บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง แนวนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงการลงทุนรวมของประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 12:08 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
ภาวะการลงทุนของประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2550 จากปัจจัยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 และปัจจัยฐานต่ำของอัตราขยายตัวของการลงทุนในช่วงปี 2550 แม้ว่าจะมีสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม
ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 คาดว่าแนวโน้มการลงทุนจะยังมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากปัจจัยลบต่างๆ ที่มีมากขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ ภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน และการดำเนินการโครงการลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาครัฐมีบทบาทที่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงทางเศรษฐกิจดังกล่าวและจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ (1) ภาครัฐควรมีบทบาทเร่งการลงทุนในโครงการ Mega Project มูลค่ารวม 1.88 ล้านล้านบาท สำหรับปี 2552-2555 ให้เป็นไปตามกำหนดเพื่อช่วยให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding in effect) (2) บริหารจัดการความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ (3) สนับสนุนให้การใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากเพื่อให้นักลงทุนและผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการขยายการลงทุน เร่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากมาตรการวันที่ 4 มีนาคม 2551 ที่ให้หักค่าเสื่อมในการลงทุนเครื่องจักรในอัตราเร่งขึ้น และ (4) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนหรืออ่อนค่าเร็วเกินไป เพื่อลดภาระต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนของผู้ประกอบการ
ผลการวิเคราะห์จากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า หากภาครัฐสามารถดำเนินการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ตามแผนที่ตั้งไว้ จะสามารถสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัว (Real GDP growth) เพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน (ร้อยละ 5.3-5.6 ต่อปี) ในช่วงปี 2552-2555 ได้ที่ร้อยละ 0.3-0.6 ต่อปี และคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดและฐานะการคลัง
อย่างมีนัยสำคัญ
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้านการลงทุนของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แม้ว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองและแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจด้านการลงทุนล่าสุดบ่งชี้ว่าแนวโน้มการลงทุนในภาพรวมในช่วงที่เหลือของปีคาดว่ามีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวได้นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ของไทยในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 22.4 ต่อปี ณ ปี 2550 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 74.4 สะท้อนการใช้กำลังการผลิตที่ใกล้เต็มกำลังการผลิตอันจะก่อให้เกิดข้อจำกัดด้านอุปทาน (Supply Constraints) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ในการนี้ สศค. จึงได้ดำเนินการศึกษาแนวนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงการลงทุนรวมของประเทศในช่วงที่เหลือของปี โดยบทวิเคราะห์นี้จะนำเสนอถึง (1) สถานการณ์การลงทุนของภาครัฐและเอกชนในช่วงที่ผ่านมา (2)แนวโน้มการลงทุนรวมในช่วงที่เหลือของปี 2551 และ 3) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนของประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2551
1. สถานการณ์ลงทุนรวมของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา: สัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำสวนทางกับการใช้กำลังการผลิตที่ใกล้เต็มกำลังการผลิต
- นับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแต่การลงทุนโดยรวมยังถือได้ว่าไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ทำให้สัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ต่ำกว่าสัดส่วนในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจอยู่มากโดยมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 22.4 ซึ่งการลงทุนในระดับที่ต่ำทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตได้เต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับสูงในปัจจุบันที่ร้อยละ 74.4 และเป็นการใช้กำลังการผลิตที่ใกล้เต็มศักยภาพการผลิต
อันก่อให้เกิดข้อจำกัดด้านอุปทาน (Supply Constraints) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
- ตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา การลงทุนรวมมีการขยายตัวชะลอลงมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี มาอยู่ที่ ร้อยละ1.4 ต่อปี ในปี 2550 แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 การลงทุนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยมาถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ต่อปี และกลับมาชะลอลงที่ร้อยละ 1.9 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวลงร้อยละ -5.2 ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงตามราคาน้ำมัน และสินค้า
โภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง
อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวมที่แท้จริง ปี 2549 — Q2/2551
(%yoy) 2549 2550 2550 2551
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2
มูลค่าการลงทุนรวม 3.8 1.4 -1.3 0.2 2.6 4.0 5.4 1.9
- การลงทุนภาคเอกชน 3.7 0.5 -2.3 -0.7 1.1 3.9 6.5 4.3
- การลงทุนภาครัฐ 3.9 4.0 2.2 2.7 5.8 4.5 2.0 -5.2
ที่มา: สศช.
ทั้งนี้ พบว่า ในหลายสาขาอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตที่สูงมากเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ร้อยละ95.9) กระดาษ (ร้อยละ 91.2) และเครื่องดื่ม (ร้อยละ 81.5) เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตของเศรษฐกิจไทยทั้งสำหรับตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก
1.1 สถานการณ์การลงทุนภาคเอกชนปี 2550: ชะลอตัวจากปัจจัยไม่แน่นอนทางการเมือง
- การลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวชะลอลงอย่างรวดเร็วเริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.7 ต่อปี และอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในปี 2550 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
- อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2550 และไตรมาสที่ 1 ปี 2551 การลงทุนภาคเอกชน เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 แต่การลงทุนภาคเอกชนล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2551 กลับมาขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี เป็นผลมาจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ชะลอลงจากร้อยละ 8.3 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี ขณะที่การก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนโดยขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี แสดงให้เห็นว่า สถานะการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีการขยายตัวได้อย่างจำกัด
อัตราขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง ปี 2549 — Q2/2551
(%yoy) 2549 2550 2550 2551
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2
การลงทุนภาคเอกชน 3.7 0.5 -2.3 -0.7 1.1 3.9 6.5 4.3
- เครื่องมือเครื่องจักร 4.2 1.3 -2.8 -0.5 1.3 7.4 8.3 5.2
- ก่อสร้าง 2.3 -2.3 -0.6 -1.2 0.7 -8.5 0.4 1.3
ที่มา: สศช.
1.2 สถานการณ์การลงทุนภาครัฐ: สัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อการลงทุนรวมยังอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐยังคงมีทิศทางขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้าง
- การลงทุนของภาครัฐมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อการลงทุนรวมอยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ร้อยละ 25.9 ของการลงทุนรวม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 11 ปีย้อนหลังที่ร้อยละ32.0 และบ่งชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังมีช่องทางที่จะต้องขยายระดับการลงทุนเพิ่มเติมในระยะต่อไป
- อัตราการขยายตัวการลงทุนภาครัฐมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 และ 2550 ขยายตัวเพียงร้อยละ3.9 และ 4.0 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดของการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2551 หดตัวในระดับสูงถึงร้อยละ -5.2 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการลงทุนทางด้านการก่อสร้างของภาครัฐ ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -8.0ต่อปีเป็นหลัก เนื่องมาจากการเบิกจ่ายงบการลงทุนทางด้านการก่อสร้างของรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงร้อยละ -13.2 ต่อปี ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี
อัตราขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่แท้จริง ปี 2549 — Q2/2551
(%yoy) 2549 2550 2550 2551
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2
การลงทุนภาครัฐ 3.9 4.0 2.2 2.7 5.8 4.5 2.0 -5.2
- เครื่องมือเครื่องจักร 0.1 -1.7 3.9 -1.5 15.0 -22.3 0.6 0.3
- ก่อสร้าง 5.9 6.8 1.5 5.0 2.1 23.6 2.6 -8.0
ที่มา: สศช.
ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ (1) การลงทุนของรัฐบาล (2) การลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ (3) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งพบว่า ในช่วงปี 2550 ถึง ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 การลงทุนของทั้งในส่วนของรัฐบาล และ อปท.ยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ร้อยละ 17.0 ต่อปีและร้อยละ 15.5 ต่อปี ณ ราคาปัจจุบัน ตามลำดับ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจมีการลงทุนที่หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี ณ ราคาปัจจุบัน
รายจ่ายภาคสาธารณะตามระบบบัญชีประชาชาติ ณ ราคาปัจจุบัน
หน่วย: ล้านบาท
รายจ่ายภาคสาธารณะตาม 2550 2551
ระบบบัญชีประชาชาติ ทั้งปี Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2
1. การลงทุนภาครัฐบาล 196,437 39,559 53,455 70,355 33,067 49,280 42,493
%YOY 15.6 29.4 13.8 -1.2 55.6 24.6 -20.5
2. การลงทุน ของ อปท. 118,032 23,759 25,904 45,917 22,453 23,662 39,815
%YOY 11.2 -14.1 7.8 32.7 13.3 -0.4 53.7
3. การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 266,743 64,013 62,535 65,538 74,657 65,656 63,911
%YOY -1.5 2.0 -6.4 3.3 -4.2 2.6 2.2
รวม 581,215 127,331 141,894 181,810 130,180 138,596 137,422
%YOY 6.3 5.2 3.0 7.4 9.4 8.8 -4.0
ที่มา: สศช.
รวบรวมโดย: สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
2. แนวโน้มการลงทุนรวมในช่วงที่เหลือของปี 2551
2.1 แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน: มีโอกาสฟื้นตัวช้าโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง
- จากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะการลงทุนภาคเอกชนล่าสุด พบว่า การลงทุนภาคเอกชนยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้า โดยการลงทุนภาคก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551 พบว่า ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักในวัสดุก่อสร้างหดตัวมากถึงร้อยละ -15.0 ต่อปี เนื่องจากแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.0 ต่อปี ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดประเภทการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง พบว่า กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมชะลอตัวลงมากในขณะที่กลุ่มอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ดี
- อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการลงทุนภาคก่อสร้างที่ชะลอตัว ผ่านมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (4 มีนาคม 2551) ที่ได้มีการปรับลดอัตราภาษีอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งพบว่า ปริมาณธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวในระดับสูงตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 — เดือนกรกฎาคม 2551 เห็นได้จากยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (ที่ปรับฐานอัตราภาษีที่เปลี่ยนแปลงแล้ว) โดยเฉลี่ย 4 เดือนหลังจากปรับลดภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ ร้อยละ 32.5 ต่อปี ในด้านการลงทุนใน
หมวดเครื่องมือเครื่องจักรของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนสิงหาคม 2551 อยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 23.0 ต่อปีในเดือนกรกฎาคม
เครื่องชี้ภาวะการลงทุนภาคเอกชนล่าสุด
อัตราการขยายตัว (%YOY) 2550 2551
Q1 Q2 2M/Q3 มิ.ย. ก.ค. ส.ค.
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบินเรือ รถไฟ 1.1 20.0 16.5 n.a. 14.8 23.0 3.4
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ -6.0 7.7 -5.6 -27.4 -20.9 -29.3 -25.7
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 4.9 13.9 24.6 30.0 29.3 31.1 28.9
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ -3.9 -5.7 0.7 n.a. -16.7 -15.0 n.a.
การจำหน่ายเหล็ก 2.2 8.8 18.9 n.a. 5.6 13.5 n.a.
ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ 3.2 -0.8 29.3 23.9 25.9 43.0 7.8
หมายเหตุ: * เป็นอัตราการขยายตัวหลังปรับฐานอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0.1 แล้วตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 4 มีนาคม 2551
ที่มา: สศช. กระทรวงพาณิชย์ และ ธปท.
รวบรวมโดย: สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
2.2 แนวโน้มของการลงทุนภาครัฐ
- จากข้อมูลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 พบว่า รัฐบาลเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้แล้วจำนวน 249.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี และคิดเป็นร้อยละ 74.5 ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2551 (กรอบวงเงินรายจ่ายลงทุน 333.8 พันล้านบาท) ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการเบิกจ่ายงบลงทุน 11 เดือนแรกสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 74.0 ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งปีงบประมาณ 2551
- อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องติดตามการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่จัดสรรให้แก่ อปท. ว่า อปท. สามารถใช้จ่ายเงินลงทุนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร ซึ่งในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลได้มีการโอนงบลงทุนให้แก่ อปท. ไปแล้วจำนวน 117.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.7 ของกรอบวงเงินงบลงทุนที่จัดสรรให้แก่อปท. (131.1 พันล้านบาท) สำหรับปีงบประมาณ 2551 ทั้งนี้ หากรัฐบาลโอนงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้แก่ อปท. แล้ว แต่ อปท. ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการลงทุนจะทำให้เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนของประเทศได้ตามเป้าหมาย
- จากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจของปีงบประมาณ 2551 มีการเบิกจ่ายสะสมแล้วถึงเดือนสิงหาคม 2551 จำนวน 160.8 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48.9 จากกรอบวงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติจำนวน 329.0 พันล้านบาท ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังถือว่ามีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงาน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร้อยละ 36.2 ของกรอบวงเงินลงทุน) เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ระหว่างกระบวนการจัดหาบริษัทผู้ดำเนินการก่อสร้าง และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร้อยละ 20.7 ของกรอบวงเงินลงทุน)
เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่ออยู่ระหว่างการจ่ายชดเชยค่าเวนคืนที่ดินและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหาผู้รับเหมา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการโครงการได้จริงในปีงบประมาณ 2552 ทั้งนี้ ทำให้คาดว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสำหรับปี2551 น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 90.0 ของกรอบวงเงินงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ โดยคาดว่าจะได้ประมาณร้อยละ 75.0-78.0 ของกรอบวงเงิน งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
3. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2551: ภาครัฐควรมีบทบาทเร่งการลงทุนใน
โครงการ Mega Project ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนตามมา (Crowding in effect)
- ในปัจจุบัน รัฐบาลมีแผนการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับช่วงปีงบประมาณ 2552-2555 มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.88 ล้านล้านบาท โดยโครงการลงทุนของภาครัฐ ภายใต้แผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าสุดประกอบด้วย 7 สาขา แบ่งออกตามรายปี ดังนี้
- จากการวิเคราะห์โดยแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ สศค. พบว่า หากภาครัฐสามารถดำเนินการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ตามแผนที่ตั้งไว้ข้างต้น คาดการณ์ว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (Real GDP growth) ในปี2552-2555 สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน (ร้อยละ 5.3-5.6 ต่อปี) ได้ที่ร้อยละ 0.3-0.6 ต่อปี และจะส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มจากกรณีฐานที่ร้อยละ (-0.3) — (-0.7) ของ GDP สำหรับในช่วงปี 2552 — 2555 อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลาง สศค. คาดว่าฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลต่อเนื่อง และไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดสำหรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายภาครัฐในอนาคตต่อไป
ผลกระทบเศรษฐกิจมหภาคจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ
ผลการประมาณการ 2552 2553 2554 2555
กรณีฐาน (Base Case)
1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (%) 5.3 5.4 5.6 5.6
2. ดุลบัญชีเดินสะพัด (% ของ GDP) 2.2 1.3 0.7 0.1
กรณีมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติม (Policy Target Case)
1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (%) 5.6 5.9 6.2 6.2
2. ดุลบัญชีเดินสะพัด (% ของ GDP) 1.9 0.7 0.0 -0.6
ผลกระทบ (Impact)
1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น (%) 0.3 0.5 0.6 0.6
2. ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง (% ของ GDP) -0.3 -0.6 -0.7 -0.7
ที่มา: สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน
- ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน หากค่าเงินบาทอ่อนลงเร็วมากจาก 31.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 มาอยู่ที่ 34.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 กันยายน 2551 ซึ่งอาจจะทำให้ผู้นำเข้าชะลอการลงทุนนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องมือเครื่องจักร เพราะต้นทุนการนำเข้าคิดเป็นเงินสกุลบาทสูงขึ้น
- สนับสนุนให้การใช้จ่ายภายในประเทศให้เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก(ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551) เพื่อให้นักลงทุนเห็นโอกาสในการขยายการลงทุน (แม้ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 73.0 ในเดือน มิถุนายน 2551 แต่นักธุรกิจและผู้ประกอบการยังไม่กล้าลงทุนขยายกำลังการผลิต)
- เร่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากมาตรการ 4 มีนาคม 2551 ที่ให้หักค่าเสื่อมในการลงทุนเครื่องจักรในอัตราเร่งขึ้น (รวมทั้งประชาสัมพันธ์มาตรการภาษีที่ส่งเสริมการลงทุนเดิมที่ภาคธุรกิจอาจยังไม่ทราบและไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่)
- อาจให้สถาบันการเงินของรัฐมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุน เช่น สินเชื่อพิเศษเพื่อการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่
- เร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังมีอัตราการเบิกจ่ายล่าช้า (อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมจนถึงเดือนสิงหาคมอยู่เพียงร้อยละ 48.9 ของกรอบวงเงินลงทุนปี 2551 ที่ได้รับอนุมัติจำนวน 329.0 พันล้านบาท)
- การลงทุนก่อสร้างของรัฐบาลส่วนกลางที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งน่าจะมีผลจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 25 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551)
ทำให้ผู้รับเหมาเรียกร้องการปรับค่า K และชะลอการลงทุนออกไป ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปี ต้องเร่งพิจารณาปรับค่า K ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (นอกเหนือจากเหล็กและน้ำมันดีเซล) ที่ปรับเพิ่มขึ้น และเร่งกำกับการลงทุนให้ตามกำหนด ตลอดจนยืดระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยข้ามปีงบประมาณ 2551 ให้ผู้รับเหมาในกรณีที่ใช้สัญญาแบบปรับราคาได้
- อาจพิจารณาใช้มาตรการงบล้างท่อฯ เพื่อกำชับให้หน่วยราชการเร่งลงทุนภายในกำหนด หากล่าช้ากว่านั้น อาจพิจารณายกเลิกโครงการ
- ควรประสานกับกระทรวงมหาดไทยให้เร่งให้ อปท.ในการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน และควรจัดทำระบบการติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณของ อปท. ให้เป็นระบบ เพราะปัจจุบันงบประมาณในส่วนนี้ใหญ่ขึ้นมาก (ประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท)และไม่มีหน่วยงานใดที่ติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเบิกจ่ายของ อปท. (ควรให้กรมบัญชีกลางร่วมดำเนินการกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ