 ห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลางปี 2549 เป็นผลมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐในขณะที่ RMU มีค่าแข็งขึ้น ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นร้อยละ 7.5 ในปี 2549 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนและการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินได้ปรับตัวอ่อนลงในปี 2550 ร้อยละ 1.1 ในขณะที่ค่าเงินเมื่อเทียบกับ RMU แข็งขึ้นร้อยละ 1.9 ในปี 2549 เป็นอันดับ 4 ของค่าเงินในภูมิภาคที่แข็งขึ้นในช่วงเดียวกัน และอ่อนตัวลงร้อยละ 6.0 ในปี 2550 เป็นอันดับ 2 รองจากเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย การอ่อนค่าของเงินวอนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 เกิดขึ้นเนื่องจากการส่งออกพึ่งพาตลาดสหรัฐค่อนข้างมากโดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และนักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเกาหลีใต้และเงินวอน
6. เงินริงกิตมาเลเซีย หลังจากยกเลิกมาตรการกำกับดูแลค่าเงินในกลางปี 2548 ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นมาโดยตลอด แต่เมื่อเทียบกับ RMU ค่าเงินไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก โดยในปี 2549 เงินริงกิตมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 6.6 เป็นอันดับ 6 ของภูมิภาค ในขณะที่แข็งขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับดัชนี RMU เนื่องจากการส่งออกของมาเลเซียพึ่งพิงตลาดสหรัฐลดลงในปี 2550 และมีเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูงในขณะที่สหรัฐมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจึงเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 เริ่มมีการเคลื่อนไหวห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยในปี 2550 เงินริงกิตเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.5 ในขณะที่เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ค่าเงินริงกิตแข็งขึ้นเพียงร้อยละ 0.2
7. เงินเปโซฟิลิปปินส์ มีค่าแข็งขึ้นทั้งที่เปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและ RMU ในปี 2549 ค่าเงินเปโซแข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.7 นับเป็นการแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 5 ของค่าเงินในภูมิภาค ในขณะที่ค่าเงินเมื่อเทียบกับดัชนี RMU มีเพียงร้อยละ 2.2 ในปี 2550 เงินเปโซเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแข็งขึ้นร้อยละ 15.6 และเมื่อเทียบกับ RMU แข็งขึ้นร้อยละ 10.5 นับเป็นการแข็งค่าเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาค เนื่องจากสัดส่วนการค้ากับสหรัฐยังคงอยู่ในช่วงร้อยละ 15 -20 มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งไม่ค่อยลดลงมากนักเมื่อเทียบกับตลาดส่งออกของประเทศอื่นการพึ่งพิงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่านมายังคงสูง ทำให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และขนาดความผันผวนมีใกล้เคียงกัน กล่าวคือยิ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงมากเพียงใด เงินเปโซก็จะยิ่งแข็งค่าขึ้น แม้ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของฟิลิปปินส์ไม่ได้ดีไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย และเมื่อเปรียบเทียบเทียบแล้วเม็ดเงินที่ไหลเข้าฟิลิปปินส์ผ่านบัญชีรายได้เมื่อคิดเป็นเงินเปโซก็น่าจะลดลง อันเป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ เงินเปโซเมื่อเทียบกับดัชนี RMU จึงมีการแข็งค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
8. เงินดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2548 การแข็งค่าขึ้นในรูปอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 เป็นผลจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสิงคโปร์ โดยในปี 2549 การแข็งค่าของดอลลาร์สิงคโปร์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 7.1 และ ในปี 2550 ที่ร้อยละ 5.81 ทั้งนี้ ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 4 ของเงินในภูมิภาคในปี 2549 และ 2550 เมื่อพิจารณาค่าเงินเทียบกับดัชนี RMU พบว่าดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.7 ในปี 2549 ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคและแข็งขึ้นร้อยละ 0.5 ในปี 2550 ซึ่งเป็นการแข็งค่าอันดับที่ 4 RMU ความผันผวนของดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐใกล้เคียงกับความผันผวนของดัชนี RMU เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐยังเป็นค่าอ้างอิงที่ดีสำหรับกรณีดอลลาร์สิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์มีธุรกรรมการเงินกับสหรัฐค่อนข้างมาก แม้สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ จะลดลงในปี 2550 แต่ภาคการเงิน ตลาดเงินตลาดทุนของสิงคโปร์มีความสัมพันธ์กับตลาดในสหรัฐฯ มากขึ้น ดูได้จากภาพที่ 3 ที่มีการออกพันธบัตรในรูปของเงินสกุลท้องถิ่นน้อยลง และมีพันธบัตรในรูปดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
9. เงินบาท เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐลดลงเรื่อย ๆ มาตลอด 11 ปีที่ผ่านมา จากสัดส่วนร้อยละ 19.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2540 มาเป็นร้อยละ 17 ในปี 2546 และลดลงมาเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่ร้อยละ 12.6 ในปี 2550 เมื่อมีการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปลายปี 2548 และเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีการชะลอตัวในปี 2549 การส่งออกไปยังสหรัฐก็ยิ่งลดลง อัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 เริ่มมีการเคลื่อนไหวห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2549 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นถึงร้อยละ 11.6 สูงที่สุดในภูมิภาค ในขณะที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคแข็งขึ้นเพียงร้อยละ 6.2 ปัจจัยสำคัญคือการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงปี 2549 จากรูปที่ 8 ค่าเงินบาทเทียบกับ RMU มีความผันผวนมากกว่า RMU ต่อดอลลาร์สหรัฐ-ยูโร ในขณะที่หลังประกาศใช้มาตรการกันทุนสำรอง 30% ในปลายปี 2549 ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่กลับมีค่าแข็งขึ้นที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ในปี 2550 ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งขึ้นที่ร้อยละ 6.31 ซึ่งนับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค แต่เมื่อเทียบกับดัชนี RMU ค่าเงินแข็งขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 แสดงให้เห็นว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐส่วนใหญ่เป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
10. เงินดอลลาร์ไต้หวัน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงในปี 2549 โดยมีค่าเงินแข็งขึ้นร้อยละ 0.04 แต่เมื่อเทียบกับดัชนี RMU ค่าเงินอ่อนลงร้อยละ 4.2 และในปี 2550 ดอลลาร์ไต้หวันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินอ่อนลงเพียงร้อยละ 0.3 และเมื่อเทียบกับดัชนี RMU ค่าเงินอ่อนลงร้อยละ 2.94 การแข็งค่าของดอลลาร์ไต้หวันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ การอ่อนค่าของดอลลาร์ไต้หวันเมื่อเทียบกับ RMU ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เงินสกุลอื่นภายในภูมิภาคส่วนใหญ่มีการปรับตัวแข็งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
โดยสรุปแล้ว ดอลลาร์สหรัฐเป็นเพียงค่าเงินสกุลหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของสหรัฐฯ และมีความสำคัญน้อยลงในตลาดโลก โดยมีเงินสกุลอื่นเช่น เงินยูโร เงินเยน เงินหยวน ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ดัชนี RMU เป็นค่าเปรียบเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร ที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีภาวะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีการขยายตัวในอัตราที่สูงทั้งยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการวิเคราะห์ที่ใช้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าอ้างอิงดังที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายทำอยู่ในปัจจุบัน เป็นการให้ความสำคัญกับดอลลาร์สหรัฐและเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากเกินกว่าที่ควรจะเป็นโดยมิได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินและสภาพเศรษฐกิจในเขตภูมิภาคอื่นที่ทวีความสำคัญมากขึ้น ทำให้ผลการวิเคราะห์มีอคติหรือไม่เป็นกลาง (bias) การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจึงควรที่จะใช้ดัชนี RMU เป็นค่ามาตรฐานหรือค่าอ้างอิงแทนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากผลการวิเคราะห์ ค่าเงินบางสกุลในภูมิภาคมิได้แข็งค่าขึ้นมากนักหากใช้อัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคเป็นค่าอ้างอิง การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะมากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคจริงในช่วงปี 2549 แต่ในช่วงปี 2550 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในขณะที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวส่วนใหญ่จึงเป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ