Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ก.ย. 2551
SUMMARY:
- ก. พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี 51 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.5-6.9 ต่อปี
- สอท.เชื่อเศรษฐกิจถึงสิ้นปีแย่ 5 ปัจจัยหลักรุมทุบความมั่นใจ
- รัฐบาลจีนพยายามชะลอเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ
HIGHLIGHT:
1. ก. พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี 51 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.5-6.9 ต่อปี
- กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศในเดือน ส.ค.51 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก.ค. ที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อ 8 เดือนแรกของปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี ซึ่งสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเฉลี่ย 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 113 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.51 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี นั้นเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงและผลจาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปี และทั้งปี 51 อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิม (ก่อนมาตรการ 6 เดือน) ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี
2. สอท.เชื่อเศรษฐกิจถึงสิ้นปีแย่ 5 ปัจจัยหลักรุมทุบความมั่นใจ
- นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในครึ่งปีหลังตั้งแต่เดือน กค.-ธค. นี้ บรรยากาศการค้าและการลงทุนต้องเผชิญกับ 5 ปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมันที่ผันผวน ผลกระทบทางการเมือง ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการ อีกทั้งมีสัญญาณหลายตัวบ่งชี้ เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ในทางลบมากกว่าบวกนอกจากนี้ จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากไม่เกิดความรุนแรงมากกว่านี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายเดิมและภาวะเศรษฐกิจของปร เทศน้อยมาก แต่เป็นห่วงนักลงทุนใหม่ ซึ่งยังไม่มีความเข้าใจในสถานการณ์ในประเทศไทยจ ไม่พิจารณาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม ทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซาลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 51 ขยายตัวได้อย่างจำกัดที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี เป็นผลมาจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ชะลอลง ในขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนล่าสุดเดือน ก.ค. 51 จะมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.0 ต่อปี แต่สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งจะต้องมีการติดตามและประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป โดย สศค. จะได้ประกาศผลประมาณเศรษฐกิจไทยปี 51 ในวันที่ 25 ก.ย. ต่อไป
3.รัฐบาลจีนพยายามชะลอเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ
- รัฐบาลจีนมีนโยบายชะลอเศรษฐกิจเพื่อจำกัดปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้างไปมากกว่านี้ วิธีหนึ่งของการแก้ปัญหาของรัฐบาลจีนคือ ลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 11.9 ให้มาอยู่ที่ร้อยละ 9 ทั้งนี้ ปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ มีผลต่อการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยอดจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวในครึ่งปีแรกอยู่ที่ ร้อยละ 10.4 ต่อปี และคาดว่าเศรษฐกิจจีนในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี โดยจากผลจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนี้ จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับ 4 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.8 นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรง (FDI) จากกลุ่มประเทศจีนและฮ่องกงยังมีสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของ FDI ทั้งหมดในปี 50 คิดเป็นเงินกว่า 15.5 พันล้านบาท
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th