บทสรุปผู้บริหาร
- การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มีจุดกำเนิดมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ประเทศไทยก็เริ่มจากปัญหาของระบบสถาบันการเงินเช่นกันโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2522 บริษัทเงินทุนประสบปัญหาอย่างรุนแรง สินทรัพย์ไม่เพียงพอชำระหนี้สินให้แก่ลูกค้าที่ถือตั๋วสัญญาใช้เงิน เหตุการณ์ครั้งนั้นก่อให้เกิดภาวะตื่นตระหนก และความไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของบริษัทเงินทุน ท้ายสุด หลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้กับประเทศไทย จึงได้มีการศึกษาและยกร่างกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นมา ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551
- ระบบคุ้มครองเงินฝากซึ่งหลายประเทศเรียกว่าระบบประกันเงินฝากเป็นกลไกหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นกลไกในการดูแลผู้ฝากเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ในสถาบันการเงิน หัวใจของระบบประกันเงินฝากหรือระบบคุ้มครองเงินฝากก็คือ การกำหนดวงเงินจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ ดังนั้น เมื่อมีการจำกัดวงเงินจะทำให้ผู้ฝากเงินต้องใช้ความระมัดระวังในการฝากเงิน ซึ่งไม่เพียงแต่ ผู้ฝากรายใหญ่ที่มีเงินฝากสูงกว่าวงเงินเท่านั้นที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการฝากเงิน แต่ผู้ฝากรายย่อยก็จะให้ความสำคัญในการติดตามฐานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน เนื่องจากเงินฝากที่เขามีอยู่คือเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต(Life savings) หากเกิดความสูญเสียหรือได้รับการจ่ายคืนล่าช้าย่อมจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเขาด้วย ในหลักการการกำหนดวงเงินยิ่งสูง วินัยทางการเงินก็ยิ่งต่ำ
- ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับสถาบันการเงินคือ การสร้างวินัยทางการเงิน(Financial Discipline) ให้เกิดขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพให้กับระบบสถาบันการเงินเช่นนานาประเทศซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
- วงเงิน 1 ล้านบาทเป็นจำนวนเงินที่มีความเหมาะสม เนื่องจากบัญชีที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 98.827 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งระบบซึ่งครอบคลุมผู้ฝากรายย่อยทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบ
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ บทบาทหนึ่งที่สำคัญของระบบสถาบันการเงินคือการเป็นตัวกลางทางการเงิน เป็นแหล่งทุน และแหล่งการออม การกระจายเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมีความสำคัญต่อการขยายตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินมีความเสี่ยง ดังนั้น ความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของสถาบันการเงินจึงเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินต้องตระหนักและรักษาไว้เพราะเมื่อไรก็ตามที่ระดับความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบสถาบันการเงินลดลงย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงินนั้นๆ ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการสร้างและรักษาความเชื่อมั่น คือความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งก็คือ การมีผลประกอบการที่ดี มีเงินกองทุนในระดับสูง มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) อยู่ในระดับต่ำ มีกำไรอย่างต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล แต่ที่ผ่านมาในอดีตและปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ ยังมีฐานะและการดำเนินงานที่แตกต่างกัน กลไกหนึ่งที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องคือ การนำเอาระบบคุ้มครองเงินฝากหรือระบบประกันเงินฝากมาใช้ ดังนั้น การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบคุ้มครองเงินฝากจะส่งผลต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบและบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย
1. ระบบคุ้มครองเงินฝากหรือระบบประกันเงินฝากในต่างประเทศ
ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเรียกระบบนี้ว่า “ระบบประกันเงินฝาก” (Deposit Insurance) โดยในช่วงปี พ.ศ. 2505 — 2523 ได้มีการก่อตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ประเทศสหรัฐอเมริกานับว่าเป็นประเทศแรกที่มีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากใน พ.ศ. 2476
บางประเทศมีระบบประกันเงินฝากมากกว่า 1 ระบบ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ เพื่อคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงินที่แตกต่างกัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารที่มีลักษณะเฉพาะ และสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น ปัจจุบันมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นแล้วจำนวน 99 ประเทศ 8 ประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง (ซึ่งประเทศไทยรวมอยู่ในนี้ด้วย) และอีก 12 ประเทศ อยู่ระหว่างเตรียมการ (ข้อมูล จาก IADI ณ วันที่ 1 พ.ค. 2551)
1.1 สถาบันประกันเงินฝากในประเทศสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาช่วงปี 2465-2476 ผู้คนเกิดความหวาดผวา และขาดความมั่นใจในการดำเนินงานของสถาบันการเงินจึงพร้อมใจกันถอนเงินออกมาทำให้สถาบันการเงินล้มไปกว่า 10,000 แห่ง หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากเรียกว่า Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยปัจจุบันวงเงินประกันอยู่ที่ $100,000 ต่อแต่ละรายในแต่ละสถาบันการเงิน หมายความว่าผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนในกรณีที่สถาบันการเงินล้มภายในวงเงินไม่เกิน $100,000 ในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน สมาชิกต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับ FDIC ซึ่งเบี้ยประกันนี้จะถูกนำไปจ่ายคืนให้กับผู้ฝากเงินเมื่อสถาบันการเงินล้ม โดยระบบนี้ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นใจในระบบสถาบันการเงินมากขึ้น การก่อตั้งสถาบันประกันเงินฝากในประเทศอื่นๆ ส่วนมากเป็นผลจากวิกฤตของระบบสถาบันการเงิน และเห็นว่าการประกันเงินฝากในประเทศสหรัฐอเมริกาประสบผลสำเร็จ แม้ว่ารูปแบบของการประกันเงินฝากในประเทศต่างๆ จะแตกต่างกันอยู่ในรายละเอียด แต่ส่วนใหญ่ก็ยึดหลักการเดียวกับสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐอเมริกา
1.2 สถาบันประกันเงินฝากในประเทศอังกฤษ
ในปี พ.ศ. 2516 บริษัทเงินทุน (Secondary Banks) หลายแห่งในประเทศอังกฤษประสบภาวะวิกฤตซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก มุ่งเน้นการเก็งกำไรและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการขาดความเข้มงวดในการออกใบอนุญาต ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศอังกฤษและธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของอังกฤษและสก๊อตแลนด์ได้จัดตั้งโครงการที่เรียกว่า เรือชูชีพ (Life Boat) ขึ้น โครงการเรือชูชีพนี้ เป็นวิธีการช่วยเหลือบริษัทเงินทุนที่กำลังประสบวิกฤตการณ์ทางการเงิน เดิมคาดกันว่าโครงการนี้จะเป็นเพียงโครงการระยะสั้นๆ แต่ดูเหมือนจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพราะมีบริษัทเงินทุนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากวิกฤตการณ์ของบริษัทเงินทุนดังกล่าว ทางการของประเทศอังกฤษได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์และเครดิตยูเนี่ยน (Banking and Credit Unions Law) ใน พ.ศ. 2522 และได้มีการออกกฎหมาย Financial Services and Markets Act 2000 (FSMA) เพื่อตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินขึ้น รวมทั้งได้จัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2544 โดยใช้ชื่อว่า Financial Service Compensation Scheme หรือ FSCS โดยทำหน้าที่ชำระบัญชีให้ผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินล้ม โดยจ่ายคืนในวงเงินไม่เกิน 35,000 ปอนด์ของเงินฝาก 48,000 ปอนด์ของเงินลงทุน
1.3 สถาบันประกันเงินฝากในประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีการประกันเงินฝากตั้งแต่ปี 2514 โดยมีวัตถุประสงค์คือ คุ้มครองผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน และการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยมีการจัดตั้ง Deposit Insurance Corporation of Japan หรือ DICJ ขึ้นภายใต้กฎหมาย Deposit Insurance Law ในการจัดตั้ง DICJ นั้นได้รับเงินทุนมาจากรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan) และสถาบันการเงินเอกชน
ในปีพ.ศ. 2539 สถาบันการเงินของญี่ปุ่นประสบปัญหาอย่างรุนแรงทำให้ต้องประกาศประกันเงินฝากเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) เช่นเดียวกับประเทศไทยและสิ้นสุดเมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2545 ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2545 เป็นต้นมา DICJ ได้ปรับลดวงเงินประกันลงมาอยู่ที่ 10 ล้านเยนต่อผู้ฝากแต่ละสถาบันการเงิน (Per Depositor Per Bank)
2. ความเป็นมาของระบบคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทย
ประสบการณ์การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มีจุดกำเนิดมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลให้สถาบันการเงินบางแห่งต้องปิดกิจการหรือล้มกิจการ เกิดขึ้นเมื่อผู้ฝากเงิน
ตื่นตระหนก และไม่มั่นใจในระบบสถาบันการเงินจึงพากันแห่ถอนเงินอย่างต่อเนื่อง (หรือที่เรียกตามศัพท์เศรษฐศาสตร์ว่า Bank Run) ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งไปสู่สถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งจนทำให้เกิดวิกฤตขึ้น
แนวคิดในการก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทยนั้นก็เริ่มจากปัญหาของระบบสถาบันการเงินเช่นกันโดยในปี 2522 บริษัทเงินทุนราชาเงินทุนประสบปัญหาอย่างรุนแรง และมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอชำระหนี้สินให้แก่ลูกค้าที่ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท เหตุการณ์ครั้งนั้นก่อให้เกิดภาวะตื่นตระหนก และความไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของบริษัทเงินทุน เป็นเหตุให้ผู้ฝากเงินย้ายเงินฝากมาอยู่กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขณะที่บริษัทเงินทุนขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งประสบปัญหาจากการแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงิน โดยวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ภาครัฐเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการมีระบบประกันเงินฝาก แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทำให้แนวคิดในเรื่องนี้ยุติไป
หลังจากนั้นในช่วงปี 2526 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอีกครั้งหนึ่ง สถาบันการเงินมีปัญหาหนี้สูญ ขาดสภาพคล่อง และปัญหาความพอเพียงของเงินกองทุน ผู้ฝากขาดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน จึงได้มีเสนอร่างกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากต่อรัฐสภา ในเวลาเดียวกันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ขึ้นมาในปี 2528 เพื่อดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน และต่อมาได้มีการถอนร่างพระราชบัญญัติประกันเงินฝาก
ช่วงทศวรรษที่ 2530 เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเติบโตสูง ภาคเอกชนมีความต้องการเงินทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการกู้ยืมจากต่างประเทศ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจัดทำแผนพัฒนาระบบการเงิน (Financial System Development Plan) ขึ้นใน พ.ศ. 2533 ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายเปิดเสรีทางการเงิน ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้สำนักงานวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities หรือ BIBF) ดำเนินการรับฝากเงิน หรือให้กู้เงินในรูปเงินตราต่างประเทศให้ผู้มีสัญชาติไทย (Out-in Lending) และการให้กู้ยืมเงินในต่างประเทศ หรือการปล่อยกู้ให้ผู้มี
สัญชาติอื่น (Out-out Lending) และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 หรือเรียกวิกฤตการณ์นี้ว่า “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” (Tom Yum Goong Crisis) สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ต่างประเทศได้เรียกหนี้คืน ส่งผลให้ผู้กู้ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินในประเทศประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ตลอดจนมีปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ในสัดส่วนสูงจนเป็นอัตรายต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินตกต่ำ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศรับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในสถาบันการเงินอย่างเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินกลับคืนมาจากความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในช่วงเวลานั้น
ต่อมาหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้กับประเทศไทย จึงได้มีการศึกษาและยกร่างกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามการนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบเช่น 1) เสถียรภาพ และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน 2) ประสิทธิภาพของระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงิน 3) การเติบโตของระบบเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ 4) ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินและมีความเข้าใจในระบบคุ้มครองเงินฝาก
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551
3. ระบบคุ้มครองเงินฝากคืออะไร
ระบบคุ้มครองเงินฝากซึ่งหลายประเทศเรียกว่าระบบประกันเงินฝากเป็นกลไก หรือระบบหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นกลไกในการดูแลผู้ฝากเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากเงินรายย่อยในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ นอกจากนี้ระบบคุ้มครองเงินฝากยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net) ของประเทศ ซึ่งหน่วยงานและบุคคลต่างๆที่อยู่ในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินนี้มีหน้าที่ดูแลระบบสถาบันการเงินอย่างครบวงจร กล่าวคือ สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน ธนาคารกลาง(ธนาคารแห่งประเทศไทย) จะทำหน้าที่กำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน รวมทั้งแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินและเป็นแหล่งให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) กระทรวงการคลังดูแลในเชิงนโยบายและเชิงมหภาค รวมทั้งการให้และเพิกถอนใบอนุญาตสถาบันการเงิน ในขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามฐานะและการดำเนินการอีกด้านหนึ่ง(Check and Balance) กับธนาคารกลาง และเมื่อสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการก็จะเป็นผู้จ่ายเงินคืนผู้ฝาก
ระบบประกันเงินฝาก โดยทฤษฎีการประกันคือ การทำหน้าที่ในการลด หรือบรรเทาภาระ (Liabilities) ที่เกิดขึ้นจากการสูญเสีย แต่มิได้หมายความว่าจะลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสีย (Probability of Loss) ของผู้เอาประกันได้
ไม่ว่าจะเรียกระบบนี้ว่าระบบประกันเงินฝากหรือระบบคุ้มครองเงินฝากก็ตาม แต่เจตนาและวัตถุประสงค์หลักของการนำระบบนี้มาใช้ก็เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน(Financial Discipline) ซึ่งเมื่อมีวินัยทางการเงินสถาบันการเงินก็จะมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพตามมา
หัวใจของระบบประกันเงินฝากหรือระบบคุ้มครองเงินฝากก็คือ การกำหนดวงเงินจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ ดังนั้น เมื่อมีการจำกัดวงเงินจะทำให้ผู้ฝากเงินต้องใช้ความระมัดระวังในการฝากเงิน ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ฝากรายใหญ่ที่มีเงินฝากสูงกว่าวงเงินที่กำหนดเท่านั้นที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการฝากเงิน แต่ผู้ฝากรายย่อยก็จะให้ความสำคัญในการติดตามฐานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน เนื่องจากเงินฝากที่เขามีอยู่คือเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต(Life Savings) หากเกิดความสูญเสียหรือได้รับการจ่ายคืนล่าช้าย่อมจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเขาด้วย
การที่ผู้ฝากใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาสถาบันการเงินที่จะฝากเงินจะทำให้สถาบันการเงินมีวินัยและต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองตลอดเวลาเพื่อรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดลูกค้า และไม่สามารถใช้การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นแรงจูงใจได้อีกต่อไป ซึ่งการแข่งขันของสถาบันการเงินภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝากจะเป็นการแข่งขันด้านบริการ และประเภทของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้สถาบันการเงินจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อเพื่อป้องกันปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ซึ่งจะทำให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นสินเชื่อคุณภาพ (Quality Loan) ดังนั้น ระบบคุ้มครองเงินฝากถือได้ว่าเป็นมาตการป้องกันมากกว่าที่จะเป็นมาตการแก้ไข ภายใต้กรอบแนวคิดนี้โอกาสที่สถาบันการเงินจะถูกสั่งปิดกิจการก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
การกำหนดวงเงินจ่ายคืนถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อระบบคุ้มครองเงินฝากเป็นอย่างยิ่งกล่าวคือ ในหลักการการกำหนดวงเงินยิ่งสูง วินัยทางการเงินก็ยิ่งต่ำเพราะการให้การรับประกันหรือให้การคุ้มครองเป็นการสร้างพฤติกรรมการชักนำความเสี่ยง (Moral Hazard)1 อยู่ในตัว แต่อย่างไรก็ตาม จะมีผู้ฝากกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากเงินรายย่อยที่ไม่มีและ/หรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สะท้อนฐานะและการดำเนินงาน หรือความเข้มแข็งของสถาบันการเงินได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้การดูแลกลุ่มผู้ฝากนี้และเป็นกลุ่มผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ
การกำหนดวงเงินจ่ายคืนนอกจากจะเป็นการสร้างวินัยทางการเงินแล้ว ยังส่งผลต่อภาระของสถาบันการเงินในรูปของเงินที่จะต้องนำส่งให้กับองค์กรที่บริหารจัดการระบบคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งประเทศไทยก็คือ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้น การกำหนดวงเงินจ่ายคืนต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านภาระของสถาบันการเงิน เพราะการกำหนดวงเงินสูงอัตราเงินนำส่งก็จะสูงตามไปด้วย เพื่อให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่เพียงพอต่อการจ่ายคืนผู้ฝากในกรณีที่สถาบันการเงินใดถูกสั่งปิดกิจการ และสามารถสะสมเงินกองทุนในระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย
4. ทำไมประเทศไทยถึงต้องมีระบบคุ้มครองเงินฝาก
ธุรกิจสถาบันการเงินมีการเติบโต มีการขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธุรกรรมและนวัตกรรมทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้การเปิดเสรีทางการเงินส่งผลให้ระดับการแข่งขันสูงขึ้น ภายใต้บริบทดังกล่าวบทบาทของภาครัฐและการปรับตัวของสถาบันการเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาหรือเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับสถาบันการเงินคือ การสร้างวินัยทางการเงิน(Financial Discipline) ให้เกิดขึ้นในสังคม
Opiela(2001) ได้ศึกษาถึงพฤติกรรมผู้ฝากเงินที่มีต่อสถาบันการเงินไทยในช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 พบว่าความมีวินัยทางการเงินจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ประชาชนได้รับจากสถาบันการเงินโดยพฤติกรรมของผู้ฝากที่มีต่อบริษัทเงินทุนจะสอดคล้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และพฤติกรรมของผู้ฝากที่มีต่อธนาคารพาณิชย์จะสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าธนาคารใหญ่เกินไปที่จะล้ม (Too Big To Fail Policy) อีกทั้งพบว่า ผู้ฝากรายใหญ่จะมีวินัยทางการเงินมากกว่าผู้ฝากรายย่อย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดวงเงินคุ้มครอง
ต่อคำถามที่ว่าทำไมถึงต้องนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ในประเทศไทย เหตุผลหลักในการนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ พอสรุปได้ดังนี้
1) มีกลไกการสร้างวินัยทางการเงิน (Financial Discipline)
2) เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบสถาบันการเงิน
3) มีกลไกดูแลผู้ฝากเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ฝากเงินรายย่อยในกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ
4) มีกลไกเพิ่มเติมในการติดตามฐานะและการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ
5) ลดภาระภาครัฐ
เหตุผลที่กล่าวข้างต้นสามารถอธิบายได้ดังนี้
1) ระบบคุ้มครองเงินฝากจะมีบทบาทในการสร้างวินัยทางการเงินให้เกิดขึ้น โดยการกำหนดวงเงินที่จ่ายคืนในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งผิดกิจการ การกำหนดวงเงินดังกล่าวจะทำให้พฤติกรรมของผู้ฝากปรับเปลี่ยนไปจากพฤติกรรมเดิมภายใต้การรับประกันเงินฝากในสถาบันการเงินแบบเต็มจำนวนของรัฐบาลหรือที่เรียกว่า Blanket Guarantee ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยผู้ฝากจะเพิ่มความระมัดระวังในการฝากเงิน ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินในการตัดสินใจฝากเงินในขณะที่การประกันแบบเต็มจำนวนผู้ฝากจะให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นหลักในการตัดสินใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินแทนการมองเฉพาะผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะผลักดันให้สถาบันการเงินต้องพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองเพื่อรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดฐานลูกค้า สุดท้ายสถาบันการเงินทั้งระบบจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบสถาบันการเงินโดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองของสถาบันการเงินซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการ และการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล รวมทั้งมีผลประกอบการที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบสถาบันการเงินจากการนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้
3) ก่อนเดือนสิงหาคม 2540 ประเทศไทยมิได้มีระบบประกันเงินฝากหรือระบบคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใดส่งผลให้ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น การนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ และมีการกำหนดวงเงินจ่ายคืนเมื่อสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ฝากเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในสถาบันการเงิน กล่าวคือ ปัจจุบันบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทมีอยู่ร้อยละ 98.827 ของบัญชีเงินฝากทั้งระบบ(31 ธ.ค. 2550)แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูถึงมูลค่าเงินฝากจะเป็นจำนวนไม่มากนัก
4) ระบบคุ้มครองเงินฝากที่ประเทศไทยนำมาใช้ได้มีการกำหนดให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะจัดตั้งขึ้นมีหน้าที่ติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ดังนั้น จะทำให้มีระบบในการสอดส่องการดำเนินงานที่เพียงพอ เนื่องจากการกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินเป็นความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย การที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากมาช่วยติดตามฐานะและการดำเนินการของสถาบันการเงินจะเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้การติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5) ปัจจุบันรัฐบาลประกันเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ในสถาบันการเงินซึ่งหากสถาบันการเงินมีปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการลงรัฐบาลต้องรับภาระในการจ่ายคืนผู้ฝากเงินเต็มจำนวน ซึ่งปัจจุบันยอดเงินฝากในระบบสถาบันการเงินมีอยู่จำนวน 6.5 ล้านล้านบาท แต่เมื่อนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ การจ่ายคืนผู้ฝากในกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการจะมาจากกองทุนคุ้มครองเงินฝาก และเป็นของกองทุนคุ้มครองเงินฝากมาจากเงินนำส่งของสถาบันการเงิน
โดยสรุปประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพให้กับสถาบันการเงินโดยการสร้างวินัยทางการเงินซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 อย่างไรก็ดี เพื่อผ่อนคลายความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นจากการนำระบบคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินจ่ายคืนมาใช้ ก็ได้มีการทยอยลดวงเงินลงเป็นระยะเวลา 4 ปี ก่อนที่จะใช้วงเงินจ่ายคืน 1 ล้านบาท
5. ประโยชน์และผลที่อาจจะเกิดตามมาหลังจากการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้วว่าการนำระบบคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินจ่ายคืนมาใช้จะทดแทนการประกันเงินฝากแบบเต็มจำนวนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาพฤติกรรมการชักนำความเสี่ยง (Moral Hazard) ของผู้ฝากเงินโดยผู้ฝากจะตระหนักถึงความเสี่ยงของการฝากเงินกับสถาบันการเงิน ซึ่งผู้ฝากเงินจะมีความระมัดระวังในการเลือกสถาบันการเงิน หรือมีวินัยทางการเงินมากขึ้น การมีวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) ของผู้ฝากจะส่งผลให้สถาบันการเงินต้องพัฒนาตนเองให้มีความมั่นคงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินโดยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาลมากขึ้นซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ นอกจากนี้ การมีวินัยทางการเงินของผู้ฝากและสถาบันการเงินจะทำให้เกิดการแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาด และมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การประกันเงินฝากแบบเต็มจำนวน(Blanket Guarantee) เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและส่งเสริมพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง
การแข่งขันของสถาบันการเงินภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝากแบบใหม่มุ่งเน้นไปที่การให้บริการที่ดี เป็นธรรม และการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ฝากและผู้ใช้บริการ และมีระบบการบริหารจัดการอย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ สถาบันการเงินจะมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงิน ดังนั้น การแข่งขันเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ฝากเงินและผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่าให้การคุ้มครองแบบจำกัดวงเงิน 1 ล้านบาทนั้นเป็นจำนวนเงินที่มีความเหมาะสม เนื่องจากวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองผู้ฝากได้ถึงร้อยละ 98.827 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งระบบซึ่งครอบคลุมผู้ฝากรายย่อยทั้งหมดและเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของระบบ หรือประมาณ 8 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) หรือประมาณ 125,091 บาทต่อหัว อย่างไรก็ดี การกำหนดวงเงินจ่ายคืนในประเทศต่างๆ จะมีความหลากหลายซึ่งอยู่กับปัจจัยในของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันด้วย
นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว การนำระบบคุ้มครองเงินฝากแบบใหม่โดยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังช่วยลดภาระของภาครัฐบาล ดังเช่นในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตของสถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินกลัวว่าสถาบันการเงินที่ตนฝากไว้จะล้มละลายแล้วจะไม่ได้รับเงินฝากคืนทำให้ผู้ฝากเงินตื่นตระหนกถอนเงินฝากออกจากสถาบันการเงินในเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง และลุกลามสู่การแห่ถอนเงินครั้งใหญ่ในระบบสถาบันการเงินจนกระทั่งนำไปสู่การปิดสถาบันการเงิน จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ดังนั้น รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในสถาบันการเงินเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) โดยการประกันเงินฝากดังกล่าวก่อให้เกิดภาระแก่รัฐบาลเป็นจำนวนมหาศาลกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้น การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากนอกจากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงินแล้วยังเป็นการลดภาระของภาครัฐบาลด้วย
อีกทั้งระบบคุ้มครองเงินฝากที่ประเทศไทยนำมาใช้นั้นมีกระบวนการติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน รวมทั้งกระบวนการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขและป้องกันการเกิดปัญหาของสถาบันการเงิน
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้ในประเทศไทยโดยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงขอกล่าวถึงผลกระทบของการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จากผลการศึกษาของ Kunt และ Huizinga(1999) พบว่าการมีวินัยทางการเงิน(Financial Discipline) มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน(Financial Safety Net) กล่าวคือ การมีวินัยทางการเงินมากขึ้น(ลดลง) ทำให้ตาข่ายความมั่นคงทางการเงินต้องมีมาตรการที่ชัดเจนน้อยลง(มากขึ้น) และผลการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีระบบประกันเงินฝากอย่างเด่นชัด (Explicit Deposit Insurance) จะลดการมีวินัยทางการเงินลง ทั้งนี้ ก็เพราะหากการฝากเงินคือการลงทุนซึ่งการลงทุนในตลาดเงินหรือตลาดทุนนั้นย่อมมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงในตลาดเงินได้ถูกคุ้มครองหรือประกันโดย Implicit Guarantee หรือ Explicit Guarantee นั้น ผู้ลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่สถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงเพียงอย่างเดียว และจะไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดเงิน ดังนั้น การประกันเงินฝากจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนในตลาดเงินขาดวินัยทางการเงิน
สถาบันคุ้มครองเงินฝากอาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบคุ้มครองเงินฝาก เช่น ความเสี่ยงทางการตลาด(Market Risk) ความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ความเสี่ยงจากอำนาจซื้อ (Purchasing Power Risk) ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงแก่สถาบันการเงินในการไม่ได้รับชำระเงินกู้คืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และการเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือจะพูดได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจย่อมจะมีผลต่อสถาบันการเงินและสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
สำหรับประเทศไทยการก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปีแรกเป็นการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวน การคุ้มครองแบบเต็มจำนวนทำให้พฤติกรรมการชักนำความเสี่ยง(Moral Hazard) ของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินยังคงมีอยู่ เนื่องจากผู้ฝากเงินจะไม่ให้ความสนใจในการพิจารณาความเข้มแข็งของสถาบันการเงินเท่าที่ควรเพราะผู้ฝากรู้ว่าเงินฝากของตนยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่จึงยังคงเลือกฝากเงินกับสถาบันการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นหลัก ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่าที่ควร เนื่องจากการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนยังคงมีแรงจูงใจให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจหรือปล่อยกู้ในธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ รวมทั้งสถาบันการเงินรีบเร่งหาผลกำไรก่อนที่จะมีการทยอยลดวงเงินลงในปีถัดไป
6. สรุป
การนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้โดยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นในประเทศไทยนั้นมีจุดประสงค์เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน(Financial Discipline) ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ พร้อมกันนั้นก็มีกลไกดูแลผู้ฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ประโยชน์และผลกระทบของการก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่กล่าวมาข้างต้นชี้ให้เห็นว่ามีผลกระทบทางบวกมากกว่าผลกระทบทางลบ ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพึงระวังในระหว่างการทยอยปรับลดวงเงินนั้นควรมีการสำรวจพฤติกรรมของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบสถาบันการเงิน เช่นการไหลของเงินฝาก และผลกระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินพร้อมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึง เนื่องจากความเข้าใจของประชาชนนั้นจะทำให้ประชาชนสามารถปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ได้อย่างสมดุล และไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกรรมของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ผู้ฝากเงินรายใหญ่ที่มีความต้องการผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงินจึงต้องมองหาทางเลือกอื่นอาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินไปยังตลาดทุนหรือตลาดตราสารหนี้มากขึ้น การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้ตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้มีความสมดุลมากขึ้น ดังนั้น ระบบคุ้มครองเงินฝากจะเป็นกลไกหนึ่งของการพัฒนาประสิทธิภาพให้ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง และระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น
โดย :
ทวีศักดิ์ มานะกุล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก
พีรกานต์ บูรณากาญจน์ เศรษฐกร7 ว
จรัสวิชญ สายธารทอง เศรษฐกร
ปุริม คัชมุกข์ เศรษฐกร
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th