Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ก.ย. 2551
SUMMARY:
- แรงสะเทือนต่อภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดยาว
- สภาคองเกรสได้ข้อตกลงแผนกระตุ้นภาคการเงิน
- ธนาคารกลางยุโรปมีทีท่าจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
HIGHLIGHT:
1. แรงสะเทือนต่อภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดยาว
- ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เผยว่า สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 1 แต่หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ได้หันไปพึ่งพา EU แทน และเห็นตรงกันว่าระยะนี้จะไม่ขยายการลงทุน ทั้งขยายกำลังการผลิตหรือสร้างโรงงานใหม่ ขณะที่เลขาธิการสมาคมเครื่องนุ่งห่มของไทย กล่าวว่าสินค้าระดับบนจะได้รับผลกระทบทันที ทางออกคือต้องวิ่งหาตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง
- ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กุ้ง แต่ระยะสั้นคงไม่ได้รับผลกระทบมากเพราะ ได้สั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนสินค้าอาหารอื่น มีหลายประเทศที่สั่งซื้อจากไทยเพิ่มขึ้น เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หลังจากที่จีนประสบปัญหาเรื่องสารปนเปื้อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยในครึ่งปีหลังและปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย โดยคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกใกล้เคียง 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 11-13 ต่อปี ชะลอลงจากปี2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 20 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ส่งออกต้องเร่งกระจายการส่งออกไปยังประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีตลาดขนาดใหญ่
เช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก ให้มากขึ้น
2. สภาคองเกรสได้ข้อตกลงแผนกระตุ้นภาคการเงิน
- สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐ กล่าวว่าแผนกระตุ้นภาคการเงินที่เสนอโดยรัฐบาลใกล้สัมฤทธิ์ผลแล้ว โดยยังคงหลักการเดิมคือให้จัดตั้งกองทุนในวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ประสบปัญหาของสถาบันการเงินได้ โดยให้เวลาทำการ 5 ปี และกำหนดให้กองทุนสามารถใช้เงินดังกล่าวได้ทันทีจำนวน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 1 แสนล้านหากประธานาธิบดีเรียกร้องต่อสภาฯ ขณะที่อีก 3.5 แสนล้านจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านการเห็นชอบจากสภาเท่านั้น และยังห้ามมิให้ผู้บริหารสถาบันการเงินได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนมากหากลาออกจากสถาบัน
การเงินดังกล่าว (Golden Parachute) รวมถึงจำกัดเงินเดือนขั้นสูงสุดของผู้บริหารให้เท่ากับข้าราชการระดับสูงด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่าจำนวนเงินขั้นต้นของกองทุน TARP ที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอาจไม่เพียงพอที่จะกอบกู้วิกฤตได้หากสถาบันการเงินสหรัฐยังคงล้มละลายอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาทางการใช้วงเงินไปแล้วถึงประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในการกอบกู้ Bear Stern, AIG, Fannie Mae และ Freddie Mac อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่าหากกองทุนดังกล่าวสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนมากขึ้น จะทำให้ราคาของสินทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ไม่ตกต่ำลงมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินที่ถือสินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ไม่ประสบปัญหาทางการเงิน และช่วยหยุดยั้งวิกฤตการณ์การเงินครั้งนี้ได้
3. ธนาคารกลางยุโรปมีทีท่าจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
- แม้ว่าปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐจะส่งผลลุกลามมายังเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปที่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ เนื่องจาก ECB ให้ความสำคัญในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเป็นอันดับแรก ซึ่ง ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อจะมั่นใจว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ส่งผลเข้าสู่ระดับราคาสินค้าในประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เป้าหมายหลักของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีความแตกต่างกัน โดย ECB มีเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก ในขณะที่ Fed มีเป้าหมายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปพร้อมกับการควบคุมเงินเฟ้อ ดังนั้น ECB
ยังคงมีทีท่าไม่ชัดเจนว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ร้อยละ 2.0 โดยในเดือนส.ค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th