สรุปเศรษฐกิจญี่ปุ่นรอบสัปดาห์ระหว่าง 30 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 11, 2008 10:34 —กระทรวงการคลัง

สรุปเศรษฐกิจญี่ปุ่นรอบสัปดาห์ (30 มิ.ย. - 4 ก.ค. 51)      
1. ดัชนีเศรษฐกิจญี่ปุ่นเดือน พ.ค.
1.1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือน พ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 109.4 (ฐานปี 2543=100) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลถึงความไม่แน่นอนในอนาคตมากขึ้น
1.2 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน พ.ค. 51 ลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
1.3 การลงทุนของภาคเอกชน (Capital Spending) กระทรวงการคลังเปิดเผยว่าผลกำไรบรรดาบริษัทญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 17.5 เป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ไตรมาส และการใช้จ่ายภาคเอกชน (Capital Spending) เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาส 1 (ระหว่างเดือน ม.ค.- มี.ค.51) ลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากจำนวนการลงทุนของธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลง
1.4 อัตราการว่างงาน (Jobless) เดือน พ.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ระดับเดียวกับเดือน เม.ย.51
1.5 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือนพ.ค.51 เป็นระดับ 101.6 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 8 เดือน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์
1.6 ดุลการค้าและบริการ (Good and Service Balance) ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือน พ.ค.51 ที่ผ่านพิธีการศุลกากร มียอดการเกินดุลการค้าและบริการทั้งสิ้น 365.6 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกัน 9 เดือน นอกจากนี้การส่งออกยังยุโรปก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 31 เดือน
1.7 ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมรายใหญ่ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมรายใหญ่จำนวน 10,579 บริษัท หรือที่เรียกว่า Tankan Survey ซึ่งจัดทำโดย BOJ ณ เดือน มิ.ย. 51 ปรากฏว่า ลดลงร้อยละ 7 ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้ทำให้กำไรของบริษัทต่างๆ ลดลงจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมรายใหญ่จำนวน 10,579 บริษัท หรือที่เรียกว่า Tankan Survey ซึ่งจัดทำโดย BOJ ณ เดือน มิ.ย. 51 ปรากฏว่า ลดลงร้อยละ 7 ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้ทำให้กำไรของบริษัทต่างๆ ลดลงจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
2. ญี่ปุ่นจะลดภาษีแก่กองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในญี่ปุ่น
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง โดย National Tax Agency หน่วยงานกำกับธุรกิจการเงิน (Financial Services Agency: FSA) พิจารณาลดภาษีแก่กองทุนต่างประเทศ (Foreign Investing Fund) ที่ลงทุนในญี่ปุ่นเพื่อเป็นการจูงใจให้มาทำธุรกิจในญี่ปุ่นมากขึ้น
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน บริษัทจัดการกองทุน (Asset Management Company) ที่มีสำนักงานในญี่ปุ่น ถือเสมือนเป็นการจัดตั้งสำนักงานถาวร (Permanent Establishment) ในญี่ปุ่น จะต้องเสียภาษีในญี่ปุ่น ในอัตราที่ค่อนข้างสูงถึงประมาณร้อยละ 30-40 แต่ภายใต้กฎหมายใหม่จะถือเป็นการจัดตั้งสำนักงานอิสระ (Independent Establishment) แต่บริษัทดังกล่าวจะต้องมีจ้างผู้จัดการกองทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น และมีการบริษัทเงินลงทุนในญี่ปุ่นที่หลากหลาย ฯลฯ ซึ่งยังเป็นที่กังขาว่าจะสามารถดึงดูดกองทุนจากต่างประเทศได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่กองทุนดังกล่าวใช้สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาค
3. ประเด็นภาษี : ทางสองแพร่งของรัฐบาลญี่ปุ่น
รายได้จากการเก็บภาษีในญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 30 ต่อ GDP ระดับเดียวกันกับเกาหลีใต้และเม็กซิโก ซึ่งถือได้ว่าต่ำเมื่อเทียบกับสมาชิก OECD อื่นๆ เช่นในสวีเดนที่คิดเป็นร้อยละ 50 ในขณะที่ในภาครัฐมีการจ้างงานถึง 1,000 คนทำงานในปริมาณที่สหรัฐฯ ใช้คนเพียง 80 คน ในขณะที่อังกฤษใช้ 100 คน
ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของญี่ปุ่นปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้จากการเก็บภาษีได้น้อย แต่มีรายจ่ายด้านบุคคลากรในภาครัฐเป็นจำนวนมาก ตลอดจนภาระรายจ่ายประกันสังคมมากมายสำหรับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรายจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้ภาครัฐที่มีถึงร้อยละ 180 ของ GDP แต่การขึ้นภาษีเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะนำมาหารือโดยเฉพาะภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับเพียงร้อยละ 5 (ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของสมาชิก OECD โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2540 จากเดิมร้อยละ 3 ที่ประกาศใช้ในปี 2532) เนื่องจากเกรงว่าจะเสียคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง สส. ครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามลดรายจ่ายแทนการขึ้นภาษี และให้ผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี รับผิดชอบจ่ายค่าประกันเองโดยหักจากรายได้บำนาญของตนเอง ซึ่งทำให้รายได้ที่แท้จริงของผู้สูงอายุลดลง และเรื่องนี้ได้กลายทำให้รัฐบาลปัจจุบันเสียคะแนนนิยมอย่างมากเพราะเปรียบเสมือนเป็นการซ้ำเติมผู้สูงอายุที่ดำรงชีวิตประจำวันเพียงเงินบำนาญ
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของญี่ปุ่นหลังเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ถึงแม้จะผ่านมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี แต่ได้กลายเป็นฝันร้ายของญี่ปุ่น ที่รัฐบาลได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำใกล้เคียงศูนย์ อัตราภาษีบริโภคในระดับต่ำ เป็นต้น ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก การขึ้นภาษีจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ยากอย่างยิ่งสำหรับนายกรัฐมนตรี Fukuda ในปัจจุบัน
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ