Economic Indicators: This Week
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เดือน ก.ค. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 35.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 35.9 โดยมียอดหนี้สาธารณะรวม 3,330.4 พันล้านบาท ลดลงประมาณ 45.6 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้การลดลงของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเป็นผลจากการปรับลดระดับตั๋วเงินคลังลงเพื่อให้สอดคล้องกับฐานะดุลเงินสดของรัฐบาลทำให้หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงมีมูลค่าลดลง 31.2 พันล้านบาท และการลดลงของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 7.3 พันล้านบาท จากสาเหตุที่ รฟท.ที่ได้รีไฟแนนซ์เงินกู้ JBIC จากสกุลเงินเยนเป็นเงินบาท และการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง รวมถึงหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง 4.2 พันล้านบาท จากกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับชำระคืนเงินกู้ระยะยาว
สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์เดือน ส.ค. 2551 ขยายตัวสูงในอัตราร้อยละ 14.4 ต่อปี สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศจำนวน 18 แห่ง ณ เดือน ส.ค 2551 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากต้นปี 2551 โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 14.4ต่อปี สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 โดยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 5,720.2 พันล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5,519.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวของสินเชื่อสูงที่สุดได้แก่ธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งขยายตัวร้อยละ 21.2 และ 20.1 ตามลำดับ สำหรับเงินฝากรวมของธนาคารพาณิชย์เดือน ส.ค. 2551 ขยายตัวต่ำต่อเนื่องที่อัตราร้อยละ 1.7 ต่อปีเมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเงินฝากรวมอยู่ที่ระดับ 6,231.9 พันล้านบาท หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ6,318.4 พันล้านบาท หรือหดตัวคิดเป็นร้อยละ 1.4 ต่อปี ทั้งนี้สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวของเงินฝากสูงที่สุดได้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.57 ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กที่มีการขยายตัวเงินฝากสูงที่สุดได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน และธนาคารธนชาติซึ่งขยายตัวร้อยละ 27.9 และ 25.2 ตามลำดับซึ่งเป็นผลมาจากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำซึ่งให้ผลตอบแทนสูงเฉพาะเงินฝากในเดือนสิงหาคมในธนาคารทั้งสองแห่ง
Economic Indicators: Next Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. 51 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี ตามการชะลอลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ประกอบกับปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อคิดเป็น %mom ในเดือนก.ย. 51 กลับเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงถึงร้อยละ -3.0 จากผลของมาตรการ 6/6 เนื่องจากในเดือนก.ย. นี้มีการปรับเพิ่มราคาสินค้าหลายประเภท ได้แก่ นมสด และน้ำมันถั่วเหลืองรวมถึงการปรับเพิ่มค่าโดยสารประจำทางเริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา และการเพิ่มค่าทางด่วน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.5 มาเป็นร้อยละ 7.3 ต่อปี และคาดว่าในไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมาอีกตามปัจจัยฐานที่สูงของช่วงเดียวกันในปีก่อนรวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 51 คาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 6.4
ยอดขายปูนซีเมนต์เดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -15.5 ต่อปีใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.0 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอตัวในช่วงเดือน ส.ค. และราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 28.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายปูนซีเมนต์อาจจะหดตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี แต่อาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้าเนื่องจากแผนการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐที่จะเริ่มก่อสร้างปีหน้า ขณะที่ราคาถ่านหินซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดลงในช่วงกลางปี 51 ที่ผ่านมา
ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนส.ค.51 คาดว่าจะขาดดุลประมาณ -0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากดุลการค้าขาดดุลประมาณ -0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามการส่งออกสินค้าที่ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าสินค้าชะลอลงในระดับน้อยกว่า ส่วนดุลบริการคาดว่าจะเกินดุลได้เพียงเล็กน้อยที่ประมาณ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากวันที่ 26 ส.ค. นักท่องเที่ยวยกเลิกการมาเที่ยวประเทศไทยเพราะกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นค่าเงิน เปโซฟิลิปปินส์ และวอนเกาหลี ที่อ่อนค่าลง
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐรุนแรงขึ้นจนทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐและธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศแผนจัดตั้งกองทุน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อหนี้เสียภาคการเงิน (Trouble Assent Rescue Program: TARP) อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากประชาชนและสภาคองเกรสเนื่องจากจะทำให้งบประมาณสหรัฐขาดดุลมากขึ้นในอนาคตนอกจากนั้น สถานการณ์ด้านภาคการเงินสหรัฐยังคงตกต่ำต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินหลายแห่งเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย ทำให้ทางการสหรัฐต้องออกมาตรการฉุกเฉิน โดยอนุญาตให้ Goldman Sachs และ Morgan Stanley 2 วานิชธนกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐแปลงสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์ได้เพื่อสามารถระดมทุนจากเงินฝากได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังให้ JP Morgan เข้าซื้อ WAMU สถาบันเงินฝากขนาดใหญ่ที่สุดที่กำลังจะล้มละลายอีกด้วย ซึ่งกระแสข่าวต่าง ๆ ทำให้ภาคการเงินตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง และทำให้ดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาดลอนดอน (LIBOR) พุ่งสูงขึ้นมาก และทำให้นักลงทุนโยกย้ายการลงทุนจากสหรัฐไปยังตลาดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเอเชียบางสกุลโดยเฉพาะค่าเงินวอนตกต่ำต่อเนื่องเนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้ตลาดการเงินของเกาหลีที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการเงินสหรัฐมากตกต่ำลงไปด้วย จึงถอนการลงทุนในภาคการเงินเกาหลีต่อเนื่อง ค่าเงินวอนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงตกต่ำลง
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ค่าเงินยูโร และค่าเงินริงกิตมาเลเซีย
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นในเกือบทุกสกุลเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ทางการสหรัฐยังไม่มีการตัดสินใจออกแผนการช่วยเหลือภาคการเงินอย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากตลาดสหรัฐมาลงทุนในเอเชียรวมทั้งไทยมากขึ้นนอกจากนั้นการที่บริษัทประกัน AIG ของสหรัฐโอนเงินจำนวนหนึ่งมายังบริษัทลูก AIA ในประเทศไทยก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเช่นกันอย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินเยน ยูโร และริงกิตมาเลเซียแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากนักลงทุนมองว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 5 ก.ย. 51แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.66 และอ่อนลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.56
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 35.0) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 13.8) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 11.7) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 11.8) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 11.7) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.1) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.4)เงินเยน (ร้อยละ 1.7) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.4) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 0.1) ยูโร (ร้อยละ 4.3) และหยวน (ร้อยละ 4.5)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 19 ก.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation เพิ่มขึ้นสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน 1.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 116.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Gross Reserve จำนวน 0.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมเพิ่มขึ้น คาดว่ามาจากการที่มีนักลงทุนเข้ามาปิด Position ในตลาด Forward เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศสูงมากจากภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอันเนื่องมาจากการที่ Lehman Brothers วานิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกล้มละลาย ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศที่เคยกู้เงินจากต่างประเทศในอดีตทำการปิด Position โดยการขายเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อบาทในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ารับซื้อ ซึ่งเป็นผลทำให้ FWD Obligationของธปท.สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ-1.7 จากสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 34.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ยอดจำหน่ายบ้าน (Existing home sales) ของสหรัฐเดือนส.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -2.2 (mom annualized) มาอยู่ที่ 4.91 ล้านหลัง ในขณะที่ราคาบ้าน (Median Home Price) อยู่ที่ 203,100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวลงร้อยละ -3.4 (mom) สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐยังคงไม่หมดไป และคาดว่าจะปรับตัวลงต่อเนื่องไปอีก จากภาวะวิกฤตการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะส่งผลให้ภาวะสินเชื่อตึงตัวมากขึ้นไปอีก
ตัวเลข PMI ที่สำรวจผลผลิตของภาคเอกชนของยูโรโซนในเดือนก.ย. 51 ลดลงเหลือ 47.0 จากเดือนก่อนหน้าที่ 48.2 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 46 และเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิตที่หดตัวประกอบกับการชะลอตัวของความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ และการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศที่อ่อนแอ ส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 51 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากครั้งแรก ทั้งนี้สศค. คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 51 และ 52 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 และ 1.2 ต่อปี ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของมาเลเซียในเดือน ส.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ต่อปีหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลมาจากดัชนีในหมวดขนส่งซึ่งมีน้ำหนักมากเป็นอันดับ 3 ในดัชนีราคาผู้บริโภคได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยสูงขึ้นร้อยละ 21.8 ต่อปี ประกอบกับดัชนีราคาอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 11.7 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ต่อปี อย่างไรก็ดีธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ณ ระดับเดิมที่ ร้อยละ 3.5 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีน่าจะปรับลดระดับลงมา
ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัสปรับตัวอย่างผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 108.35 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นกว่า 4.33 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาปิดที่สัปดาห์ก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ คือ 1.นักลงทุนต่างเฝ้ารอรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการเร่งด่วนเพื่อเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมามีความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯอีกครั้งหนึ่ง2.ปริมาณน้ำมันดิบสำรองคงคลังที่สหรัฐฯปรับตัวลดลงเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2 ล้านบาร์เรลเนื่องจากโรงกลั่นในรัฐเท็กซัสและหลุยเซียน่ายังไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มกำลังหลังประสบกับพายุไอ๊ค์ (Ike) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นในสหรัฐต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 66.7
อัตราเงินเฟ้อฮ่องกงเดือน ส.ค. 51 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อปีลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย อีกทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงในเดือนส.ค. 51 หลังจากแตะระดับสูงสุดในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยการยกเว้นค่าเช่าที่พักอาศัยของรัฐเป็นเวลา 3 เดือนนับจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และลดภาษีอสังหาริมทรัพย์ลง รวมถึงให้เงินอุดหนุนค่าอาหาร ค่ารถไฟใต้ดิน และค่าไฟฟ้า
ดุลการค้าฮ่องกงเดือน ส.ค. 51 ขาดดุลที่ 12.9 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุลอยู่ที่ 19.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือน ก.ค. 51 มากกว่าการชะลอลงของการส่งออกโดยการนำเข้าขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 15.4 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.5 ต่อปี และการส่งออกรวมขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 11.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.9 ต่อปีเนื่องจากการส่งออกเครื่องใช้สำนักงาน (ไม่รวม re-export) หดตัวที่ร้อยละ -38.4ต่อปี เช่นเดียวกับสินค้าในหมวดเครื่องแต่งกาย และในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวม re-export) ที่หดตัว อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -40.7 และร้อยละ -26.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกพลาสติกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 25.7 ต่อปี จนกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของฮ่องกง และทำให้การส่งออกรวมในเดือน ส.ค. 51 ยังขยายตัวได้อยู่
ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือน ส.ค. 51 ขาดดุล -324 พันล้านเยน ซึ่งนับเป็นการขาดดุลการค้าที่ไม่ใช่เป็นผลของฤดูกาลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2525 เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ชะลอลงมากจากร้อยละ 8.1 ต่อปีในขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 17.3 ต่อปี ชะลอลงเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ18.2 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอลงเป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกไปยังสหรัฐ (ร้อยละ -21.8) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ -3.5) ในขณะที่การส่งออกไปยังเอเชียและตะวันออกกลางยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี และร้อยละ 16.8 ต่อปีตามลำดับ สินค้าหลักส่วนใหญ่มีการส่งออกหดตัวได้แก่ เครื่องจักรกลซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 18.9 ของการส่งออกรวม (หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี) เครื่องใช้ไฟฟ้าและ
อุปกรณ์ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19.5 ของการส่งออกรวม (หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี)ยานยนต์ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.7 ของการส่งออกรวม (หดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th