รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 29 กันยายน - 3 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2008 17:26 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. 51 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.2 หลังจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงถึงร้อยละ -0.3 จากผลของมาตรการ6/6 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสดประเภทผัก ผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะน้ำท่วม รวมถึงเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลผลิต นอกจากนี้ยังมีปัจจัยยกเลิกการระงับขึ้นค่าโดยสารประจำทางส่งผลให้ราคาในหมวดค่าโดยสารประจำทางสูงขึ้นร้อยละ 7.2 (mom) แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -4.2 (mom) ตามการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนก.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 9 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และ 2.5 ต่อปี ตามลำดับ
ยอดขายปูนซีเมนต์เดือน ส.ค.51 หดตัวที่ร้อยละ -17.1 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.0 ต่อปี ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนไตรมาส 3 หดตัวลงถึงร้อยละ -16.1 ตามการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอตัวในช่วงเดือน ส.ค. อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และปัจจัยด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาปูนซีเมนต์เดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 10.0 ต่อปีจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่ายอดขายปูนซีเมนต์น่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากแผนการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐที่จะเริ่มก่อสร้าง ในขณะที่ราคาถ่านหินซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงในช่วงกลางปี 51 ที่ผ่านมา
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากการที่อุตสาหกรรมบางประเภทขยายตัวชะลอลงโดยเฉพาะยานยนต์ที่เคยขยายตัวได้ในระดับ 2 หลักมาโดยตลอด แต่ในเดือนนี้กลับหดตัวลงร้อยละ -3.9 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวลงในส่วนของการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่บริษัมรถยนต์รายสำคัญมีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนโมเดลใหม่ อย่าไรก็ดี การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย และอาหารยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์
ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนส.ค.51 ขาดดุล -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากดุลการค้าขาดดุล -0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งออกสินค้าที่ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าสินค้าชะลอลงในระดับน้อยกว่า ส่วนดุลบริการขาดดุลเล็กน้อยที่ -0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากวันที่ 26 ส.ค. นักท่องเที่ยวยกเลิกการมาเที่ยวประเทศไทยเพราะกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง
Economic Indicators: Next Week
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์ภาวะผันผวนทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน และผลจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล สามารถช่วยรองรับไม่ให้ระดับการบริโภคภาคเอกชนชะลอลงมากเกินไป
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 51 คาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าแม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น และเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อที่อยู่อาศัยให้ชะลอลงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ผลของมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ใกล้สิ้นสุดลงในสิ้นเดือน มี.ค. 52 ยังคงมีส่วนจูงใจให้ภาคธุรกิจเร่งปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์และดูดซับความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอยู่ ทำให้คาดว่ายอดธุรกรรมภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น่าจะยังขยายตัวได้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ย. 51 คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 69.5 เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่เผชิญทั้งปัจจัยแวดล้อมทั้งทางบวกและลบ โดยได้รับปัจจัยลบจาก (1) เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทำให้รัฐบาลได้มีการประกาศ พรบ.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 51 แม้จะมีประกาศยกเลิกในเดือนเดียวกัน (14 ก.ย. 51) (2) วิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง (3) ความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเดียวกันนี้ ได้รับปัจจัยบวกทั้งจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และผลจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาลที่ยังคงมีอยู่ ทำให้คาดว่า CCI เดือน ก.ย. ไม่น่าปรับลดลงมากนัก
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินในสหรัฐตกอยู่ในภาวะวิกฤต เมื่อสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐไม่ผ่านร่างแผนกองทุน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเข้าซื้อหนี้เสียภาคการเงิน (Trouble Assent Rescue Program: TARP) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังสหรัฐ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐผันผวนและตกต่ำ โดยดัชนี S&P 500 ตกต่ำนับจากปี 2530 ขณะที่ดัชนี DJIA ปรับลดลงต่ำสุดในวันเดียวเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันก็ทำให้สภาพคล่องภาคการเงินหดตัวรุนแรงมาก (Credit Squeeze) โดยทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 3 เดือนที่กู้ยืมในตลาดลอนดอน (LIBOR) พุ่งสูงขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ (Fed Funds Rate) ถึงหนึ่งเท่าตัว นอกจากนั้นสถานการณ์การล้มละลายของสถาบันการเงินยังได้ลุกลามไปทั่วโลก ทั้ง Bradford & Bingley ของอังกฤษ Fortis และ Dexia ของเบเนลักซ์ ซึ่งกระแสข่าวต่าง ๆ ทำให้ภาคการเงินตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 พร้อมทั้งส่งสัญญาณรุนแรงว่าจะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน พ.ย. เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวรุนแรงหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างมีความต้องการดอลลาร์ที่กำลังขาดแคลน ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ต่อยูโรระหว่างสัปดาห์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเอเชียเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากนักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนที่ดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่น เกิดความกลัวจึงแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Unwind Yen Carry Trade) ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เยน ดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์อินโดนิเซีย ดอลลาร์
ไต้หวัน และหยวนจีนที่บาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินสกุลหลักบางสกุลอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่วิกฤตการณ์การเงินสหรัฐลุกลามไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามค่าเงินภูมิภาคเพื่อมิให้กระทบกับภาคเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้นการที่รัฐบาลออกมาตรการ 11 มาตรการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศจากวิกฤตการณ์การเงินโลกก็ทำให้นักลงทุนไม่ตื่นตระหนกและถอนทุนออกจากตลาดเงินตลาดทุนไทย ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลหลักอื่น ๆ
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 3 ต.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.44 และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.95
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 42.0) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 14.3) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 16.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 11.8) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 11.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.1) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 5.1)เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.4) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.3) ยูโร (ร้อยละ 1.1) และเงินเยน (ร้อยละ 0.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ และหยวน (ร้อยละ 4.6)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 26 ก.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation เพิ่มขึ้นสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน 0.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 117.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 2.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมเพิ่มขึ้น คาดว่ามาจากการที่เกิดวิกฤติการเงินสหรัฐทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่น ดังนั้น ธปท.จึงเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในรูปดอลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นสุทธิ 0.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เป็นผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ -0.56 จากสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 33.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนก.ย. 51 อยู่ที่ระดับ 59.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 58.5 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงสร้างความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยให้ผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อล่วงหน้า (Inflation expectation) ได้ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเชื่อมั่นที่ออกมาดีกว่าที่คาดไม่สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากการสำรวจความเชื่อมั่นได้ทำก่อนที่สภาคองเกรสไม่อนุมิติแผนกู้วิกฤตการเงินของสหรัฐจำนวน 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนก.ย. 51 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 85.2 มาอยู่ที่ระดับ 86.7 จากจากการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่ำกว่าที่ตลาดคาด เนื่องจาก การสำรวจความเชื่อมั่นได้ทำในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนก.ย. ซึ่งไม่รวมผลจากการล้มละลายของ Lehman รวมถึงการล้มละลายของสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรปที่ตามมาอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงก็ส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระดับหนึ่งด้วย
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 51 ที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลถึงความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังคงไม่หมดไป ทั้งนี้ ECB ให้ความสำคัญในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไปพร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยูโรโซน (Flash estimate) เดือนก.ย.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนส.ค. ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี ตามการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงแนวโน้มราคาอาหารที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้ อัตราเงินเงินเ ฟ้อในประเทศอิตาลีชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดจากเดือนส.ค. ที่ร้อยละ 4.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี จากการลดลงของราคาอาหารและค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าโดยสารทางอากาศ ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนจะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 51 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 ต่อปี และลดลงไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.0 ต่อปี ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่ง ECB คาดว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปีหน้าเช่นกัน
อัตราเงินเฟ้อเกาหลีเดือน ส.ค. 51 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปีลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดหลังจากเดือน พ.ค. 51 เป็นต้นมา ผลจากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้ามีฐานสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจเกาหลีที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยและราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อเดือน ส.ค. 51 จากร้อยละ 5.00 เป็นร้อยละ 5.25 ซึ่งมีผลต่อการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อล่วงหน้า ทั้งนี้ ราคาอาหาร สาธารณูปโภค และการขนส่งยังคงปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการหมวดการสื่อสารยังคงมีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง
ดุลการค้าเกาหลีเดือน ก.ย. 51 ขาดดุลที่ 1.90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุลอยู่ที่ 3.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือน 51 มากกว่าการเร่งขึ้นของการนำเข้า โดยการส่งออกรวมขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 18.7 ต่อปี เป็นร้อยละ 28.7 ต่อปี และการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 37.7 ต่อปี เป็นร้อยละ 45.8 ต่อปี เป็นผลมาจากค่าเงินวอนที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินสกุลหลัก ราคาน้ำมันและวัตถุดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการส่งออกไปยังทวีปอเมริกาใต้และตะวันออกกลางยังคงเติบโตได้ดี โดยการส่งออกเรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเครื่องจักรกล มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 127 ร้อยละ 89 และร้อยละ 26 ต่อปี ตามลำดับ
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
ดุลการค้ามาเลเซียเดือน ส.ค.51 คาดว่าจะยังคงเกินดุลได้ต่อเนื่องที่ระดับ 13 พันล้านริงกิต ซึ่งเป็นระดับที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 51 เนื่องจากคาดว่าการส่งออกในเดือน ส.ค. จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมาอยู่ที่ระดับ 60 พันล้านริงกิต สาเหตุจากสินค้าส่งออกหลักอันได้แก่ ปาล์มน้ำมัน, น้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติเหลว, น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 8.4, 7.7, 4.7, 4.5 ของการส่งออกทั้งหมด ตามลำดับ น่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก รวมทั้งราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดต่างๆ ทำให้มูลค่าการส่งออกน่าจะลดลงตามมา ประกอบกับคาดว่าการนำเข้าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ 44 พันล้านริงกิต เนื่องจากสินค้านำเข้าหลักอันได้แก่ สินค้าวัตถุดิบซึ่งมีสัดส่วน
ถึงร้อยละ 73.6 ของการนำเข้าทั้งหมดน่าจะไม่ลดลงแต่อย่างใด จึงทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ