รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 15-19 กันยายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 23, 2008 12:01 —กระทรวงการคลัง

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 15-19 ก.ย.51
Economic Indicators: This Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 76.9 เนื่องจากได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่เริ่มลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกปรับตัวดีขึ้น และทำให้ยอดขายในต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสูงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงปลายเดือน ส.ค. 51 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่อยู่ในระดับสูงและปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตยาง เทคโนโลยีชีวภาพ และน้ำตาล ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงและยังอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันที่ยังขยายตัวไม่เต็มที่นัก
มูลค่าส่งออกสินค้าเดือนส.ค. 51 อยู่ที่ 15.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 43.9 ต่อปีเนื่องจากมูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 16.5 ต่อปี ในขณะที่สินค้ารถยนต์และสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 46 และ 41 ต่อปี ในมิติด้านตลาดส่งออกนั้น การส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัวชะลอลงมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ต่อปี จากร้อยละ 37.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าการส่งออกไปยังสหรัฐและสหภาพยุโรปขยายตัวเพียงร้อยละ 6 และร้อยละ 5 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 20 และร้อยละ 15 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 23 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกไปยังสิงคโปร์หดตัวลงถึงร้อยละ -15 ต่อปี เนื่องจาก มีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากไทยน้อยลง
มูลค่านำเข้าสินค้าเดือนส.ค. 51 อยู่ที่ 16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 26.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 55.1 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงมามาก อีกทั้งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนชะลอลงตามการส่งออกสินค้าที่ชะลอตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และชะลอตามการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ส.ค. 51 ขาดดุลที่ -0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: Next Week
หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ เดือน ก.ค. 51 คาดว่าอยู่ที่ระดับร้อยละ 35.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 35.8 โดยยอดหนี้สาธารณะรวมในเดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ 3,330 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 40 พันล้านบาท ทั้งนี้ การลดลงของของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงประมาณ 31 พันล้านบาท จากการชำระคืนหนี้ต่างประเทศและในประเทศที่ครบกำหนด และการลดลงของหนี้ต่างประเทศ ประมาณ 5 พันล้านบาท เนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นค่าเงิน ริงกิตมาเลเซีย เปโซฟิลิปปินส์ วอนเกาหลี และดอลลาร์ไต้หวันที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากเกิดภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอันเนื่องมาจากการที่ Lehman Brothers วานิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกล้มละลายหลังจากที่การเจรจาเข้าซื้อของ Bank of America และ Barclays ไม่ประสบความสำเร็จประกอบกับมีกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินขนาดใหญ่อีกหลายสถาบัน เช่น บริษัทประกัน AIG วานิชธนกิจ Morgan Stanley และ Goldman Sachs รวมถึงธนาคาร Washington Mutual (WaMu) และ Halifax Bank of Scotland (HBOS) ประสบ
ปัญหาและกำลังพิจารณาควบรวมกิจการ ทำให้นักลงทุนถอนเงินจากตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก และไปลงทุนยังตลาดโภคภัณฑ์ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดสภาวะสภาพคล่องทางการเงินหดตัวรุนแรงหรือ (Credit Crunch) ธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกจึงร่วมมือกันอัดฉีดสภาพคล่องเป็นจำนวนประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบ รวมถึงมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังอาจจัดตั้งบรรษัท Resolution Trust Corp. เพื่อแก้ไขวิกฤตการเงินในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มเป็นปัจจัยบวกต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายสัปดาห์หลังจากดอลลาร์ถูกเทขายอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นสัปดาห์
ด้านค่าเงินเอเชียบางสกุลมีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะค่าเงินวอนเกาหลีเนื่องจากตลาดกังวลว่าภาคการเงินของประเทศดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับสถาบันในสหรัฐในระดับสูง ดังนั้นความผันผวนในตลาดการเงินโลกจึงกระทบเศรษฐกิจดังกล่าวมาก นักลงทุนจึงถอนการลงทุนจากเศรษฐกิจดังกล่าวและไปลงทุนในตลาดอื่น ๆ เช่นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตลาดโภคภัณฑ์ค่าเงินของประเทศดังกล่าวจึงอ่อนลงมากค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนในทุกสกุล
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นในทุกสกุลเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากการที่สหรัฐเผชิญวิกฤตการณ์การเงินจากปัญหา Lehman ล้มละลาย ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากตลาดเงินทั่วโลกและหันไปลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์แทน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ อย่างไรก็ตามแม้นักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพักเงินไว้ในประเทศไทยโดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรจากการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าลง นอกจากนั้น การที่นักลงทุนที่เคยลงทุนและทำธุรกรรม SWAP ค่าเงินบาทกับ Lehman ไว้ก่อนหน้าต้องกลับธุรกรรมโดยซื้อบาทและขายดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนอกจากนั้นการที่ค่าเงินสกุลเอเชียบางสกุล เช่น วอนเกาหลีอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าวแข็งค่าขึ้นมาก
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 5 ก.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.80 และแข็งขึ้นอย่างมากจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.33
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 31.9) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 13.8) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 13.5) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 11.4) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 11.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.0) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.9)เงินเยน (ร้อยละ 1.7) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.3) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 0.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร (ร้อยละ 1.8) และหยวน (ร้อยละ 4.7)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 12 ก.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 0.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 114.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -1.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติ
ถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่าน
มาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิที่ประมาณ -0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มีการขายสุทธิที่ประมาณ -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 0.51 จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อยู่ที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนว่าการเข้าบริหารค่าเงินบาทของธปท.ไม่เพียงพอกับการกับความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 5 ก.ย.51) 0.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐในวันที่ 16 ก.ย. 51 ที่ผ่านมานั้น ให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยให้เหตุผลว่า Fed ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในระดับที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 50 ในการประชุมครั้งนี้ จากปัญหาวิกฤตตลาดการเงินจากการล้มละลายของบริษัท Lehman Brother และการขายกิจการของ Merrill Lynch รวมถึงการขอเข้ารับการช่วยเหลือจาก Fed ของบริษัทประกัน AIG อย่างไรก็ตาม จากความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลง ในขณะที่ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินจากปัญหาสภาพคล่องที่คาดว่าจะมีตามมาอีก ส่งผลให้คาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ในการประชุมวันที่ 28/29 ต.ค. 51 นี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐในเดือนส.ค. 51 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ5.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปีที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ตามการชะลอลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการลดลงของราคารถยนต์และบ้าน ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยราคาบ้าน (Housing) หดตัวลงร้อยละ -0.2 (mom) ในขณะที่ราคารถยนต์ (New vehicles) หดตัวลงร้อยละ -0.7 (mom)
ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนส.ค. 51 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ -0.3 (mom) จากเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวลงร้อยละ -0.5 (mom) เนื่องจาก สภาพการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดลดการใช้จ่ายลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งจาก 1) ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่จะลดลง และ 2) ราคาสินค้าและบิรการอื่นๆในตะกร้าสินค้าที่คาดว่าจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัสปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 94.6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงกว่า 6.60 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาปิดที่สัปดาห์ก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ คือ 1.ตลาดมีความวิตกกังวลถึงอุปสงค์น้ำมันในสหรัฐฯที่คาดว่าจะปรับตัวลงเนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านการเงินในสหรัฐฯเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น นำโดย Lehman Brothers ที่ประกาศภาวะล้มละลาย,Merrill Lynch ถูกเทคโอเวอร์โดย Bank of American และ American International Group (AIG) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะซบเซายาวนาน 2.พายุเฮอริเคนไอ๊ค์ ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กซิโกมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีการประชุมโอเปกในวันที่ 9 ก.ย.51
ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่าโอเปคจะคงโควตาการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับเดิมที่ 28.81 ล้านบาร์เรล/วัน (ไม่รวมประเทศอินโดนีเซียและอิรัก) แต่จะปรับลดการผลิตลง จากส่วนที่เกินโควตาราว 520,000 บาร์เรล/วันแทน ซึ่งกำลังการผลิตส่วนที่เกินโควตาในปัจจุบันมีมากถึง 790,000 บาร์เรล/วัน
ดุลการค้าของสิงคโปร์เดือน ส.ค. 51 เกินดุลที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเป็นผลจากการนำเข้าขยายตัวชะลอลงจากเดือน ก.ค. 51 มากกว่าการชะลอลงของการส่งออกรวม โดยการนำเข้าขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 26.8 ต่อปี เป็นร้อยละ13.7 ต่อปี และการส่งออกขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 15.2 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.7 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกนำมันกลั่น (ไม่รวม re-export) มีการขยายตัวเร่งที่ร้อยละ 104 ต่อปี ทำให้การส่งออกรวมในเดือน ส.ค. 51 ยังขยายตัวได้อยู่ ในขณะที่การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (ไม่รวม re-export) หดตัวร้อยละ -13.8 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -19.4 ต่อปี หดตัวมากกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -14.1 ต่อปี ส่วนการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ -9.6 ต่อปี
ธนาคารกลางจีนตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม 1 ปี เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี ลงมาเหลือร้อยละ 7.2 เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 51 ในขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี ที่ร้อยละ 4.14 เนื่องจากความกังวลต่อความอ่อนแอของตลาดการเงินสหรัฐ ที่อาจทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าจีนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หลัง Lehman Brothers เตรียมประกาศล้มละลาย และการขายกิจการของ Merrill Lynch ให้แก่ Bank of America รวมถึงความกังวลต่อการถดถอยของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ที่อาจทำให้นักลงทุนหันมาเทเงินเข้าจีนซึ่งยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีอยู่ และหากมีเม็ดเงินไหลเข้าจีนจำนวนมาก อาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อกลับสูงขึ้นมาอีกครั้ง
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
อัตราเงินเฟ้อฮ่องกงเดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี ผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลงในเดือน ส.ค. 51 หลังจากแตะระดับสูงสุดในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยการลดค่าเช่าที่พักอาศัยของรัฐและภาษีอสังหาริมทรัพย์ลง รวมถึงให้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ