Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ก.ย. 2551
SUMMARY:
- นักเศรษฐศาสตร์คาดวิกฤตสหรัฐทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะสภาพคล่องตึงตัว
- เอกชนแนะรัฐรับมือวิกฤตสหรัฐ-คุมค่าบาทหนุนเปิดตลาดใหม่
- นักลงทุนสหรัฐลดการลงทุนไทยร้อยละ 93.9
HIGHLIGHT:
1. นักเศรษฐศาสตร์คาดวิกฤตสหรัฐทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะสภาพคล่องตึงตัว
- อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.ภัทร เห็นตรงกันว่าสถานการณ์วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐครั้งนี้จะทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกและไทยเผชิญปัญหาสภาพคล่องตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) โดยจะทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับลดลงและส่งผลสืบเนื่องไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง โดยอดีต รมว. คลังเห็นว่าแม้ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่จะได้รับผลทางอ้อมผ่านสภาพคล่องและการส่งออกที่จะหดตัวลง ขณะที่ บล.ภัทรมองว่าภาวะตึงตัวในตลาดการเงินโลกจะมีต่อเนื่องจนปลายปี 52 เนื่องจากตราสารอนุพันธ์ที่มีประมาณร้อยละ 90 ของสภาพคล่องทั้งโลกจะได้รับผลกระทบจากวิกฤต Sub-Prime ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบแต่ยังไม่เปิดเผยตัวเลขให้เห็น
- สศค. วิเคราะห์ว่าก่อนวิกฤต Sub-Prime นั้นสภาพคล่องโลกมีประมาณ 10 เท่าของ GDP โลกหรือประมาณ 400 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 คือตราสารหนี้และอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับ Sub-Prime และอยู่ในการถือครองของวานิชธนกิจต่าง ๆ ทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤต Sub-Prime ขึ้น ทำให้ตราสารหนี้และอนุพันธ์ดังกล่าวขาดสภาพคล่องและขาดทุน ส่งผลให้วานิชธนกิจที่ถือสินทรัพย์นี้อยู่มาก เช่น Bear Stern และ Lehman Brothers ขาดทุนและล้มละลาย ทั้งนี้ มาตรการของรัฐบาลสหรัฐที่จะตั้งกองทุน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อสินทรัพย์ Sub-Prime ของภาคการเงินอาจช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่ในระยะยาวภาคการเงินโลกน่าจะต้องหดตัวลงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลง
2. เอกชนแนะรัฐรับมือวิกฤตสหรัฐ-คุมค่าบาทหนุนเปิดตลาดใหม่
- อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย เผยว่า วิกฤติการเงินสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 52 เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐลดลง ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าของสหรัฐมีผลประกอบการแย่ลง ทำให้สินค้าที่ต้องส่งมอบในเดือนพ.ย. 51 ลดลง แต่ภาพรวมในไตรมาส 4 คงโดนกระทบไม่มาก เพราะคำสั่งที่เจรจาขณะที่เป็นของเดือน ม.ค.-ก.พ. 52 ต้องรอดูยอดสั่งซื้อช่วงคริสต์มาสปีนี้จึงจะทำให้เห็นภาพการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยไปสหรัฐปี 52 ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกมีความกังวลว่า ตลาดเงินโลกที่ผันผวนจะทำให้ค่าเงินบาทแกว่งมาก รัฐบาลจึงควรดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 34 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลดีต่อการส่งออก และควรขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง จีน อินเดีย รัสเซีย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2552 ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากในปัจจุบันโครงสร้างการส่งออกของไทยที่ได้เปลี่ยนไปยังตลาดใหม่ (Export Decoupling) เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ คาดว่าในปี 2552 สัดส่วนตลาดส่งออกหลักกับตลาดใหม่อยู่ที่ 50 ต่อ 50 จากที่คาดว่าปี 2551 จะอยู่ที่ 51.2 ต่อ 48.8 ตามลำดับ
3. นักลงทุนสหรัฐลดการลงทุนไทยร้อยละ 93.9
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 51 นักลงทุนสหรัฐอเมริกายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ 24 โครงการ มูลค่า 2,860 ล้านบาท ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 93.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 27 โครงการ มูลค่า 4.67 หมื่นล้านบาท หลังจากเกิดปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ล้มละลาย
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอของสหรัฐฯที่ลดลงนั้นเกิดจากภาวะวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขอรับส่งเสริมการลงทุนชะลอตัวลง ทั้งนี้ การขอรับการส่งเสริมลงทุนที่ชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังปี 51 ชะลอตัวลงได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th