บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง 6 มาตรการ 6 เดือนจะช่วยลดเงินเฟ้อและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เพียงใด?

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 16:28 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
- การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มส่งสัญญาณอย่างเด่นชัดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 โดยในเดือน มกราคม 2551 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ซึ่งหากเทียบกับในช่วงปี 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนตัวอยู่เพียงในช่วงร้อยละ 1.1-3.2 หลังจากนั้นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องในทุกๆเดือน โดยได้ขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดของปีในเดือน กรกฎาคม ที่ระดับร้อยละ 9.2 ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงจนส่งผลกระทบต่อการ
บริโภคของภาคประชาชน และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมได้ สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารในตลาดโลก ประกอบกับประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึงร้อยละ 15 ของ GDP จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะปัญหาเงินเฟ้อนี้ได้
- ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 รัฐบาลได้ออกนโยบายการคลังเพื่อเข้ามาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากภาวะดังกล่าว โดยให้ชื่อนโยบายนี้ว่า “6มาตรการ6เดือน (ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน)” หลักการของมาตรการนี้คือ ลดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น โดยคงหลักการในการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในภาคประชาชน ตลอดจนลดผลกระทบต่อรายได้โดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจมีความรุนแรงขึ้นในภาคการบริโภค โดยดำเนินการ 6 มาตรการ ดังนี้ 1) ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 2) ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน 3) ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน 4) ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน 5) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง 6) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟ โดยจะใช้งบประมาณในการสนับสนุนมาตรการต่างๆรวมเป็นเงินราว 46,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนที่ประหยัดได้จากการช่วยเหลือของรัฐบาล จึงสามารถนำไปใช้ในรายการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวได้
- จากแบบจำลองประมาณการเศรษฐกิจมหภาค สามารถคำนวณผลของมาตรการนี้ได้ว่า ในไตรมาสที่ 3 มาตรการนี้จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากระดับร้อยละ 7.9 ต่อปี ลงเหลือร้อยละ 7.2 ต่อปี และจะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จากร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.7 ต่อปี ส่วนในไตรมาสที่ 4 จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากระดับร้อยละ 7.6 ต่อปี ลงเหลือร้อยละ 5.4 ต่อปี และจะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จากระดับร้อยละ 4.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.2 ต่อปีทำให้ในปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงจากระดับร้อยละ 7.0 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 6.3 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.2 ต่อปี
1.สถานการณ์เงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มมีสัญญาณปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2551 โดยในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ซึ่งหากเทียบกับในช่วงปี 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ 1.1-3.2 หลังจากนั้นในเดือนถัดมา อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบมีอัตราเร่งโดยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 5.4 และ 5.3 ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิง และดัชนีในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.0 หลังจากนั้นในช่วงไตรมาสที่2 ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแรงผลักดันให้สินค้าและบริการในหมวดต่างๆจำเป็นต้องปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน เมษายน, พฤษภาคม และ มิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 6.2, 7.6, 8.9 ตามลำดับ นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆเดือน ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่2ขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.6
ในเดือนกรกฎาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทะยานขึ้นมาสู่ระดับร้อยละ 9.2 ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับแต่ต้นปีที่ผ่านมาปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ46.9 ส่งผลให้ดัชนีในกลุ่มอื่นปรับตัวขึ้นตามทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม, ข้าวแป้ง,เนื้อสัตว์ ฯลฯ
- ผลของเงินเฟ้อสูงต่อเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนโดยตรง สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามกัน ประชาชนที่มีฐานรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากสัดส่วนรายจ่ายในสินค้าประเภทอาหารและประเภทอุปโภคบริโภคต่อรายได้ ของประชาชนกลุ่มนี้มีค่าสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมโดย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีราคาปรับตัวขึ้นตาม ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงนี้ จึงจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามไปเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เพื่อที่จะวิเคราะห์ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงโครงสร้างรายได้ที่แท้จริงของประชากรในประเทศไทย ว่าพื้นฐานของแต่ละส่วนแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
จากการศึกษารายได้ที่แท้จริงของประชากรกลุ่มต่างๆของประเทศไทย เราสามารถแบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่ม ตามสาขาอาชีพได้ดังนี้ 1.เกษตรกร 2.ผู้ใช้แรงงาน 3.ข้าราชการระดับต่ำกว่า C5 และพนักงานเอกชนระดับล่าง 4.ข้าราชการระดับ C5 ขึ้นไป และพนักงานเอกชนระดับสูง 5.ผู้เกษียณอายุ เมื่อพิจารณาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันดิบโลกที่ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจนส่งผลให้ดัชนีราคาในหมวดต่างๆพากันปรับตัวขึ้นตามนั้น เราจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบไปยังประชากรในแต่ละกลุ่มมากน้อยแตกต่างกันไป โดยจากผลการศึกษาพบว่า
กลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับผลดีจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่มีการซื้อขายกันในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ส่วนใหญ่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด ฯลฯ เป็นผลให้รายได้ที่แท้จริงของกลุ่มเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.08 (กรณีที่1) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานพบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานย่อมไม่ได้รับผลดีจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบเนื่องจากปัญหานี้จะส่งผลต่อกำลังซื้อของกลุ่มนี้โดยตรง ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้จ่ายในการการดำรงชีวิตประจำวันได้ดังเดิมรัฐบาลจึงได้เข้ามาช่วยเหลือโดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 พฤษภาคม 51 เป็นต้นมา เป็นผลให้รายได้ที่แท้จริงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 ช่วยบรรเทาปัญหาในภาวะค่าครองชีพสูงให้กับประชาชนกลุ่มนี้ลงได้บ้าง สำหรับในกลุ่มข้าราชการและพนักงานเอกชนได้มีการปรับเพิ่มเงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่าครองชีพ ขึ้นบ้างแล้วในบางส่วน ทำให้ผลกระทบจากปัญหามีไม่มาก แต่สำหรับกลุ่มสุดท้ายได้แก่ผู้เกษียณอายุ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อนี้มากที่สุด เนื่องจากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยรายได้ที่แท้จริงของประชากรกลุ่มนี้ลดลงถึงร้อยละ 8.46 (กรณีที่1) จึงจำเป็นต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือโดยเร็ว
- ความเสี่ยงของราคาน้ำมันโลก
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทย เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปในปี 2550 ราคาน้ำมันดิบดูไบจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 50-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีอัตราเร่งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี2550 และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ต้นปี 2551เป็นต้นมา โดยบางวันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 7เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้เกิดช่องทางการเก็งกำไรขึ้น จนราคาได้ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงที่140.8เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี
2. นโยบายการคลังในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ
- สาระสำคัญ
ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 รัฐบาลได้ออกนโยบายการคลังเพื่อเข้ามาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากเหตุการณ์วิกฤติราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ชื่อนโยบายนี้ว่า “6มาตรการ6เดือน (ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน)” หลักการของมาตรการนี้คือ ลดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น โดยคงหลักการในการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในภาคประชาชน ตลอดจนลดผลกระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจมีความรุนแรงขึ้นในภาคการบริโภค โดยดำเนินการ 6 มาตรการ ดังนี้
1) ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
1.1) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 E20 E85 ลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ลง 3.30 บาทต่อลิตร เหลือ 0.0165 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีช่วงห่างของราคาจำหน่ายต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 91 และน้ำมันเบนซิน 95 มากขึ้น
1.2) น้ำมันดีเซล ลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันดีเซลลง 2.30 บาทต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตรและลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel : B5) ลง 2.19 บาทต่อลิตร เหลือ 0.0048 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการขนส่งในระยะสั้น และช่วยให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานทางเลือก (NGV)
ซึ่งเมื่อรวมผลการปรับลดกับภาษีอื่นๆและค่าการตลาด จะทำให้ราคาขายหน้าปั๊มบริการลดลงราว 3.88-2.71บาท/ลิตร แล้วแต่ประเภทของน้ำมันสำเร็จรูป
2) ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน เพื่อลดแรงกดดันค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือน จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน
3) ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำ สำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัย ที่มีปริมาณการใช้น้ำในช่วง 0-50 ลบ.ม./เดือน ซึ่งเป็นปริมาณการใช้เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน โดยจะครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั้งประเทศ ประมาณ 3.2 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้น้ำที่อยู่ในเขตนครหลวง ประมาณ 1.2 ล้านราย และเขตภูมิภาค ประมาณ 2 ล้านราย ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำประปาเฉลี่ยต่อรายต่อเดือนประมาณ 213 และ 176 บาท ตามลำดับ
4) ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน ภาครัฐจะลดภาระค่าใช้จ่าย ใน 2 กรณี คือ 1.หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วย/เดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และ 2.กรณีใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 80 หน่วย/เดือน แต่ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้ จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ประมาณ 9.85 ล้านราย แยกเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในเขตนครหลวง ประมาณ 0.41 ล้านราย และเขตภูมิภาคประมาณ 9.44 ล้านราย ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนเฉลี่ย 120-200 บาท/ครัวเรือน
5) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง จัดรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)จำนวน 800 คัน ใน 73 เส้นทาง โดยเป็นรถโดยสารธรรมดา เพื่อให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
6) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ให้ประชาชนใช้บริการรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 16 ล้านคน (6 เดือน)
การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจส่วนรวม โดยทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนที่ประหยัดได้จากการช่วยเหลือของรัฐบาล จึงสามารถนำไปใช้ในรายการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเป็นการรักษาระดับราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งยังไม่กระทบต่อวินัยทางการคลังของรัฐบาลอีกด้วย
- เข้าไปต่อสู้กับเงินเฟ้อได้อย่างไร
เมื่อพิจารณาต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อนั้นจะพบว่า เงินฟ้อในประเทศไทยเกิดจากสาเหตุต้นทุนเพิ่ม หรือที่เรียกว่า Cost Push Inflation โดยมีปัจจัยหลักในมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารในตลาดโลก ประกอบกับการมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึงร้อยละ 15 ของ GDP จึงทำให้ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้ามาแก้ปัญหาของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นเหตุที่เกิดขึ้น โดยทำอย่างไรที่จะให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันไม่ผันผวนและอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รัฐบาลจึงเลือกใช้นโยบายการคลังผ่านการปรับภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมความผันผวนของราคาของน้ำมันนี้ โดยสามารถอธิบายกลไกการเข้ามาดูแลโครงสร้างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปได้ดังนี้
ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลกนับเป็นความเสี่ยงที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลักอย่างเช่นประเทศไทยจะต้องเผชิญ จากโครงสร้างราคาน้ำมันข้างต้น จะเห็นว่าราคาหน้าสถานีบริการซึ่งเป็นราคาที่ขายให้ประชาชนเป็นผลส่งผ่านจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกโดยตรง เมื่อราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงขึ้น โรงกลั่นซึ่งนำเข้าน้ำมันเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ(ประมาณร้อยละ90)ย่อมมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น เมื่อกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปออกมาได้จึงจำเป็นต้องตั้งราคาขายผลิตภัณฑ์หน้าโรงกลั่นที่สูงขึ้นตาม ประกอบกับค่าการกลั่นที่เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันดิบและฤดูการในขณะนั้นยิ่งทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปแกว่งตัวเพิ่มขึ้นได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีรัฐบาลสามารถเข้ามาดูแลและลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนนี้ได้โดยอาศัยมาตรการทางด้านภาษี ดังเช่นมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยชะลอความรุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกได้ ทำให้ต้นทุนของสินค้าและบริการที่มีการใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบหลักไม่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากนักตามราคาน้ำมันดิบโลก จึงเป็นการช่วยให้อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ชะลอความร้อนแรงลงได้ นอกจากนั้นมาตรการที่เหลืออีก 5 มาตรการ ยังเปรียบเหมือนการที่รัฐบาลคืนเงินกลับสู่กระเป๋าประชาชน ทำให้ประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีเงินเพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ตกอยู่ในภาวะชะลอตัวยาวนานอีกด้วย
- ผลของมาตรการต่อการลดเงินเฟ้อ และเพิ่ม GDP
จากการใช้แบบจำลองประมาณการเศรษฐกิจมหภาค เพื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหลังจากมีการดำเนินมาตรการทั้ง 6 ข้อ จะพบว่าในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงจากระดับร้อยละ 7.9 ต่อปี เหลือร้อยละ 7.2 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.7 ต่อปี ส่วนในไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงจากระดับร้อยละ 7.6 ต่อปี เหลือร้อยละ 5.4 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 4.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.2 ต่อปีทำให้ในปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงจากระดับร้อยละ 7.0 ต่อปี เหลือร้อยละ 6.3 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.2 ต่อปี
- ต้นทุนของนโยบาย
การดำเนินนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ในครั้งนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนของภาษีสรรพสามิต ประมาณ 46,000 ล้านบาท (ต้นทุนนโยบาย) ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดนี้ได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของน้ำมันสำเร็จรูปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่มีการจัดเก็บได้มากกว่าสมมุติฐาน เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีการปรับตัวสูงขึ้นไปมากในทุก
3. การบริหารความเสี่ยงภายใต้ความผันผวนของราคาน้ำมันโลก
จากการศึกษาสถิติราคาน้ำมันดิบดูไบในอดีต สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาแนวโน้มและพยากรณ์ค่าเฉลี่ยในอนาคตได้โดยวิธีทาง Time Series Analysis ในที่นี้ได้ใช้โปรแกรม Crystal Ballเพื่อช่วยในการคำนวณและพยากรณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ ในอนาคต ผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณมีดังต่อไปนี้
จะพบว่า ราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี ยังคงจะอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องโดยในกรณีฐานราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ระดับ 116.7 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีกรอบบนของการแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 120.9 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีกรอบล่างของการแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 100.4 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90) ส่วนราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 113.3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีกรอบบนของการแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 141.7 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีกรอบล่างของการแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 85.0 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90)
เมื่อนำราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่พยากรณ์ได้มาคำนวณต่อด้วยแบบจำลองประมาณการเศรษฐกิจมหภาค เพื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (หลังจากมีการดำเนินนโยบาย) จะได้ผลลัพธ์ดังตารางต่อไปนี้
- กรณีฐาน (Mean Case)
จะพบว่าในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 7 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี ส่วนไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี โดยทั้งปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.4ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี (ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90)
- กรณีราคาน้ำมันต่ำ (Lower Level 5% case)
จะพบว่าในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี ส่วนไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี โดยทั้งปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.6 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี (ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90)
- กรณีราคาน้ำมันสูง (Upper Level 95% case)
จะพบว่าในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.4 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ส่วนไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.5 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยทั้งปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.1 ต่อปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี (ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ