การล่มสลายของระบบการเงินสหรัฐและผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบการเงินโลก กำลังทำให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินและสถาบันการเงินทั่วโลกตื่นตระหนก และวิตกกังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงัน รวมถึงเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ของการถดถอยอันเนื่องมาจากการหดหายของสภาพคล่องและสินเชื่อ วิกฤตการณ์เงินของสหรัฐครั้งนี้ให้บทเรียนกับเราหลายอย่างว่า
1. สถาบันการเงินไม่เคยจดจำความผิดพลาด หรือเรียนรู้บทเรียนในอดีตการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมในเอเชียเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ก็เกิดขึ้นอีกกับประเทศที่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ความละโมบและการมองภาพแต่ในด้านดีของสถาบันการเงินสหรัฐทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ซึ่งแทนที่จะช่วยพัฒนาประเทศแต่สถาบันการเงินสหรัฐกับใช้เงินในการเก็งกำไรมากเกินไป
2. ระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินต่อให้ดีแค่ไหน ก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน การมองแต่ด้านบวก (Upside) และไม่มองด้านเสี่ยงและหามาตรการป้องกัน และแผนรองรับวิกฤตทำให้การล่มสลายเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
3. วิธีการแก้ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าหลักการที่ว่าใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม (Too big to fail) อาจจะไม่เกิดขึ้นเสมอไป แต่ว่าเกิดหลักการใหม่ขึ้นมาควบคู่กันไป คือ ใหญ่เกินกว่าที่จะกอบกู้ (Too big to Save)
4. วิกฤตการณ์ของระบบการเงินสามารถเกิดได้รวดเร็วและมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าในอดีต เนื่องจากนวัตกรรมทางการเงินทำให้เกิดตราสารหรือสัญญาทางการเงินเช่น Credit Default SWAP ทำให้ความเสี่ยงของระบบการเงินมีมากขึ้นหลายเท่า ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers และ AIG
5. ควรดูวิธีการแก้ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินของสหรัฐครั้งนี้ว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใดและแตกต่างจากของไทยเราอย่างไร เท่าที่ฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐพูดกับสภานิติบัญญัติ (Congress) จะขออนุมัติวงเงินพิเศษจำนวน 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อ 1) ซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่มีปัญหาเงินทุน 2) ปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง 3)ซื้อสินทรัพย์หรือหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งอันหลังนี้ดูเหมือนจะเป็นอันที่ทางการสหรัฐตั้งใจทำมากที่สุด เพื่อให้ราคาของสินทรัพย์หรือหนี้เสียของสถาบันการเงินปรับราคาลงมาเป็นราคาที่แท้จริง ซึ่งทางการสหรัฐตั้งใจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญเอกชนในตลาดการเงินมาช่วยกันกำหนดกติกาและวิธีการ ซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงินโดยจะเน้นการใช้วิธีประมูล (Reverse Auction) แต่ปัญหาก็คือความลำบากในกำหนดราคาซื้อ ถ้าราคาซื้อต่ำเกินไปก็จะไม่เป็นการช่วยหรือกอบกู้สถาบันการเงิน แต่ถ้าราคาซื้อสูงเกินไปเงินภาษีอากรของประชาชนที่ให้ในการกอบกู้สถาบันการเงินนี้ก็คงตกเป็นของสถาบันการเงินมากเกินไป
6. ผมดูการชี้แจงของรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ Henry Paulson และผู้ว่าการธนาคารกลาง Ben Bernanke ทั้งคู่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของแผนกอบกู้ (Bailout Plan) ทำให้ Congress ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าแผนจะประสบความสำเร็จและจำนวนเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ขอเหมาะสมหรือไม่ ของไทยเราหากเกิดวิกฤตการณ์ในอนาคต มาตรการการแก้ไขปัญหาและเงินที่จะใช้ในการกอบกู้ก็ควรได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาด้วย
7. สถานการณ์ของวิกฤตการณ์ครั้งนี้กำลังแย่ลงเรื่อยๆ และยิ่งทำนายผลลัพธ์ไม่ออกและไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ สิ่งที่โลกต้องการสำหรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ แนวทางการแก้ไขระดับโลก ไม่ใช่แค่มาตรการชั่วคราวของสหรัฐเท่านั้น
8. วิธีการแก้ปัญหาของสหรัฐครั้งนี้ใช้วิธีเริ่มจากกอบกู้สถาบันการเงิน เพื่อกอบกู้ประชาชนเจ้าของบ้าน เพื่อไปสู่การกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐและประชาชน
9. การแก้ปัญหาวิกฤตมักจะเริ่มด้วยการชี้นิ้วหาคนผิดควบคู่ไปด้วย ซึ่งตอนนี้ตำรวจลับสหรัฐหรือ FBI กำลังตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมาย การโกง หรือการหลอกลวงในกรณี Lehman Brothers, Freddie Mae, Fannie Mac และ AIG รวมทั้งบริษัทปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 14,000 แห่ง
10. วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีของคนที่มีเงินที่จะมาซื้อของถูกในสหรัฐอเมริกา ที่ประเทศจีนและสิงคโปร์มีการพูดถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เช่น China Investment Corporation และ Government Investment Corporation of Singapore ว่าจะมาฉวยโอกาสซื้อสินทรัพย์ราคาถูก (Fire Sale Assets) ในสหรัฐหรือจะมาเป็นผู้กอบกู้ช่วยลดวิกฤตการณ์ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น (White Knights)
โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ Fsa@Fpo.go.th
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th