X-Ray พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551ฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 22, 2008 11:35 —กระทรวงการคลัง

          X-Ray พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ว่ามีกลไกในการสร้างวินัยทางการเงินและสร้างความเข็มแข็งให้กับระบบสถาบันการเงินจริงหรือ?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว คงจะต้องดูว่ากฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีกลไกอะไรที่จะก่อให้เกิดวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรา 53 ของ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 กำหนดวงเงินที่จะจ่ายคืนให้ผู้ฝากในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้ฝากแต่ละรายจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชีของตนเองแต่จะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งการกำหนดวงเงินจ่ายคืนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างวินัยทางการเงินให้เกิดขึ้น เพราะผู้ฝากจะต้องใช้ความระมัดระวังในการฝากเงินโดยคำนึงถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเงินในการตัดสินใจ เนื่องจากเมื่อสถาบันการเงินที่ฝากเงินไว้ถูกสั่งปิดกิจการจะทำให้ต้องเสียเวลาในการขอรับเงินคืน และหากมีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท อาจจะได้รับเฉลี่ยทรัพย์จากกระบวนการชำระบัญชีสำหรับเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทคืนล่าช้าหรือได้รับคืนเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้รับคืนเลย ดังนั้น ระดับความมีวินัยทางการเงินจะมากหรือน้อย มีหรือไม่มีส่วนสำคัญนั้นจะขึ้นอยู่กับการกำหนดวงเงินจ่ายคืน นั่นคือ วงเงินจ่ายคืนที่อยู่ในระดับสูง วินัยทางการเงินจะต่ำ ในขณะที่พฤติกรรมการชักนำความเสี่ยง (Moral Hazard) จะมีระดับสูงขึ้นตามวงเงินเช่นกัน หรืออีกนัยหนึ่งระดับของความมีวินัยทางการเงินจะสวนทางกับ Moral Hazard หากจะมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างวินัยทางการเงิน ความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน และ Moral Hazard จะเห็นได้ว่า เมื่อวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินก็จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ Moral Hazard ลดลง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศประกันเงินฝากเต็มจำนวนในเดือนสิงหาคม 2540 จนถึงวันก่อนที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 จะมีผลใช้บังคับ (วันที่ 11 สิงหาคม 2551) เป็นต้นมา ความตื่นตัวและการให้ความสำคัญต่อฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงินของผู้ฝากเงินในการฝากเงินกล่าวได้ว่า ไม่มีเลยหรือมีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ในขณะนี้หลังจากที่กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม ความตื่นตัวก็ยังมีไม่มากนัก ซึ่งอาจอันเนื่องมาจากในระยะ 4 ปีแรกของการนำระบบคุ้มครองเงินฝากรูปแบบใหม่มาใช้จะเป็นการทยอยลดวงเงินจ่ายคืนลง โดยเฉพาะในปีแรกที่ยังคงจ่ายคืนเต็มจำนวน อย่างไรก็ดี ประชาชนเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยเห็นได้จากการสอบถามมายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การกำหนดวงเงินจ่ายคืนมีบทบาทสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งวินัยทางการเงินของผู้ฝากและสถาบันการเงินจะเกิดขึ้นไปพร้อมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเมื่อผู้ฝากระมัดระวังในการฝากเงิน สถาบันการเงินก็จะระมัดระวังในการดำเนินกิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อเพื่อรักษาความมั่นคงและรักษาฐานลูกค้า ซึ่งรวมถึงการดึงดูดลูกค้าด้วย
ในประเด็นความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน นอกจากการกำหนดวงเงินจ่ายคืน ตามมาตรา 49 แล้ว กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังมีกลไกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่ง คือ การให้อำนาจสถาบันคุ้มครองเงินฝากในการทำหน้าที่ในติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ตามมาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบของมาตราต่างๆ ดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมีเสถียรภาพให้กับระบบสถาบันการเงิน โดยที่บทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลและการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์
โดย :
ทวีศักดิ์ มานะกุล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก
พีรกานต์ บูรณากาญจน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเงินฝากสถาบันการเงิน
จรัสวิชญ สายธารทอง จรัสวิชญ สายธารทอง
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ