บทสรุปผู้บริหาร
- ณ วันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และทำให้เกิดสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) จนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทยใน 2 ระยะ ในระยะสั้น ส่งผลกระทบทางตรงไม่มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure) กับ Lehman Brothers น้อย อย่างไรก็ตามการล้มละลายของ Lehman Brothers อาจมีผลกระทบต่อสภาวะสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคตเนื่องจากบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาทดแทน ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมพบว่ามีผลสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สภาพคล่องในประเทศอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ขณะที่ในระยะยาว เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต Lehman Brothers ในวงกว้างได้ จากการที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของไทยลดลงไปด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤต Lehman Brothers ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก (Excessive Global
Liquidity) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime และลุกลามจนถึงปัจจุบัน โดย สศค. คาดว่า ความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับในระยะสั้นดังนี้ (1) หน่วยงานภาครัฐจึงควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอหากเศรษฐกิจไทยขาดสภาพคล่องตามตลาดโลก (2) เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนธปท. ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ระยะปานกลางและยาว ประเทศไทยควรจะ (1) เร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลง (2) นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว (Recession) (3) นโยบายการค้าจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออกและ (4) ควรเน้นควร
มีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น
ในวันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย รวมทั้งทำให้สภาพคล่องทั่วโลกตึงตัวรุนแรง จนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล็งเห็นว่าวิกฤตดังกล่าวอาจยังไม่สิ้นสุดลงในระยะสั้นและอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต จึงได้ทำการสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวสู่เศรษฐกิจไทย รวมถึงเสนอแนะแนวนโยบายของไทยในการรองรับผลกระทบดังกล่าว ดังมีรายละเอียดดังนี้
1. สรุปสถานการณ์
วันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย หลังจากนั้นในวันที่ 15-17 กันยายน 2551 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย) ปรับตัวลดลงร้อยละ 4-5 ต่อวัน และยังคงความผันผวนต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ในขณะเดียวกันสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) และทำให้ดอกเบี้ยตลาด London Interbank Offer Rate (LIBOR) ซึ่งเป็นอัตรามาตรฐานในการกู้ยืมกันในตลาดลอนดอนปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 2-3 ภายในวันเดียว
เพื่อแก้ปัญหา Credit Crunch ดังกล่าว ในวันที่ 16-18 กันยายน 2551 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BOJ) และออสเตรเลีย (RBA) เป็นต้น ในขณะที่วันที่ 17 กันยายน 2551 Fed ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2 เพื่อระงับความตื่นตระหนกของนักลงทุน นอกจากนั้นปัญหาดังกล่าวยังลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น AIG ซึ่งเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย ทำให้ Fed ต้องเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องซื้อหลักทรัพย์ AIG ถึงร้อยละ 89 เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น
อนึ่ง ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าวานิชธนกิจขนาดใหญ่ Morgan Stanley และ Goldman Sachs ก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน โดยในกรณีของ Morgan Stanley กำลังเจรจาควบรวมกับ Wachovia สถาบันการเงินขนาดใหญ่อีกแห่ง นอกจากนั้นธนาคาร Halifax Bank of Scotland (HBOS) ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินก็มีกระแสข่าวว่ากำลังจะควบรวมกับ Lloyd TSB ของอังกฤษเช่นกัน ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวบ่งชี้ว่าวิกฤตการเงินในสหรัฐที่เป็นผลจากวิกฤต Sub-prime นั้นอาจไม่จบลงในระยะสั้นและมีท่าทีว่าจะลุกลามอย่างต่อเนื่อง
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
2.1 ในระยะสั้น วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทยใน 2 ด้าน อันได้แก่ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงนั้นสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
ผลกระทบทางตรง: ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure)
กับ Lehman Brothers น้อย โดยแบ่งได้เป็น
(1) ความเสียหายจากสถาบันการเงินไทยที่ไปลงทุนใน Lehman Brothers โดยตรงซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4.8 พันล้านบาท
(ตัวเลขจากคำสัมภาษณ์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)) ซึ่งมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของสินเชื่อสถาบันการเงินทั้งระบบที่อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านล้านบาท
ผลกระทบ: ในภาพรวมคงมีผลกระทบระบบสถาบันการเงินไม่มาก แต่ต้องเร่งตรวจสอบสถาบันการเงินที่เสียหายเฉพาะรายเพื่อรีบดูแลไม่ให้ปัญหาลุกลาม
(2) ความเสียหายจากธุรกิจที่ Lehman Brothers ที่ลงทุนในไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ และปล่อยกู้ในบริษัทที่ Lehman Brothers ลงทุน)
ผลกระทบ: Lehman ต้องขายสินทรัพย์ในไทยทั้งหมดไปใช้หนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยบ้าง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ดี น่าจะมีนักลงทุนสนใจซื้อ ในขณะที่ความเสียหายของ Lehman Brothers แต่อาจมีผลลบกับบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers เพราะ ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาแทน ซึ่งอาจจะกระทบสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคต
(3) ความเสียหายจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ทำธุรกรรมกับ Lehman Brothers เช่น สัญญาการเงินต่างๆ และสัญญาค้ำประกันซึ่งจะมีปัญหาจากคู่สัญญาล้มละลาย (Counter-parties Risk)
ผลกระทบ: คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับ Lehman Brothers โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบจำนวนธุรกรรมที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากเงินลงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) ของไทยที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.0 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์การตั้งสำรองของทางการที่อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ของสินทรัพย์รวมค่อนข้างมาก ดังนั้นผลกระทบต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยน่าจะอยู่ในวงจำกัด
ผลกระทบทางอ้อม: วิกฤต Lehman Brothers อาจมีผลกระทบสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยแบ่งได้เป็น
(1) ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน:
- ในช่วง 3-4 วันแรก ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงมากเหมือนตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลงไปวันละประมาณร้อยละ 4-5 ขณะที่ในระหว่างวันมีความผันผวนมาก โดยในช่วงเช้าวันที่ 18 กันยายน 2551 ปรับลดลงถึงประมาณ 30 จุดหรือร้อยละ 5 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นในช่วงบ่าย ทำให้ปิดตลาดลบเพียงเล็กน้อย) เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องขายหลักทรัพย์ทั่วโลกรวมทั้งหลักทรัพย์ไทย เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ขาดแคลนรุนแรง
- แต่ในระยะต่อไป เมื่อสภาพคล่องกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ นักลงทุนต่างชาติอาจจะแห่ถอนเงินออกจากสินทรัพย์รูปดอลลาร์ที่มีแนวโน้มด้อยค่าลง มาถือสินทรัพย์ในสกุลอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นได้
(2) สภาพคล่องในประเทศอาจตึงตัวตามตลาดโลก
- ในช่วงแรกที่สภาพคล่องในตลาดโลกตึงตัว ได้ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินในรูปดอลลาร์สูงขึ้นมาก โดยสามารถพิจารณาได้จากอัตราดอกเบี้ย LIBOR ที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 2.3 เป็นร้อยละ 3.8 ในช่วงสั้น ดังนั้น บริษัทไทย (หรือรัฐบาลไทย) จะมีต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศแพงมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านการขาดสภาพคล่องทั่วโลกได้ส่งผลให้ Risk Premium ของเอเชียและไทย ซึ่งสามารถวัดได้จาก Credit Default Swap หรือ CDS ดอกเบี้ยสูงขึ้นถึงร้อยละ 1.7 (หรือ 170 Basis Points: bps) ทำให้ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศแทน ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในประเทศตึงตัวอย่างเร็ว จนดึงให้ต้นทุนดอกเบี้ยกู้ในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
(3) ค่าเงินบาทจะผันผวนมาก
- ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา หลังจากที่ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างเร็ว(โดยแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 1.05 จาก 34.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายใน 3 วัน) และแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค (โดยเมื่อเทียบค่าเงินวันที่ 18 กันยายนกับค่าเงินสัปดาห์ก่อนหน้าพบว่า บาทแข็งขึ้นถึงร้อยละ 0.84 ขณะที่ดอลลาร์สิงค์โปร์แข็งขึ้นเพียงร้อยละ 0.42 เปโซฟิลิปปินส์อ่อนลงร้อยละ -0.66 และอินโดรูเปียห์อ่อนลงร้อยละ 0.73) เนื่องจากดอลลาร์อ่อนลงเร็วมากและเงินทุนไหลออกจากไทยยังน้อยกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค
- อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ค่าเงินบาทอาจกลับมาอ่อนเร็วได้ โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนไหลออกจากไทยจริง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นจากรายได้ส่งออกและท่องเทียวทีลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (รวมทั้งปัญหาการเมืองในประเทศ)
2.2 ในระยะปานกลางถึงยาว: เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต Lehman Brothers ในวงกว้างได้เนื่องจาก
(1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยลดลง
- เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2551 และปี 2552 และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินใกล้ชิดกับสหรัฐ ขยายตัวชะลอลงมากด้วย นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอลง จะส่งผลตามมายังเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ในระยะต่อไป
(2) เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกมากจะชะลอตามไปด้วย
- ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการถึงประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ชะลอตามไปด้วย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการลงทุนและการบริโภคให้เร่งตัวขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวลง และต้องเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มาก เช่น ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา อินเดีย และจีน เป็นต้น
3. แนวนโยบายเศรษฐกิจไทย
สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤต Lehman Brothers ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก (Excessive Global Liquidity) ในช่วงที่ผ่านมา1 ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime ในสหรัฐ และลามสืบเนื่องทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนจนถึงปัจจุบัน โดยสศค. คาดว่า ความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น โดยอาจจะนำไปสู่การควบรวมกิจการของวานิชธนกิจ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันอื่น ๆ อีก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับดังนี้
ในระยะสั้น
1. เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์เงินทุนไหลออก และการระดมเงินกู้ในประเทศแทนการกู้ต่างประเทศที่มีปัญหา หน่วยงานภาครัฐจึงควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว (Capital Account Reversal) และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างรวดเร็ว (Current Account Reversal)
2. เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนเกินไป ซึ่งจะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง (การส่งออก นำเข้า และการลงทุน)
ในระยะปานกลางถึงยาว
1. เพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลงรัฐบาลควรจะเร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะภาครัฐต้องเป็นตัวนำ เช่น เร่งผลักดัน Mega-Project ให้เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด
2. นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว (Recession) ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางของจีน (PBOC) เริ่มปรับตัวก่อน โดยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี) ในวันที่ 16 กันยายน 2551 จากร้อยละ 7.47 เหลือ 7.29 หลังจากเงินเฟ้อในจีนเดือนสิงหาคม 2551 ปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 8.7 และร้อยละ 6.3 ในสองเดือนก่อนหน้า
3. นโยบายในระยะยาวจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออก โดยกระจายไปสู่ตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากเช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา นอกจากนั้นเพิ่มระดับการค้าขายกันในภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการลดลงของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น
4. ควรเน้นควรมีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในเอเชีย โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น การเพิ่มช่องทางการลงทุนระหว่างภูมิภาคในสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลเอเชียมากขึ้น เพราะในระยะยาวสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐอาจมีโอกาสด้อยค่าลงมาก ตามเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอลง นอกจากนั้น ควรเร่งความร่วมมือในการประสานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดการแข่งขันการแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า (Competitive Devaluation or Beggar-thy-neighbor Policy)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th