สนธิสัญญาลิสบอน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 26, 2008 16:08 —กระทรวงการคลัง

          เมื่อปลายปีที่แล้ว วันที่ 13 ธันวาคม 2550 ผู้นำของสมาชิกสหภาพยุโรปได้ลงนามในสนธิสัญญาลิสบอน ที่เป็นเสมือนกฎหมายแม่บทระหว่างสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ แต่จนกระทั่งวันนี้ ผ่านไปครึ่งปีแล้ว รัฐบาลของสมาชิกสหภาพยุโรปเพียง 19 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบรรณยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าว ส่วนบางประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ค ก็ยังมีปัญหาในประเด็นสำคัญหลายๆ จุด จนทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่ากำหนดการเดิมที่จะให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ภายใน 1 มกราคม 2552 อาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก
สนธิสัญญาลิสบอนเป็นสนธิสัญญาฉบับใหม่ล่าสุดที่ได้ปรับปรุงจากสนธิสัญญานีซ (บังคับใช้ในปี 2544) สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (บังคับใช้ในปี 2540) และสนธิสัญญาการจัดตั้งสหภาพยุโรป(บังคับใช้ในปี 2535) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการปรับปรุงโครงสร้างระบบการบริหารและการตัดสินใจภายในสหภาพยุโรป เพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของสภาผู้แทนฯ ในแต่ละประเทศ(National Parliament) ต่อสภาผู้แทนฯ สหภาพยุโรป (European Parliament) และเพิ่มบทบาทและศักยภาพของ EU ต่อประชาคมโลก ซึ่งสนธิสัญญาฉบับเดิมได้ใช้บังคับมาตั้งแต่สมัยที่สหภาพยุโรปยังมีสมาชิกเพียง 15 ประเทศ มาวันนี้พอจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเป็น 27 ประเทศแล้ว กลไกการบริหารงานและการกำหนดนโยบายจึงต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัย
เป้าหมายหลักๆ ในสนธิสัญญาลิสบอน มี 4 เรื่องได้แก่
1. ยกระดับความโปร่งใสและประชาธิปไตยในยุโรป — โดยการจัดสมดุลอำนาจระหว่างสภาผู้แทนฯ สหภาพยุโรปที่ผู้แทนฯ ได้รับการเลือกตั้งมาโดยตรงจากประชาชนกับคณะมนตรีต่างๆ ที่มีสมาชิกเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเชื่อมโยงอำนาจของสภาผู้แทนฯ ระดับประเทศกับสภาผู้แทนฯสหภาพยุโรปโดยกำหนดให้สภาผู้แทนฯ สหภาพยุโรปทำหน้าที่พิจารณาเฉพาะเรื่องหลักๆ ที่เป็นภาพรวมของสหภาพฯ เช่น งบประมาณสหภาพฯ สนธิสัญญาระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศภายนอก และกฎหมายที่ใช้บังคับกันภายในสหภาพฯ โดยจะไม่ก้าวล่วงไปถึงกฎหมายเฉพาะของแต่ละประเทศสมาชิกที่มีสภาผู้แทนฯระดับประเทศดูแลอยู่แล้ว นอกจากนี้สนธิสัญญาลิสบอนยังได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสหภาพยุโรปสามารถขอลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพฯ ได้อีกด้วย
2. เพิ่มศักยภาพภายในของยุโรป — โดยการปรับปรุงระบบการบริหารและการตัดสินใจของคณะมนตรีต่างๆ ให้กระชับและรวดเร็วขึ้น รวมถึงการพิจารณาเสียงส่วนใหญ่ในการมีมติต่างๆ นั้นจะให้ความสำคัญทั้งจำนวนประเทศและจำนวนประชากร โดยต้องให้อย่างน้อย 55% ของจำนวนประเทศสมาชิกเห็นชอบ โดยประเทศสมาชิกที่เห็นชอบนั้นต้องมีจำนวนประชากรอย่างน้อย 65% ของประชากรทั้งหมดในสหภาพยุโรปนอกจากนี้ยังได้สร้างกฎระเบียบเกี่ยวกับคณะมนตรีต่างๆ รวมถึงการสร้างนโยบายมาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในสหภาพยุโรปในภาพรวมโดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อำนาจตุลาการ และนโยบายหลักๆ อื่น เช่น สุขอนามัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
3. สร้างคุณค่า ความเป็นปึกแผ่น และความมั่นคงของสหภาพยุโรป - โดยการยกร่างกฎบัตรสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชากรสหภาพยุโรป ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับประชากรในสหภาพยุโรป ซึ่งประกอบด้วยสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการสร้างจิตสำนึกของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกรณีที่มีภัยคุกคามสหภาพยุโรป เช่น การโจมตีจากผู้ก่อการร้าย เป็นต้น
4. เน้นการเป็นผู้นำในเวทีโลก — โดยปรับปรุงกลไกการสร้างนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในโลก ปรับปรุงขอบเขตอำนาจของคณะมนตรีที่ดูแลกิจการระหว่างประเทศให้มีมากขึ้น มอบอำนาจในการเจรจาแก่คณะผู้แทนสหภาพฯ ในการดำเนินการแทนประเทศสมาชิก เพื่อให้อำนาจในการเจรจาต่อรองของสหภาพฯ นั้นแข็งแกร่งและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในการร่วมกันตัดสินใจทางทหารเกี่ยวกับการป้องกันอาณาจักร ซึ่งจะช่วยให้ประเทศขนาดเล็กมีความมั่นคงสูงขึ้น
ความคืบหน้าของการรวมตัวของสหภาพยุโรปนี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นความตั้งใจบวกกับความจริงใจของประเทศสมาชิกที่จะผลักดันให้มันเกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีนับจากการลงนามในสนธิสัญญาโรมเพื่อก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเมื่อปี 2500 ความพยายามของยุโรปนี้ประสบผลสำเร็จในวันนี้เป็นที่น่าชื่นใจ นับเป็นการมองการไกลที่ส่งผลสำเร็จเพราะในวันนี้ที่สหรัฐฯ จีน รัสเซียได้ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในเวทีโลก ยุโรปก็ถึงจุดที่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้นจริงๆ
หันมาดูอาเซียนที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่มานานกว่า 10 ปี ก็เพิ่งลงนามในสนธิสัญญาเพื่อก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปเมื่อปี 2551 แม้จุดเริ่มต้นจะช้ากว่ายุโรปถึง 50 ปี แต่อาเซียนก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำให้สมาชิกกลุ่มตัวเองมีอำนาจต่อรองในเวทีโลก ต่อจากนี้ ก็ต้องอาศัยความต่อเนื่องทางนโยบาย (ซึ่งหาได้ยากในประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะเปลี่ยนรัฐบาลกันบ่อยเหลือเกิน) และการสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกเพื่อผลักดันให้เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำเร็จได้ภายในปี 2015 ตามที่ประกาศไว้ ถึงวันนั้น การพัฒนาไปสู่การเป็นสหภาพอาเซียนก็คงไม่ยากเกินความพยายาม
โดย พรวสา ศิรินุพงศ์ สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ