รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 6, 2008 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ต.ค. 2551 
SUMMARY:
- กระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกปี 52 เพิ่มสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 67.0
- ปตท.ระบุยอดการใช้เอ็นจีวีชะลอตัว
- แผนกอบกู้ภาคการเงินสหรัฐฉบับปรับปรุงใหม่
HIGHLIGHT:
1. กระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกปี 52 เพิ่มสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 67.0
- กรมการส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐและขยายลุกลามไปทั่วโลกนั้น ทางกรมได้เตรียมปรับแผนการส่งออกเพื่อรับมืออยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้จะเน้นตลาดที่ได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจน้อยที่คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 65.3 ของการส่งออกรวมได้แก่ อาเซียน(9) ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนตลาดกลุ่มนี้เป็นร้อยละ 67.0 ในปีหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 51และในปี 52 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเนื่องจากปัญหาวิกฤติการเงินของสหรัฐที่ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขยายตัวของการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างไรก็ดี นโยบายการส่งออกที่เน้นการเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่นประเทศในเอเชีย ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง จะช่วยให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ดี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 20 ต่อปี ในปี 51 และร้อยละ 11-13 ต่อปี ในปี 52
2. ปตท. ระบุยอดการใช้เอ็นจีวีชะลอตัว
- บริษัท ปตท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ความนิยมในการติดตั้งก๊าซธรรมชาติ (NGV) เริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันได้ปรับลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทั้งนี้ความต้องการใช้ก๊าซ NGV ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่วันละ 2,700 ตัน
- ปตท. ระบุเพิ่มเติมว่า การปรับราคา NGV ในต้นปี 52 ยังคงเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ปรับขึ้นจาก 8.50 บาท/กก. เป็น 12บาท/กก. ในขณะที่ การปรับโครงสร้างราคาLPG จะยังไม่เกิดขึ้น และทำให้เกรงว่าการปรับขึ้นราคา NGV จะไม่ช่วยจูงใจให้คนที่ใช้LPG เปลี่ยนมาใช้ NGV
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการชะลอตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ก.ค.51ในการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในตลาดของประเทศลดลงจึงมีผลทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีคาดว่าเมื่อเมื่อมาตรการของรัฐบาลดังกล่าวสิ้นสุดลงในเดือน ม.ค. 52 นั้น จะส่งผลให้ความต้องการหรืออุปสงค์การใช้ NGV กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
3. แผนกอบกู้ภาคการเงินสหรัฐฉบับปรับปรุงใหม่
- วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินฉบับแก้ไขใหม่ มูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากผู้นำวุฒิสภาเห็นชอบที่จะปรับปรุงร่างกฎหมายเดิม โดยรวมแผนความช่วยเหลือภาคการเงิน เข้ากับแผนปรับเพิ่มเพดานการค้ำประกันเงินฝาก และการลดหย่อนภาษีสำหรับพลังงานทดแทน ภาคธุรกิจ และพนักงานชนชั้นกลาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
- สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ร่างกฎหมายผ่านสภาคองเกรสและเริ่มมีผลบังคับใช้นั้น น่าจะส่งผลดีต่อตลาดการเงินในระยะสั้น เนื่องจากทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นและทำให้ต้นทุนทางการเงินเริ่มปรับลดลง พิจารณาได้จากอัตราLIBOR ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุน TARP เพื่อซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้นใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกน่าจะยังผันผวนอยู่ต่อเนื่องนอกจากนั้น ในระยะยาวแล้วกองทุนดังกล่าวจะทำให้ภาระทางการคลังของสหรัฐมีมากขึ้น โดยในปี 52 สหรัฐอาจขาดดุลงบประมาณถึงร้อยละ 10 ต่อ GDP ซึ่งจะทำให้กระทบต่อเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อาจทำให้ผันผวนได้อีกในอนาคต
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ