Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ก.ย. 2551
SUMMARY:
- สทท.คาดพรก.ฉุกเฉินกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 8 -10
- แนวโน้มทิศทางอสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังปี 51 ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเร้า
- ภาคก่อสร้างและภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐหดตัว
HIGHLIGHT:
1. สทท.คาดพรก.ฉุกเฉินกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 8 -10
- ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าจากการประกาศ พระราชกำหนด(พรก.)ฉุกเฉินของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน โดยมีการยกเลิกการจองทัวร์ โรงแรม เครื่องบิน และการจัดสัมมนา คาดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 8-10 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 6-7 แสนล้านบาทต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้รัฐบาลกำหนด พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นปัจจัยลบที่กระทบการท่องเที่ยวของไทย นอกเหนือจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นที่ทำให้สายการบินปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมน้ำมันและตั๋วโดยสาร ทั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วงที่เหลือของปีอาจจะชะลอตัวต่อเนื่องหลังจากที่ยอดนักท่องเที่ยว เดือน มิ.ย. และ ก.ค. ขยายตัวร้อยละ 11.7 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ
2. แนวโน้มทิศทางอสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังปี 51 ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเร้า
- งานสัมมนาใหญ่ประจำปี “ อสังหาฯ ฝ่ากระแสเศรษฐกิจ “ ของศูนย์อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยมุมมอง 3 นายกสมาคมอสังหาฯ ที่ได้กล่าวถึงประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของอสังหาฯ ครึ่งหลังปี 51 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างน้อย 4 ด้านได้แก่ 1)ราคาน้ำมัน 2)อัตราเงินเฟ้อ 3)อุปสรรคด้านแรงงานและ 4) การเกิดเมกะโปรเจ็กต์ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง ที่สำคัญควรบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนให้คงที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องจับกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การติดตามข้อมูลของสศค.จากเครื่องชี้ภาษีธุรกรรมอสังหาฯ โดยเป็นอัตราภาษีที่ได้ปรับฐานอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0.1 พบว่าเดือนก.ค. 51 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการภาครัฐ ได้ช่วยกระตุ้นธุรกิจด้านอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ควรต้องติดตามต่อไป ได้แก่ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ราคาวัสดุก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ย
3. ภาคก่อสร้างและภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐหดตัว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขการใช้จ่ายในภาคก่อสร้างเดือนก.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.084 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการใช้จ่ายในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ -2.1 หรือคิดเป็นมูลค่า 365.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2
- นอกจากนี้ The Institute for Supply Management รายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 51 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. และก.ค. ที่ 50.2 และ 50.0 มาอยู่ที่ 49.9 ซึ่งระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตอุตสาหกรรม
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี นอกจากนี้ ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่หมดไปแล้ว รวมถึงภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้นจะเป็นปัจจัยทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงไปอีก ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐในปี 51 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากปี 50 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 51 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 2.4 ต่อปีก็ตาม
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th