รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กันยายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 4, 2008 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 ก.ย. 2551 
SUMMARY:
- ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทอ่อนเกิน 34.50 บาทต่อดอลลาร์
- หากมีการปิดการท่าเรือจะส่งผลกระทบการส่งออก
- เศรษฐกิจออสเตรเลียไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
HIGHLIGHT:
1. ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทอ่อนเกิน 34.50 บาทต่อดอลลาร์
- ธปท.ยอมรับว่า ได้เข้าไปดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนวานนี้ (วันที่ 3 ก.ย. 51) หลังค่าเงินบาทอ่อนลงช่วงนี้ แต่การเคลื่อนไหวของบาทวานนื้ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยช่วงเช้าอยู่ที่ 34.43-34.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังอ่อนค่าแตะที่ 34.49 บาทเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 51 ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากสุดในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้ เงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมีปริมาณใกล้เคียงกับเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวยากขึ้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยขึ้นกับเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติโดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าตลาดรวมแต่มีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทยประมาณร้อยละ 80-90
- สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น 2) สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่ส่งผลต่อทิศทางการไหลออกของเงินลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น การเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมิให้ผันผวนหรืออ่อนค่าเร็วเกินไปจึงเป็นการช่วยลดความผันผวนทางเศรษฐกิจและลดแรงกดดันต้นทุนการนำเข้าสินค้าเมื่อคิดเป็นเงินสกุลบาทลงได้
2. หากมีการปิดการท่าเรือจะส่งผลกระทบการส่งออก
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การหยุดให้บริการที่ท่าเรือกรุงเทพ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและ นำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักร ภาคอุตสาหกรรม แม้จะย้ายไปใช้ท่าเรืออื่นแทนได้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และไม่สะดวก ที่สำคัญคือ เป็นห่วงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศจะย้ายคำสั่งซื้อสินค้าไทยไปประเทศอื่นแทน เพื่อตัดปัญหาความเสี่ยงส่งสินค้าไม่ตรงเวลา
- สศค.วิเคราะห์ว่า หากมีการหยุดให้บริการทางท่าเรือนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 51 แทนการบริโภคและการลงทุนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาทางการเมือง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี ขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี จากการที่ภาครัฐเร่งขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศเกิดใหม่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลางเป็นต้น
3. เศรษฐกิจออสเตรเลียไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
- GDP ของออสเตรเลียไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 ต่อปี ถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปลายปี 2549 โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียมีสาเหตุจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่หดตัวลงร้อยละ -0.1 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2536 ทั้งนี้ การหดตัวลงของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางของออสเตรเลียอาจปรับลดอัตราดอกเบี้นนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และมีแนวโน้มว่าอาจจะปรับลดลงอีกในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3 ของการส่งออกรวม นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังถือเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกอัญมณีที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทย ดังนั้น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปี 51 จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอัญมณี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียปี 51 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 3.9 ต่อปีในปีก่อน (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 51)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ