มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 และยอดรายได้การใช้จ่ายและการออมส่วนบุคคลในเดือนกรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 3, 2008 14:14 —กระทรวงการคลัง

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง
สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ รายงานการคาดการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ร้อยละ 3.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ในไตรมาสแรกของปี 2551 ดังแผนภาพแสดงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปนี้
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ปรับเพิ่มขึ้น ชดเชยกับการลงทุนในสินค้าคงคลังที่ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ผ่านมา
ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ
1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง 89.9 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.7 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยการปรับลดของรายได้ส่วนบุคคลดังกล่าว นับเป็นผลสืบเนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากผิดปกติในช่วงก่อนหน้า จากการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2551 (Economic Stimulus Act 2008) หากไม่รวมผลของการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในเดือนกรกฎาคมและร้อยละ 0.3 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ
2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออม นั้น ปรับตัวลดลง 114.7 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 1.1 ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 ในเดือนมิถุนายน และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.7 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลจากการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นกัน
การจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2551 นั้นส่งผลกระทบต่อตัวเลขรายได้ส่วนบุคคลสุทธิของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จ่ายคืนเงินชดเชยภาษีรวม 1.9 พันล้านเหรียญสรอ. ในเดือนเมษายน 48.1 พันล้านเหรียญสรอ. ในเดือนพฤษภาคม 27.9 พันล้านเหรียญสรอ. ในเดือนมิถุนายน และ 13.7 พันล้านเหรียญสรอ. ในเดือนกรกฎาคม ตามลำดับ หากไม่รวมผลของการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีที่กล่าว รายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 0.3 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ
3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income — Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อ ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริง นั้น ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 2.6 ในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมผลของการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กล่าว รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 0.4 ในเดือนกรกฎาคม เปรียบเทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนมิถุนายน
4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคล (Real Personal Consumption Expenditures - PCE) ในเดือนกรกฎาคม ประชากรสหรัฐฯ ใช้จ่ายลดลงร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบกับการใช้จ่ายในเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) และสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริการ (Services) ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นอัตราต่ำลงเล็กน้อย
5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 คงที่จากเดือนก่อนหน้า
6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง ประชาชนมีการออมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งลดลงจากเดือนมิถุนายนที่มีการออมอยู่ร้อยละ 2.5 และเดือนพฤษภาคมที่มีสัดส่วนการออมถึงร้อยละ 5.0 โดยปริมาณการออมจากรายได้ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้บริโภค ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน ใช้จ่ายรายได้จาก การขายหน่วยลงทุน หรือใช้จ่ายเงินออมจากช่วงก่อนหน้า
อัตราการเติบโตของรายได้ส่วนบุคคลและรายได้ที่แท้จริงของประชากรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากสองเดือนก่อนหน้า จากผลของจากการจ่ายคืนเงินภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2551 ในเดือนพฤษภาคมเป็นหลัก หากไม่คำนึงถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่ลดลงจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าว รายได้ที่แท้จริงของประชากรสหรัฐฯในเดือนกรกฎาคมยังคงปรับตัวในทางบวก โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ดัชนีราคาในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ปรับลดลงเล็กน้อยนั้นนับเป็นปัจจัยในทางบวกที่ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(Federal Open Market Committee: FOMC) คาดการณ์การปรับลดของอัตราเงินเฟ้อมาอยู่ที่ระดับปานกลางในช่วงปลายปี 2551 และปี 2552 ตามที่รายงานในโอกาสแรก
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ