Economic Indicators: This Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี ลดลงจากเดือน ก.ค.ที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้วหดตัวร้อยละ -3.0 (ซึ่งนับเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 50) เป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับผลจาก 6 มาตรการ 6 เดือน ที่ลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศในเดือนส.ค. อยู่ที่ 29.7 และ 35.2 บาทต่อลิตร หรือลดลงจากเดือนก.ค. ประมาณ 6.0 และ 6.8 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ดังนั้น ดัชนีหมวดพลังงานลดลงร้อยละ -19.3 (mom) นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังได้มีการปรับค่าสาธารณูปโภคและการขนส่วมวลชนของรัฐ ซึ่งส่งผลให้ค่า
น้ำประปาลดลงร้อยละ 59.2 ค่าไฟฟ้าลดลงร้อยละ -37.8 และค่าโดยสารรถประจำทางลดลงร้อยละ -5.3 (mom) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนส.ค.ลดลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี
อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 51 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือน พ.ค. ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม และถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี2551 ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2551 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมโดยในครึ่งแรกของปี 2551 การจ้างงานในภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาข้าวตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีความต้องการใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปีลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายภายในประเทศ
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ส.ค. 51 คาดว่าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.0 ต่อปีจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิต ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ที่ร้อยละ 20.0 40.0 และ 50.0 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยวนอกจากนี้ราคาสินค้าในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้มีการเร่งเก็บเกี่ยวมากขึ้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปีชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 23.3 ต่อปี เนื่องจากในเดือน ก.ค. มีการนำเข้าสินค้ารายการพิเศษในหมวดแท่นเจาะและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ รวมถึงสินค้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงานด้วย ประกอบกับผลจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยของรัฐบาล ที่ลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศในเดือนส.ค. ลดลงจากเดือน ก.ค. ประมาณ 6.0 และ 6.8 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนมูลค่าของราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลงนั้นลดตามไปด้วย นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองน่าจะเริ่มส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน น่าจะยังมีส่วนช่วยลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงก็ตาม
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 51 คาดว่าขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 35.0 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 43.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะและมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดทำให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ยังคงตัดสินใจดำเนินการตามแผนการลงทุนเดิม รวมถึงการเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันกับสิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวข้างต้นที่ใกล้จะสิ้นสุดผลบังคับใช้ในสิ้นเดือน มี.ค. 52 ทำให้คาดว่าภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เดือน ส.ค.น่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 25.0 ต่อปีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.3 ต่อปี เนื่องจาก 1) ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) การปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมัน E20 และ3) การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตาม 6 มาตรการการ 6 เดือนของรัฐบาล น่าจะเป็นปัจจัยบวกให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ยังคงขยายตัวได้ดี
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -25.0 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -29.3 ต่อปี แม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ เนื่องจากยังมีพลังงานทางเลือกน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ทำให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่นิยมใช้รถยนต์เพื่อการขนส่งสินค้าตัดสินใจชะลอการซื้อ
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันตาม 6 มาตรการการ 6 เดือนของรัฐบาล อาจมีส่วนช่วยให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน ส.ค. น่าจะหดตัวลดลงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจรวม เดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะปรับตัวลดลงที่ระดับ 69.0 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 71.8 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. จะเริ่มปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน และนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน แต่จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ปรับตัวลดลงมาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเยนและหยวนที่แข็งค่าขึ้น
- ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจาก 1) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 51 ว่าหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปีลดลงจากการประเมินครั้งแรกที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี) โดยภาคการบริโภคและลงทุนเอกชน รวมถึงการส่งออกหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนั้น ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจยุโรปอื่น ๆ เช่น ยอดขายปลีกในเดือน ก.ค. ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 2) ECB ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจยุโรปในปี 51 ลง จากร้อยละ 1.8 เหลือร้อยละ 1.4 เช่นเดียวกับ OECD ที่คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ขณะที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐในปี 51 ขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็น 1.8 และ 3) คำกล่าวจากรัฐมนตรีคลังยุโรปและผู้ว่า ฯ ECB ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องขณะที่ยังเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดคาดว่าเป็นไปได้ที่ ECB อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยลง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซียมีทิศทางชะลอลงขณะที่เงินเฟ้อยังคงเป็นความเสี่ยทำให้นักลงทุนวิตกกังวลจึงถอนการลงทุนในตลาดเอเชียและหันไปลงทุนในตลาดสหรัฐมากขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและเอเชียกลับไปลงทุนยังสหรัฐมากขึ้น
- ด้านค่าเงินเยนมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเนื่องจากตลาดกังวลในภาวะเศรษฐกิจโลก จึงทำให้นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นเกิดความกังวล จึงขายสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลเยนเพื่อคืนเงินกู้ (หรือ Yen Carry Trade Unwind) ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เยน ดอลลาร์ฮ่องกง และค่าเงินหยวน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเนื่องจาก ค่าเงินสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สถานการณ์การเมืองที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินมิให้อ่อนลงมาก ทำให้เงินบาทจึงอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินคู่ค้าสำคัญบางสกุล เช่น เยน ดอลลาร์ฮ่องกง และค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 5 ก.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 3.63 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.90
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 28.4) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 14.5) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12.2) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 10.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 9.6) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7.4) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 3.7) เงินเยน (ร้อยละ 1.6) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.6) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร (ร้อยละ 3.4) หยวน (ร้อยละ 5.6) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 0.9)
Foreign Exchange and Reserves:
ณ วันที่ 29 ส.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 0.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 117.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ -0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 22 ส.ค.51) ร้อยละ 0.76 จาก 33.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 29 ส.ค.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 51 (1st Full Release) ของยูโรโซนมีการปรับปรุงตัวเลขจากเดิมร้อยละ 1.5 ต่อปี เหลือร้อยละ 1.4 ต่อปี ในขณะที่ตัวเลข GDP เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ายังคงหดตัวที่ร้อยละ -0.2 เป็นผลมาจากหดตัวพร้อมกันเป็นไตรมาสแรกของเศรษฐกิจหลักทั้ง 3 ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่ GDP ไตรมาสที่ 2 หดตัวลงร้อยละ -0.5, -0.3 และ -0.3 ตามลำดับนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของ GDP ทางด้านอุปสงค์พบว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกหดตัวพร้อมกันเป็นไตรมาสแรกเป็นกันที่ร้อยละ -0.2, -1.2 และ -0.4 (qoq) ตามลำดับ
ISM Manufacturing Index ของสหรัฐเดือนส.ค. 51 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. และ ก.ค. ที่ 50.2 และ 50.0 มาอยู่ที่ 49.9 ซึ่งระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตอุตสาหกรรม
Manufacturing PMI ของยูโรโซนเดือนส.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 47.6 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.4 แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับที่ 50 ซึ่งแสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากปัจจัยค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนลดลง
ยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือนก.ค. 51 หดตัวที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.2 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยูโรโซน 15 ประเทศหดตัวลงร้อยละ-0.4 (mom) เนื่องมาจากการหดตัวของยอดค้าปลีกในหมวดอาหารและเครื่องดื่มถึงร้อยละ -0.9 (mom) หรือหดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง 1) ผลกระทบของเงินเฟ้อที่สูงต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และ 2) การชะลอตัวลงของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ของปี 51 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงไปด้วย
เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 7.1 ต่อปี ในไตรมาส 1 ปี 51 ผลจากการขยายตัวที่ชะลอลงของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยมีการขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 10.0 ต่อปี ผลจากราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้ทั้งค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศชะลอลงจากไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาเลเซียให้ยังขยายตัวดีอยู่
ดุลการค้าเกาหลีใต้ในเดือน ส.ค.51 ขาดดุลมากขึ้นจาก -1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ค. 51 เป็น -3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการขยายตัวของการส่งออกที่ชะลอลงในเดือน ส.ค. 51 โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ลดลงจากร้อยละ 36.0 ในเดือนก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลงเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่าโดยลดจากร้อยละ 47.2 ต่อปี เป็นร้อยละ 37.0 ต่อปี อันเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบนำเข้าที่ลดลงในช่วงเดือนที่ผ่าน ดุลการค้าที่ขาดดุลมากขึ้นอาจนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินวอนและปัญหาสภาพคล่องในตลาดเงิน อย่างไรตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอาจทำให้ดุลการค้าเกาหลีปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ดุลการค้ามาเลเซียในเดือนก.ค. 51 เกินดุล 14.5 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.0 พันล้านริงกิต ผลจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของการส่งออกที่ร้อยละ 25.4 ต่อปี จากร้อยละ 18.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 38.6 ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 12.9 ต่อปี ในขณะเดียวกันการส่งออกปาล์มน้ำมันน้ำมันดิบ น้ำมันกลั่นและก๊าซธรรมชาติเหลวขยายตัวสูงถึงร้อยละ 77.0, 58.8, 43.1 และ 33.4 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของการส่งออกเคมีภัณฑ์ที่ร้อยละ 30.9 ต่อปี ทั้งนี้การส่งออกไปยังทุกตลาดหลัก เช่น อาเซียน จีน และญี่ปุ่น มีการขยายตัวดี ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งที่ช้ากว่าการส่งออก จากร้อยละ 12.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 14.8 ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 73.6
ของการนำเข้าทั้งหมด
ดุลการค้าอินโดนีเซียเดือนก.ค. 51 เกินดุล 0.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจาก 0.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการขยายตัวที่ชะลอลงของการส่งออกที่ร้อยละ 25.0 ต่อปีจากที่เคยขยายตัวที่ร้อยละ 34.9 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 68.8 ต่อปี เร่งจากร้อยละ 63.4 ต่อปี
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 51 ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
(Overnight rate) ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 9.25 หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวดีอยู่ ทั้งนี้ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันมา 5 ครั้งตั้งแต่เดือนพ.ค. 51 และเชื่อว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อน่าจะเริ่มชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th