รายงานการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 2 ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2008 13:46 —กระทรวงการคลัง

          ไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุล 13,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 18,483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปีสำหรับสาเหตุสำคัญของการเกินดุลบัญชีเงินทุนเกิดจาก การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ การไหลกลับของการลงทุนของนักลงทุนไทยในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการนำเงินกลับจากต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ โดยการลงทุนในหลักทรัพย์ และการลงทุนอื่น ๆ เกินดุลสุทธิในระดับสูงถึง 4,124 และ 7,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
คาดว่าไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ดุลบัญชีเงินทุนจะขาดดุล 1,327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง และ 2) การขายสุทธิอย่างมากของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ จากปัญหาซับไพร์มและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สร้างความกังวลต่อปัญหาอัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เกิดการลดการลงทุน โดยเฉพาะในตราสารทุนในโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการลงทุน
1. สถานการณ์ดุลบัญชีเงินทุน
ไตรมาส 1 ปี 2551 ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุล 13,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล 3,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 18,483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกินดุลบัญชีเงินทุนเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่
ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจากเงินทุนไหลออก 655 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินทุนไหลเข้า 4,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.1 สถานการณ์การลงทุนโดยตรงไตรมาส ปี 2551
การลงทุนโดยตรงสุทธิในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 มีมูลค่า 1,847 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 38.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีมูลค่า 374 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 30.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น
สัดส่วนร้อยละ 16.9 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 2,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 32.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศ คือ นักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนต่อการลงทุนโดยตรง(ปี 2551) ร้อยละ 36.4 26.1 และ 14.6 ตามลำดับ
1.2 สถานการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ไตรมาส 1 ปี 2551
การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิไตรมาสที่ 1 ปี 2551 มีมูลค่า 4,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีการไหลออกของเงินทุนมูลค่า 655 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศมีเงินทุนสุทธิไหลกลับสู่ประเทศ 2,389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศถึง 1,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศมีมูลค่า 1,735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 191.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศมีมูลค่า 70.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัวลงร้อยละ 93.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่การลงทุนในตราสารทุนลดลงเกิดจากความวิตกต่อปัญหา subprime และสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ทำให้เกิดการขายหุ้นทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย รวมทั้ง สถานการณ์การเมืองของไทย โดยกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศ คือ สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่า 526.1 และ 363.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จากต่างประเทศ มีมูลค่า 1,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินทุนไหลออก 540 ดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า การซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าขายสุทธิ 36,450 ล้านบาท สาเหตุที่มีการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเกิดจากความวิตกต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐที่ทำให้เกิด
การขายหุ้นทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย สถานการณ์การเมืองไทย และปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเคลื่อนย้ายเงินทุนออกไป หรือชะลอการลงทุน
1.3 สถานการณ์การลงทุนอื่น ๆ ไตรมาส 1 ปี 2551
การลงทุนอื่น ๆ สุทธิไตรมาสที่ 1 ปี 2551 มีมูลค่า 7,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นในระดับสูงจาก -5,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
การลงทุนอื่น ๆ ของชาวต่างประเทศมีมูลค่า -54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนอื่น ๆ ของชาวไทยในต่างประเทศมีมูลค่า7,109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงการนำเงินกลับประเทศของชาวไทยในระดับสูง
2. แนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 2 ปี 2551 คาดว่าไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ดุลบัญชีเงินทุนจะขาดดุล 1,327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง และ 2) การขายสุทธิอย่างมากของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ จากปัญหาซับไพร์มและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สร้างความกังวลต่อปัญหาอัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เกิดการลด
การลงทุน โดยเฉพาะในตราสารทุนในโลกรวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการลงทุน
คาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีมูลค่า 1,673 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 18.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามข้อมูลการออกใบอนุญาตการส่งเสริมการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
คาดว่าการลงทุนในตราสารทุนของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 จะมีมูลค่าเงินทุนไหลออก 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพยื และบรรยากาศการลงทุนของไทยยังได้รับผลกระทบจากการเมืองและความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ