รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 กันยายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 ก.ย. 2551 
SUMMARY:
- รมว.คมนาคมเตรียมแผนเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
- การเงินตรึงตัว กระทบส่งออกไทย ธปท.แนะกระตุ้นลงทุน
- IMF คาดเศรษฐกิจโลกชะลอ แนะปฏิรูประบบการเงินโลก
HIGHLIGHT:
1. รมว.คมนาคมเตรียมแผนเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
- ในการประชุมของกระทรวงคมนาคมเมื่อวานนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวให้สัมภาษณ์ถึงงานที่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านการคมนาคมขนส่งต่างๆ เช่นโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟรางคู่ รถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางตรงแล้วจะมีส่วนช่วยในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนอีกด้วย ซึ่งทางรมว.คมนาคมเห็นว่าต้องเร่งโครงการที่มีอยู่ให้นักลงทุนเห็นถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการดำเนินการกันอย่างจริงจัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทยที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งจะส่งผลทั้งทางตรงผ่านการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ และทางอ้อมโดยการชักจูงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน (Crowdingin Effect) ของภาคเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคการก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะเดียวกัน จะมีส่วนช่วยในสนับสนุนความเชื่อมั่นในภาคเอกชนซึ่งจะบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนจากภายในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป
2. การเงินตรึงตัว กระทบส่งออกไทย ธปท.แนะกระตุ้นลงทุน
- รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยถึงผลกระทบจากวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ ต่อสถาบันการเงินไทย ว่าแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต้องใช้เวลา ทำให้ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ ซึ่งจะกระทบไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ถึงปีหน้าผ่าน 3 ช่องทางได้แก่การส่งออก สภาพคล่องที่อาจตึงตัว และผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยมองว่าในการรับมือนั้น รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้ภาคเอกชนต้องการลงทุน
- อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยรับมือกับผลกระทบได้จากปัจจัยบวก 2 ด้านคือเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ภาคเอกชนมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าอดีตและกลไกราคาก็ช่วยในการปรับตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤติการเงินและการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2551-ปี 2552 ให้ชะลอตัวลง ฉะนั้น ในภาวะที่ภาคการส่งออกเป็นกลไกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทางการควรสนับสนุนในการใช้นโยบายผ่อนคลายให้เกิดการใช้จ่ายในการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม สศค.ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ณ เดือนก.ย.ว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี สูงขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 4.8 ต่อปี โดยคาดว่าในปี 2552 จะขยายตัวที่ช่วงระดับร้อยละ 4.0-5.0 ต่อปี
3. IMF คาดเศรษฐกิจโลกชะลอ แนะปฏิรูประบบการเงินโลก
- Dominique Strauss-Kahn ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สนับสนุนรัฐบาลสหรัฐที่จะใช้เงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการแก้ปัญหาระบบการเงินการธนาคารของสหรัฐ ในขณะที่เตือนรัฐบาลยุโรปให้ระวังการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลในช่วงวิกฤตนี้ และยังเสนอว่าควรมีการปฏิรูประบบการกำกับดูแลระบบการเงินโลก โดยเสนอตัวเป็นผู้นำในการจัดทำกรอบวิธีการกำกับดูแลดังกล่าวหากรัฐบาลต่าง ๆ เห็นควร อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงอีก แต่ยังเชื่อว่าภาคเศรษฐกิจจริงยังคงแข็งแกร่งอยู่ และธนาคารกลางต่าง ๆ จะสามารถแก้วิกฤตทางการเงินนี้ได้ในที่สุด
- สศค. วิเคราะห์ว่า การแก้ไขวิกฤตทางการเงินในสหรัฐและยุโรปโดยเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรมีแผนการใช้เงินดังกล่าวอย่างรัดกุมเป็นระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการใช้มาตรการดังกล่าว ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกน่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก โดยขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อปีในปีนี้ และชะลอลงต่อเนื่องในปี 52 โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี จากร้อยละ 4.5 ต่อปีในปี 50 ซึ่งไทยเองคาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านภาคการส่งออกซึ่งคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้การส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 51ขยายตัวที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี และในปีหน้าคาดว่า การส่งออกจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 11.0-13.0 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ