บทวิเคราะห์
เรื่อง วิกฤตราคาน้ำมันสู่วิกฤตเงินเฟ้อโลก
บทสรุปผู้บริหาร
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดจาก ความต้องการน้ำมันของกลุ่ม Non-OECD อยู่ในระดับสูง กำลังการผลิตของโลกเพิ่มได้อย่างจำกัดมาก และการเก็งกำไรในตลาดน้ำมันมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาน้ำมัน
สาเหตุสำคัญของภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก (Global Inflation) มาจากราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีราคาสูงตามไปด้วย (Cost push) สาเหตุอื่นของภาวะเงินเฟ้อในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป เช่น อาจเกิดจากสภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) ที่เกิดจากเม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลเข้าประเทศ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ที่ร้อนแรงเป็นระยะเวลาหลายไตรมาสติดต่อกัน รวมถึงภัยธรรมชาติที่อาจทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปเป็นระยะเวลานาน (Hyper-inflation) อาจไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากนัก หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แต่หากผลจากเงินเฟ้อสูงส่งผลกระทบทางลบไปยังการบริโภคของประชาชนมากขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรงได้ (Stagflation) และหากการหดตัวเป็นไปอย่างยืดเยื้อเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ (Recession)
นโยบายรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ใช้เพื่อการควบคุมเงินเฟ้อ มีทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ผลิตให้เหมาะสมกับภาวะราคาพลังงานและอาหารในปัจจุบัน และขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจ และข้อจำกัดต่างๆ
1. ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์คือสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อโลก
ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2551 ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Dubai ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเฉลี่ยที่ 97.8 และ 91.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1 มาอยู่ที่ 123.9 และ 116.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในไตรมาส 2 และมาสูงสุดในประวิติศาสตร์ที่ 145.3 และ 140.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ส่วนราคาเฉลี่ย WTI และ Dubai ตั้งแต่ต้นปีถึงล่าสุด ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 อยู่ที่ 112.4 และ 105.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สาเหตุที่ 1 ความต้องการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นมากจากกลุ่ม Non-OECD International Energy Agency (IEA) คาดว่า ในปี 2551 ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกจะอยู่ที่ 86.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2550 ที่อยู่ที่ 85.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 1.2 ต่อปี
อุปสงค์-อุปทาน น้ำมันดิบในตลาดโลก (ล้านบาร์เรลต่อวัน)
2549 2550 2551
Q1 Q2 Q3 Q4 Annual Q1 Annual f
อุปสงค์ (D) OECD 49.3 49.7 48.2 48.7 49.8 49.1 48.7 48.6
Non OECD 35.6 36.2 36.8 36.7 37.2 36.9 37.9 38.1
Total 84.9 85.9 85.0 85.4 87.0 85.8 86.6 86.8
อุปทาน (S) OPEC 34.3 35.1 35.0 35.4 36.4 35.5 37.3 36.8
Non OPEC 51.1 50.5 50.3 49.8 50.0 50.1 49.7 50.4
Total 85.4 85.6 85.3 85.2 86.4 85.6 87.0 87.2
ส่วนต่าง (D-S) -0.5 +0.3 -0.3 +0.2 +0.6 +0.2 -0.4 -0.4
ที่มา: IEA
ความต้องการจาก OECD ไม่น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยประเทศในกลุ่ม OECD พบว่าความต้องการยังคงลดลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2551 จะมีความต้องการใช้น้ำมันดิบรวมที่ 48.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 2550 ที่ 49.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือลดลงร้อยละ -0.9 ต่อปี และอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง สาเหตุหลักมาจากอุปสงค์จากสหรัฐฯ หดตัวลงมากถึงร้อยละ -2.5 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี ส่งผลต่อเนื่องให้อุปสงค์จากยูโร 4 ประเทศ (เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี่ และเนเธอร์แลนด์) หดตัวตามไปด้วยที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี ในขณะที่ญี่ปุ่นยังมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายแทรกแซงราคาน้ำมันภายในประเทศให้ถูกเกินจริง หากพิจารณาเฉพาะสหรัฐฯ พบว่า 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ปี 2551 ความต้องการเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 20.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากไตรมาส 1 ปี 2551 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 20.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังต่ำกว่าความต้องการต่อวันของปี 2550 อีกทั้งระดับน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ในปัจจุบันลดลงกว่าที่คาดไว้มาก และยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของปี 2550 ที่ประมาณ 327.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงคาดว่าในระยะสั้นสหรัฐฯ น่าจะมีการเร่งการนำเข้ามากขึ้นแม้ว่าจะต้องนำเข้าในราคาแพงขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ประเทศกลุ่ม Non-OECD น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก คาดว่าในปี 2551 มีความต้องการใช้น้ำมัน 38.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4 ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์จากจีน ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา อินเดีย และสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.4 5.1 4.3 3.7 และ 1.9 ต่อปี ตามลำดับ ในส่วนของประเทศจีน พบว่า หลังจากที่จีนประสบภาวะขาดแคลนพลังงานจากพายุหิมะและแผ่นดินไหวทำให้ท่อแก๊สเสียหาย ประกอบกับนโยบายสำรองน้ำมันให้พอเพียงในช่วงการจัดกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคม เหล่านี้เป็นปัจจัยให้จีนยิ่งเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้น โดยในไตรมาส 1 ปี 2551 ความต้องการน้ำมันดิบอยู่ที่ 7.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2551 จะเพิ่มเป็น 8.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นระดับการนำเข้าน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของจีน แต่หลังจากการจัดกีฬาโอลิมปิกผ่านพ้นไป บวกกับรัฐบาลได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ 18% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีความต้องการนำเข้าน้ำมันน่าจะลดลง ส่วนในอินเดีย คาดว่าหลังจากรัฐบาลได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ 11% น่าความต้องการนำเข้าลดลงได้
สาเหตุที่ 2 กำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลกเพิ่มได้อย่างจำกัดมาก
International Energy Agency (IEA) คาดว่า ในปี 2551 ปริมาณน้ำมันที่ผลิตทั่วโลกจะอยู่ที่ 87.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2550 ที่อยู่ที่ 85.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 1.8 ต่อปี
ในกลุ่ม OPEC แม้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตได้บ้าง แต่ก็ยังเพิ่มได้จำกัดมาก คาดว่ากำลังการผลิตในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 36.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2550 ที่อยู่ที่ 35.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 3.7 ต่อปี ซึ่งรวมผลของการประชุมกลุ่มผู้ผลิตและ
ส่วนในกลุ่ม Non-OPEC คาดว่า กำลังการผลิตในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 50.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2550 ที่อยู่ที่ 50.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ต่อปี จะเห็นว่าอุปทานจากกลุ่ม Non-OPEC มีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโรงกลั่นในหลายประเทศอยู่ในภาวะเต็มกำลังการผลิต อีกทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตต้องใช้เงินทุนมหาศาลบาร์เรลละ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สาเหตุที่ 3 การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า
ผลจากความเสี่ยงในการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนขายหุ้นและหันไปหาการลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงและเร็วกว่า เช่น ตลาดน้ำมัน ในปีที่ผ่านมาพบว่า ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไม่สดใสเหมือนในอดีต บวกกับปัญหา Sub-prime ในสหรัฐฯ ลุกลามไปยังยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ทำให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มองหาที่ลงทุนใหม่ที่ผลตอบแทนสูงและเร็ว
เก็งกำไรในการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า การอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้นัก
ลงทุนและนักเก็งกำไรหันไปลงทุนและเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น น้ำมันดิบ ในขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินสกุลท้องถิ่นของประเทศต่างๆ แข็งค่าขึ้นและมีอำนาจซื้อมากขึ้น จึงมีการเข้าซื้อในตลาดน้ำมันดิบล่วงหน้ามากขึ้น และจากการประเมินของ IEA พบว่า ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าจะยังอยู่เหนือ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จนถึงปี 2557
2. ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาโภคภัณฑ์อื่นปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แพงขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่มีน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตและหรือปัจจัยการขนส่ง เช่น ปิโตรเคมี โลหะ เคมีภัณฑ์ พลาสติก อาหาร หรือเป็นสินค้าทดแทนน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วยหรือแม้แต่สินค้าที่ใช้ถือเป็นสินทรัพย์ เช่น ทองคำ ก็ยังมีราคาสูงตามขึ้นไปด้วย
3. ราคาอาหารซึ่งสามารถดูได้จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ก็ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน
โดยดูจาก ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้าที่ชิคาโก (CBOT) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 อยู่ที่ 24.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อข้าวหนัก 100 ปอนด์ ทั้งนี้ ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้าที่ชิคาโกล่าสุด ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 อยู่ที่ 20.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อข้าวหนัก 100 ปอนด์ ส่วนราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดอยู่ที่ 18.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อต่อข้าวหนัก 100 ปอนด์ สาเหตุหลักมาจากความต้องการข้าวในตลาดโลกมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่สูงขึ้น ปริมาณผลผลิตมีจำกัดจนอาจจะน้อยลงในอนาคตตามปัญหา Global Warming ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ส่งออกข้าวราย
ใหญ่ เช่น เวียดนาม และจีน ทำให้จำกัดปริมาณส่งออก รวมทั้งการเข้าเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลักทรัพย์ และราคาน้ำมันที่ผันผวนมากกว่า
4. วิกฤตราคาน้ำมัน ราคาโภคภัณฑ์ ราคาอาหาร นำมาสู่วิกฤตเงินเฟ้อโลก
อัตราเงินเฟ้อของประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
- ในปี 2551 อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของโลกคาดว่า จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5 ต่อปี ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบทศวรรษ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนทำสถิติสูงสุดในปีนี้ ซึ่งหากแบ่งโลกออกเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว(Developed country) และประเทศเกิดใหม่ (Emerging country) จะเห็นว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า โดยสูงสุดที่ประมาณร้อยละ 4.0 ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศเกิดใหม่อยู่ในระดับที่สูงกว่า โดยสูงสุดที่ประมาณร้อยละ 8.0 ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้ง Temporary shock และ Persistent shock
- ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า เกิดจากสาเหตุราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้เพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่ง แต่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมอาหารและพลังงาน) ในกรณีของสหรัฐพบว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างคงที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและอาหารไม่ได้ส่งผ่านเข้าสู่ราคาสินค้าและบริการโดยรวมในประเทศ (Pass through effect) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อ ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีการปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพ หมายถึงผลกระทบของแรงกดดันดังกล่าวต่อเงินเฟ้อจะหมดไป (Temporary shock)อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่เกิดขึ้นก็คือ แรงกดดันของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะส่งผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบบถาวร (Persistent shock) และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากมากกว่าเดิม
เงินเฟ้ออาจเกิดจาก Demand pull และ/หรือ Cost push
- นอกจากนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เริ่มชะลอลง เศรษฐกิจของประเทศในเขตเอเชียกลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงแม้จะมีการชะลอลงบ้างในปีนี้ จากการที่ภาคการส่งออกชะลอลงตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร่งขึ้นจะนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อ (Demand pull inflation) ดังนั้นการมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมิได้หมายถึงปัญหาหรือการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด หากประเทศยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวช้ากว่าระดับราคาในประเทศย่อมแสดงถึงการมีอุปสงค์ส่วนเกินในระบบ หากด้านอุปทานไม่มีการปรับตัวให้มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการส่วนเกินดังกล่าว แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อก็อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์ (Vicious cycle) ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นได้ทั้งสินค้าเพื่อการบริโภคสำหรับคนกลุ่มหนึ่งและวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อการผลิตของคนอีกกลุ่มหนึ่ง การที่ราคาสินค้าภายในประเทศหรือราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นจึงกระทบทั้งค่าครองชีพของ
5. ภาวะเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ
5.1 กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed country)
5.1.1 สหรัฐ
ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของสหรัฐมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาพลังงาน (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 9.7 ในตะกร้าเงินเฟ้อ) เพิ่มขึ้นอยู่สูงกว่าร้อยละ 18 ต่อปี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปีในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2550 ที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การซึมซับ (Osmosis) ผลของราคาน้ำมนแพงไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตะกร้าเงินเฟ้อยังเกิดผลไม่เต็มที่นัก โดยดูจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2550 เนื่องจากการส่งผ่านของราคาพลังงานไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลชัดเจน
ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า (Inflation expectation) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเงินเฟ้อที่จะเกิดในอนาคตยังคงอยู่ในระดับสูง จากการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าอยู่ที่ร้อยละ 3.4 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าต่อเนื่อง เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงควบคู่กับเศรษฐกิจหดตัว (Stagflation) และตราบใดที่ราคาน้ำมันและราคาอาหารในตลาดโลก และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะยาว ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังคงต่อไป และอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรง (Recession)
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหา Twin deficits ปัญหา Subprime บวกกับความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้การถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้รับความนิยมเช่นในอดีต จึงเปลี่ยนไปถือครองเงินสกุลอื่นมากขึ้น เป็นเหตุให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เทียบกับเงินยูโรและเงินเยน เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ย่อมส่งผลให้สหรัฐฯ ซื้อน้ำมันในราคาที่แพงขึ้นมาก บวกกับปฏิกิริยาเสริมจากกลุ่ม OPEC ที่ต้องโค้ดราคาขายให้สูงขึ้นเพื่อมิให้เงินสกุลท้องถิ่นที่แข็งขึ้นมากบั่นทอนกำไรจากการขายน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จึงเร่งตัวขึ้นมากในรอบ 17 ปี
5.1.2 ยุโรป
ภาวะเงินเฟ้อในเศรษฐกิจยูโรโซนพุ่งทะลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย เข้าขั้น Hyper-inflation เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน 2551 (ตัวเลข Flash estimate) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อปีซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 17 ปี และเป็นอัตราที่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 5 เดือนแรกของปี อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี เทียบกับร้อยละ 2.1 ต่อปี ในปีก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ) ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี เทียบกับร้อยละ 1.9 ต่อปี ในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า การซึมซับ (Osmosis) ผลของราคาน้ำมนแพงไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตะกร้าเงินเฟ้อยังเกิดผลไม่เต็มที่นัก เนื่องจากการส่งผ่านของราคาพลังงานไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลชัดเจน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยูโรโซนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปีและปรับเพิ่มไปถึงร้อยละ 14.0 ต่อปี ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถลดผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้มาก แต่ช่วงต้นปี 2551 เรื่อยมาพบว่าค่าเงินยูโร
ไม่ได้แข็งค่ามากเช่นปีก่อน บวกกับฐานราคาพลังงานที่ต่ำมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวมากขึ้น
การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าเป็นประเด็นหลักที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษให้น้ำหนักเป็นอันดับแรกเช่นเดียวกันกับธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า 12 เดือนของยูโรโซนสูงกว่าร้อยละ 5.0 สูงกว่าตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2551 ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของธนาคารกลางอังกฤษพบว่า ค่าเฉลี่ยของการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า 12 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี สะท้อนว่าความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงยังคงดำเนินต่อไป
5.1.3 ญี่ปุ่น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เร่งขึ้นอย่างมากจากอัตราเฉลี่ยของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี และถือเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 10 ปี หลังจากที่เผชิญภาวะเงินฝืด (Deflation) มาเป็นเวลานานกว่า 1 ทศวรรษ ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบและโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก หรือเป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากทางด้านต้นทุน (Cost push) มากกว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น (Demand pull) ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องการจะให้เป็น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นที่ไม่รวมอาหาร แต่รวมพลังงานเข้าไปด้วยพบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2551 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี สูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 1.3 ต่อปีสะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันด้านราคาอาหารที่สูงขึ้นส่งผลต่อเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมากกว่าแรงกดดันด้านการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยราคาอาหารในเดือนพฤษภาคม 2551 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี และสะท้อนว่าโครงสร้างตะกร้าเงินเฟ้อของญี่ปุ่น มีความไวในการตอบสนองการซึมซับ (Osmosis) ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเข้าไปอยู่ในสินค้าอุตสาหกรรม ค่าขนส่ง และค่าบริการอื่นๆ ได้มากกว่าสหรัฐฯ และยุโรป
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2551 คาดว่าจะอยู่ที่สูงกว่าร้อยละ 1.0 ต่อปีเล็กน้อยอันเป็นผลจากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มอ่อนลง และแนวโน้มที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงสิ้นปี 2551 ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี อาจจะส่งผลให้ปัญหาเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้น
5.2 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging market): ภูมิภาคเอเชีย
สำหรับภาวะเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียนั้น มาจากสาเหตุหลัก 5 ประการ คือ 1)ราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 2) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น 3) สภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) ที่เกิดจากเม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลเข้าประเทศ 4) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงต่อเนื่อง และ 5) ภัยธรรมชาติอย่างไรก็ตาม พบว่า สาเหตุประการที่ 1 และ 2 คือสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ซึ่งภาวะเงินเฟ้อของแต่ละประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุและสภาพทางเศรษฐกิจ โดยสามารถสรุปออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
5.2.1 กลุ่มประเทศที่มีทั้ง Cost push และ Demand pull ได้แก่ จีน อินเดีย และเวียดนาม
ประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม มีการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลในแต่ละเดือนเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีการขยายตัวสูง พร้อมกันนั้นได้ส่งออกเงินเฟ้อไปยังตลาดโลกด้วย จากข้อมูลของ IEA พบว่า ความต้องการน้ำมันในจีน อินเดีย และเวียดนาม มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ตามความต้องการใช้ภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศยังไม่ปล่อยให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลอยตัวเต็มที่ และเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้นย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศสูงตามไปด้วย อีกทั้งน้ำมันที่นำเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตเพื่อผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและเพื่อส่งออกก็มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย (Cost push inflation) และทำให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้นด้วยเช่นกัน สะท้อนถึงการส่งออกเงินเฟ้อไปยังเศรษฐกิจโลก (Export inflation) ทั้งๆที่ ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ประเทศได้ชื่อว่าเป็นตัวดูดซับมิให้เงินเฟ้อของโลกเร่งตัวขึ้น (Inflation absorber) ยิ่งไปกว่านั้น ทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวยังประสบภัยธรรมชาติ โดยจีนประสบพายุหิมะและแผ่นดินไหว เวียดนามประสบภัยแล้ง และอินเดียประสบภาวะน้ำท่วม ทำให้ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นไปอีก
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ดึงให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นตามจากการที่ทั้ง 3 ประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงมาก มาจากเครื่องยนต์สำคัญคือการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกสินค้า เนื่องจากมีการบริโภคภายในประเทศขนาดใหญ่ทั้งในมิติของประชากรและมิติของสัดส่วนใน GDP และเมื่อรวมประชากรในจีนและอินเดียพบว่ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 ของประชากรทั้งหมดของโลก จึงเป็นเหตุให้ความต้องการภายในประเทศผลักดันให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ (Domestic demand pull inflation) ในด้านการส่งออกสินค้าของทั้ง 3 ประเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญในตลาดโลก ทำให้การตั้งราคาขายสินค้าส่งออกที่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างต้นทุน ได้สะท้อนราคาน้ำมันที่แฝงไว้ด้วยแล้ว และประเทศที่นำเข้าก็ยังมีความต้องการในระดับสูง ทำให้ทั้ง 3 ประเทศเป็นทั้ง Import Inflation และ Export Inflation ไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้การมีแรงงานราคาถูก ทั้ง 2 ปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหากำไรจากตลาดภายในขนาดใหญ่และค่าจ้างแรงงานถูก ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าประเทศจนก่อให้เกิดภาวะสภาพคล่องส่วนเกิน ผลักดันให้ความต้องการภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น
เม็ดเงินที่ไหลเข้าระบบเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบด้วย
1) เงินที่ไหลเข้าเพื่อการลงทุนในจีน ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) โดยใน 5 เดือนแรกของปี 2551 FDI ขยายตัวร้อยละ 55.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นผลจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในมณฑลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินลงทุนเพื่อการจัดเตรียมงานโอลิมปิก นอกจากนี้ ยังเป็นเงินที่ไหลเข้าประเทศจีนผ่านการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อหากำไรในระยะสั้น
2) เงินที่ไหลเข้าจากการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจีนมีดุลการค้าเกินดุลติดต่อกันมากว่า 5 ปี ทำให้ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน และดุลการค้าก็ยังคงเกินดุลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นแม้เศรษฐกิจของสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ จะมีการชะลอลงในช่วงปีที่แล้วและส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องในปีนี้ แต่การที่จีนหันมาทำการค้าขายมากขึ้นภายในภูมิภาคเอเชียที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ ทำให้ช่วยชดเชยการชะลอลงของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรปได้
3) เงินที่ไหลเข้าผ่านการท่องเที่ยวซึ่งมีเพิ่มขึ้นในช่วงหลังปี 2543 เป็นผลจากการเปิดประเทศมากขึ้น และเม็ดเงินในส่วนนี้น่าจะมีเพิ่มขึ้นในช่วงกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคม 2551
เม็ดเงินที่ไหลเข้าระบบเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงปี 2550 และครึ่งปีแรกของปี 2551 ส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Equity) คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60.0 ของเงินลงทุนโดยตรงทั้งหมด และเม็ดเงินที่ไหลเข้าระบบเศรษฐกิจอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ (Portfolio Investment) แต่ก็มีสัดส่วน FDI เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีบัญชีชำระเงิน (Balance of Payment) เกินดุลมาตลอดกว่า 2 ปี แม้ว่าจะมีดุลการค้าขาดดุลในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของอินเดียเพิ่มขึ้นสูงสุดอันดับ 4 ของโลก เงินลงทุนทางตรงของเวียดนามประกอบด้วย
1) การลงทุนในการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอพาร์ตเมนต์ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 29.2 ของ FDI ทั้งหมด และมีการลงทุนขยายตัวร้อยละ 147.9 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 แสดงถึงการขยายตัวของอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น จนผลักให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2551
2) การลงทุนในภาคการโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 18.2 ของ FDI ทั้งหมด และมีการขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศ
3) และสำหรับเดือนพฤษภาคม 2551 นอกจากจะมีเงินลงทุนในภาคการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอพาร์ตเมนต์แล้ว ยังมีการลงทุนก่อสร้างในเขตเมืองใหม่ด้วย โดยคิดเป็นร้อยละ 24.2 ของ FDI ทั้งหมดและมีการขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในภาคการผลิตน้ำมันและก๊าซ โดยคิดเป็นร้อยละ 10.3 ของ FDI ทั้งหมด และมีการขยายตัวร้อยละ 43.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามของนักลงทุนต่างชาติที่จะจัดหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่เพื่อตอบสนองอุปสงค์และราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในเวียดนามและตลาดโลก
สำหรับอินเดีย ในช่วงเม.ย. 2550 — ธ.ค. 2551 เม็ดเงินลงทุนในหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 64.7 ของเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในอินเดีย เพิ่มจากสัดส่วนเฉลี่ยที่ร้อยละ 30.0 ในช่วงเดือนเมษายน 2543 — มีนาคม 2550 อย่างไรก็ตาม หลังการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือทรัพย์สินในธุรกิจอินเดียได้สูงสุดที่ร้อยละ 100 ทำให้ FDI ที่เข้ามาในอินเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงเดือนเมษายน 2550 — มีนาคม 2551 มีมูลค่าถึง 24.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับในช่วงเดือนเมษายน 2543 — มีนาคม 2550 ที่มีมูลค่า 37.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในภาคการผลิตดังต่อไปนี้
1) การลงทุนในภาคบริการ คิดเป็นร้อยละ 22.6 ของ FDI ทั้งหมด
2) การลงทุนในภาคการผลิตที่ได้รับการส่งเสริม ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และการคมนาคมสื่อสาร คิดเป็นร้อยละ 22.6 และร้อยละ 6.8 ของ FDI ทั้งหมด ตามลำดับ
5.2.2 กลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อสูงเกิดจาก Cost push เป็นหลัก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้ มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับการมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึงประมาณ 15% ของ GDP(ในขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบเพียง 3% ของ GDP) และทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นที่มีน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตและค่าขนส่ง เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยังเผชิญกับราคาอาหารทั้งที่ผลิตได้เองและที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก ต้องนำเข้าข้าวในราคาแพงตามราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากจากปลายปี 2550 ถึงร้อยละ 50
ประเทศเหล่านี้มีการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตและเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 97 ของปริมาณการใช้น้ำมันภายในประเทศ ส่วนอินโดนีเซียมีการส่งออกน้ำมันดิบลดลงและเพิ่งออกจากการเป็นสมาชิกของ OPEC โดยเปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอินโดนีเซียเริ่มมีมากขึ้น
นอกจากนี้ ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยังเป็นประเทศผู้บริโภคข้าว โดยไทยแม้จะเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ประชาชนไทยเองก็บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ราคาข้าวที่สูงขึ้นจึงกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกของโลกราคาข้าวที่สูงขึ้นในตลาดโลกจึงกระทบต่อระดับราคาภายในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมาก ดังจะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นใน 3 ประเทศนี้ ในอัตราเร่งโดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น
ค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลกในราคาที่แพงขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินของบางประเทศในเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้น เช่น ไทยและฟิลิปปินส์ ที่มีค่าเงินอ่อนมากในกลุ่มในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมิถุนายน) ได้แก่ เปโซฟิลิปปินส์และบาทไทย และถ้าดูย้อนหลังไป 12 เดือน จะพบว่าวอนเกาหลีใต้และรูเปี๊ยะห์อินโดนีเซีย อ่อนค่าลงมาก ดังนั้น การที่ค่าเงินเหล่านี้อ่อนค่าลงมาก ย่อมต้องสูญเสียเงินตราในการนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้น หรือต้องใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นในการซื้อน้ำมันปริมาณเท่าเดิม ส่งผลให้ราคาพลังงานภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาก
5.2.3 กลุ่มประเทศที่เป็นศูนย์กลางการค้า (Regional Trader) ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ประเทศเหล่านี้มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อการส่งออก (Re-export) อีกทั้งมีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรที่ดิน ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับสิงคโปร์ อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหารซึ่งมีสัดส่วนในดัชนีราคาผู้บริโภคที่ร้อยละ 23.0 และการปรับขึ้นของค่าขนส่งและค่าที่พักอาศัยซึ่งมีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 22.0 และร้อยละ 21.0 ตามลำดับ โดยค่าที่พักอาศัยและค่าขนส่งในสิงคโปร์ขยายตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยหดตัวในปี 2550 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและการปรับเพิ่มมูลค่าเคหสถานของรัฐในช่วงต้นปี 2551
อัตราเงินเฟ้อฮ่องกงที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาตลอดครึ่งแรกของปี 2551 ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาสินค้าอาหารนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ค่าไฟและสาธารณูปโภคเองก็สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แม้ว่าค่าขนส่งจะไม่เพิ่มขึ้นมากนักก็ตามเนื่องจากภาครัฐมีมาตรการควบคุมค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นระบบคมนาคมขนส่งหลักของเกาะฮ่องกง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถจับจ้าง และคาดว่าจะทำให้ค่าขนส่งและคมนาคมสื่อสารภายในเกาะฮ่องกงในช่วงปีหลังน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อไต้หวันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาตลอดครึ่งหลังของปี 2550 ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาอาหารและค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในตลาดโลก
5.2.4 กลุ่มที่มีการควบคุมราคาอย่างเข้มงวด ได้แก่ มาเลเซีย
มาเลเซียมีการควบคุมราคาน้ำมันภายในประเทศผ่านการให้เงินอุดหนุน และได้ยกเลิกการให้เงินอุดหนุนดังกล่าวไปในเดือนมิ.ย. 2551 ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนค่าขนส่งและสาธารณูปโภคยังคงมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ต่ำ
6. นโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเงินเฟ้อ
6.1 นโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้ว
6.1.1 นโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน)
ประเทศที่มีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายการเงิน นโยบายหลักที่ประเทศสหรัฐและยุโรปหรือประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ใช้ในการควบคุมเงินเฟ้อ ได้แก่ นโยบายการเงินผ่านการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อมากขึ้น โดยมีการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นเพื่อช่วยควบคุมเงินเฟ้อ โดยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา Fed ได้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 ที่ผ่านมา แต่ให้รายละเอียดสำคัญว่า หากสถานการณ์เงินเฟ้อรุนแรงขึ้นอาจจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในอนาคต โดยให้เหตุผลที่ยังไม่ปรับขึ้นในช่วงนี้ว่า ยังคงมีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลัง อีกทั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าเร็วเกินไปจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตได้
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Refinancing rate จากร้อยละ 4.00 มาเป็นร้อยละ 4.25 ต่อปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อว่าจะกระทบกำลังซื้อของคนในสหภาพยุโรป จนอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ในอนาคต แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีส่วนทำให้ค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้ แต่ต้องแลกกับผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกสินค้าของสหภาพยุโรป
ประเทศที่มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงิน ได้แก่ ญี่ปุ่น เนื่องจากมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงหลังจากเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์ภาวะเงินฝืดมาถึงกว่า 10 ปี ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแม้จะบรรเทาแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้ แต่จะส่งผลต่อแรงกดดันค่าเงินเยนให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบทางลบอย่างมากต่อการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางกลุ่มเห็นว่า สาเหตุหลักที่เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมากมาจากแรงกดดันด้านอุปทาน หรือต้นทุนการผลิต ซึ่งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ช่วยควบคุมเงินเฟ้อแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นการช่วยควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า (Inflation expectation) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิด wage-price spiral (ค่าจ้างที่ปรับให้
สูงขึ้นตามการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อแรงกดดันด้านราคาทำให้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงสูงขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปอีก หมุนเป็นวงจรไปเรื่อยๆ) จากประสบการณ์ในปี 1970 ที่ทั่วโลกประสบปัญหาเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วต่างดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากในช่วงเวลานั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง หรือ เกิดภาวะที่เรียกว่าStagflation (เงินเฟ้อสูง ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง) ดังเช่นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหา wage-price spiral ในที่สุด อีกทั้ง การใช้นโยบายการเงินแบบ Aggressive นอกจากจะเป็นการควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าแล้ว ยังจะเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือ(Credibility) ของธนาคารกลางที่มีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพด้านระดับราคาสินค้าในประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่นำกรอบเงินเฟ้อมาเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน (Inflation Targeting)
6.1.2 นโยบายการคลัง
แม้นโยบายการคลังจะนิยมใช้ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน แต่ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ประชาชนที่ต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพสูงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น ในสหรัฐฯ ใช้มาตรการคืนภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ที่เป็นตัวเงินให้ผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับบรรเทาผลกระทบทางลบจากค่าครองชีพสูงได้ระดับหนึ่งนอกจากนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลก็สามารถช่วยให้รายได้ภาคประชาชนสูงขึ้นด้วย เรื่องรายจ่ายรัฐบาลในการลงทุนเรื่องพลังงานทางเลือก
6.1.3 นโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน
รัฐบาลได้เร่งออกนโยบายพลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น ในสหรัฐฯ มีการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดการนำเข้าน้ำมันและประหยัดพลังงาน ในยุโรปมีการใช้พลลังงานลมและน้ำมากขึ้น
6.2 นโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเงินเฟ้อของประเทศเกิดใหม่
รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงต้องมีนโยบายรองรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งแต่ปละประเทศก็มีนโยบายที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับกรอบนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ในบางประเทศใช้นโยบายอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Inflation Targeting Policy) บางประเทศใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่(Fixed Exchange Rate Policy) บางประเทศใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมาย (Exchange Rate Targeting Policy) ซึ่งนโยบายภาครัฐในภูมิภาคเอเชียแบ่งเป็นการใช้นโยบายผสมผสาน (Policy mixed) เพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อผ่านนโยบายในด้านต่างๆ ได้แก่
6.2.1 นโยบายการเงิน
โดยทั่วไปธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ อาทิ การปรับสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ซึ่งจะเป็นอัตราดอกเบี้ยประเภทไหนนั้นแล้วแต่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะกำหนดขึ้นเช่น อัตราซื้อลดพันธบัตร (Discount Rate) อัตราซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น Repurchase Rate: Repo หรือที่เรียกว่า RP rate) อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank Rate) เพื่อใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
นอกจากนี้ยังสามารถใช้การขายและซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Issuance and Purchases) เพื่อลดหรือเพิ่มปริมาณ
1) ปรับขึ้นสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ โดยในภาวะเงินเฟ้อปัจจุบัน ธนาคารกลางต่างๆ ได้ใช้การปรับสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ขึ้นเพื่อปรับปริมาณเงินในระบบให้อยู่ในสมดุล เช่น ในอินเดีย หลังจากดัชนีราคาขายส่งขยายตัวร้อยละ 11.1 ต่อปี ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย. 2551 ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นสัดส่วนเงินสดสำรองขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 8.75 เมื่อ 24 มิ.ย. 2551 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 19 ก.ค. 2551 สำหรับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในจีน ธนาคารกลางจีนตัดสินใจปรับเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองต่อเงินฝากเป็นร้อยละ 17.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดที่เคยมีการกำหนดสัดส่วนดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2551 และเมื่ออัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามธนาคารกลางเวียดนามเองได้ปรับขึ้นสัดส่วนดังกล่าวเมื่อต้นเดือนมิ.ย. 2551 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ในแต่ละครั้งทำให้เกิดความไม่แน่นอนแก่ระบบการเงิน และผลของมาตรการก็เกิดขึ้นได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่น
2) ขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ การขายพันธบัตรเพื่อลดปริมาณเงินในระบบนั้นมีต้นทุนของการใช้มาตรการดังกล่าวค่อนข้างสูง กระทำได้ช้า และให้ผลไม่ทันการณ์อย่างไรก็ตาม ประเทศในแถบเอเชียบางประเทศได้ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อลดภาวะสภาพคล่องส่วนเกินในประเทศโดยล่าสุดเมื่อกลางเดือนมิ.ย. 2551 ธนาคารกลางจีนประกาศออกตั๋วเงินเพิ่มขึ้น เพื่อดูดซับสภาพคล่องของเงินในระบบเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
3) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเพิ่มต้นทุนในการกู้ยืมและการบริโภค ซึ่งจะช่วยลดอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียใช้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่น อินเดีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยอินเดียปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของเดือน มิ.ย. 51 จากร้อยละ 7.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 8.0 ต่อปีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 51 และปรับอีกครั้งเป็นร้อยละ 8.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 51 ส่วนอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดกัน ในเดือน พ.ค. 51 และ มิ.ย. 51 จากร้อยละ 8.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 8.25 ต่อปี และร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเดือนมิ.ย. 51 จากร้อยละ 5.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.25 ต่อปี แล้ว
4) ดูแลเสถียรภาพค่าเงินสกุลท้องถิ่นมิให้อ่อนค่าเร็วเกินไป ธนาคารกลางแต่ละประเทศสามารถเข้าแทรกแซงค่าเงินสกุลท้องถิ่นได้เมื่อเห็นว่าค่าเงินอ่อนค่าเกินไป ซึ่งหากปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าเกินไปจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ด้วยด้วย
6.2.2 นโยบายการคลัง
รัฐบาลของบางประเทศได้ใช้นโยบายการคลังเพื่อลดภาวะความรุนแรงของปัญหาเงินเฟ้อ อาทิ รัฐบาลไทยใช้การเพิ่มการกระจายรายได้ผ่านการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลอินเดียใช้มาตรการลดภาษีนำเข้าน้ำมันเพื่อลดต้นทุนการผู้ผลิตและระดับราคาสินค้าภายในประเทศ และรัฐบาลจีนซึ่งเพิ่มอัตราภาษีเพื่อลดการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ (Fixed Asset) เพื่อลดอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน รัฐก็ได้ให้เงินอุดหนุนแก่ประชาชนในกลุ่มยากจน โดยจัดสรรเงินช่วยเหลือประมาณ 19,800 ล้านหยวน และให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมป่าไม้ การขนส่งมวลชน และกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปรับขึ้นค่าไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลบางประเทศยังมีการยกเลิกเงินอุดหนุนราคาน้ำมันในหลายประเทศเพื่อลดภาระของภาครัฐในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคให้เหมาะสมกับภาวะต้นทุนในปัจจุบัน เช่น จีน อินเดีย และมาเลเซีย
6.2.3 นโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน
ด้วยภูมิภาคของประเทศในเอเชียเกิดใหม่หลายประเทศ พบว่า มีการปลูกพืชพลังงานทดแทนได้มาก เช่น มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเร็วมากได้ระดับหนึ่ง และรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว เช่น มาเลเซียจะเร่งปลูกปาล์มน้ำมันให้มากขึ้น ไทยจะปลูกมันสำปะหลังให้มากขึ้น เป็นต้น และรัฐบาลไทยส่งเสริมให้มีการทำงานที่บ้านเพื่อลด
การใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับค่าสาธารณูปโภคขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากยังมีการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ อาทิ รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคอาหารแช่แข็งที่มีราคาถูกกว่าแทนที่อาหารสดซึ่งมีการปรับขึ้นของราคาสูงกว่า
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th