สรุปเศรษฐกิจญี่ปุ่นรอบสัปดาห์ (28 กรกฎาคม — 1 สิงหาคม 2551)
1. รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 ลงเหลือร้อยละ 1.3
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Real GDP) ใน ปีงบประมาณ 2551 ลงเหลือร้อยละ 1.3 จากเดิมที่ประมาณการณ์ไว้ในเดือน ม.ค.51 ว่าจะโตร้อยละ 2 เทียบกับปี 2550ที่ร้อยละ 1.3 เช่นกัน เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการลงทุน การบริโภคภาคเอกชน และอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังเกิดจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในเดือน ม.ค.51 เป็นร้อยละ 1.9 ในเดือน ก.ค. 51 ทั้งนี้ ได้ประมาณการณ์ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Real GDP) ในปี 2552 เป็นร้อยละ 1.6 คาดว่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคเอกชน
2. IMF เห็นลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว
IMF ได้รายงานในรายงานประจำปีว่า ถึงแม้ว่า วิกฤต Sub Prime ในสหรัฐฯ จะส่งผลเสียหายต่อสถาบันการเงินญี่ปุ่นไม่มาก แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญความเสี่ยงหลายประการ นอกจากนี้เห็นว่าญี่ปุ่นยังไม่ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะจะส่งผลลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาขึ้นภาษีบริโภคเพื่อนำรายได้ไปเพิ่มแก่กองทุนประกันสังคมที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มเงินงบประมาณจากปัจจุบัน 1 ใน 3 เป็นครึ่งต่อครึ่ง ในปี 2552 ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาของรัฐบาลที่จะหาแหล่งเงินทุนมาเพิ่ม ถึงแม้จะตัดลดค่าใช้จ่ายมากมายแล้วก็ตาม
3. ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญที่ประกาศในเดือน มิ.ย.51 ล้วนส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น
3.1 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนมิ.ย 51 ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบ กับเดือนก่อนหน้า กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือนมิ.ย 51 ลดลงร้อยละ 2 หลังจากขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 ในเดือน พ.ค.และลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.เนื่องจากการส่งออกลดลง นับเป็นการตอกย้ำผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นอันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
3.2 อัตราการว่างงาน (Jobless) เดือนมิ.ย 51 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.51 อยู่ที่ระดับ ร้อยละ 4 และเดือนเม.ย.ที่ร้อยละ 3.8
3.3 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน มิ.ย.51 ลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่นนี้เป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต คิดเป็นร้อยละ 55 ของ GDP
3.4 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือนมิถุนายน 2551 เป็นระดับ 102 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีครึ่ง โดยราคาน้ำมันก๊าซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 และน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 ตามการเพิ่มขึ้นราคาน้ำมันดิบ ส่วนราคาอาหาร ยกเว้นอาหารสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
4. เผยร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายทั่วไปปี 2552 อยู่ที่ระดับ 47.8 ล้านล้านเยน
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยร่างกฎหมายงบประมาณปี 2552 ว่าจะมีงบประมาณรายจ่ายทั่วไป (General Account Budget) ประมาณ 47.8 ล้านล้านเยน เพิ่มจากปีงบประมาณ 2551 จำนวน 600 พันล้านเยนจากเดิม 47.3 ล้านล้านเยน โดยจะให้ความสำคัญกับการดูแลความเพียงพอและความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อรองรับแนวโน้มราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องญี่ปุ่นผลิตอาหารไม่เพียงพอบริโภคในประเทศต้องนำเข้าผลิตอาหารจากต่างประเทศถึงประมาณร้อยละ 60 นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การประกันสังคมและส่งเสริมระบบสังคมที่เป็น Low-carbon ทั้งนี้ จะมีการลดงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ (Public Works Spending) และอื่นๆ เป็นต้น
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง www.fpo.go.th