ไตรมาสที่ 2 ปี 2551 (เม.ย.51-มิ.ย.51) ดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 1,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุน 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินขาดดุล 2,491 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี สำหรับสาเหตุสำคัญของการขาดดุลบัญชีเงินทุนเกิดจากการขายหลักทรัพย์สุทธิของนักลงทุนต่างชาติ จากความวิตกต่อปัญหาสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองของไทย ประกอบกับ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนอื่นๆ ปรับตัวลดลง ขณะที่การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
คาดว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2551 (ก.ค.51-ก.ย.51) ดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 2) การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ เพื่อส่งเงินกลับประเทศ โดยสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาซับไพร์ม ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เกิดการลดการลงทุน โดยเฉพาะในตราสารทุนในโลกรวมทั้งในภูมิภาคาเอเชีย และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็ไม่สนับสนุนการลงทุน
1. สถานการณ์ดุลบัญชีเงินทุนไตรมาส 2 ปี 2551
ดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 1,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินขาดดุล 2,491 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสาเหตุสำคัญของการขาดดุลบัญชีเงินทุนเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ลดลงอย่างมากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจากเงินทุนไหลเข้า 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 เป็นเงินทุนไหลออก 4,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551
1.1 สถานการณ์การลงทุนโดยตรง ไตรมาส 2 ปี 2551
การลงทุนโดยตรงสุทธิในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีมูลค่า 316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 77.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีมูลค่า 993 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 174.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.9 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 1,309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.2 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศ คือ นักลงทุนจากญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง โดยมีมูลค่า 468, 188, 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
1.2 สถานการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 2551
การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีเงินทุนไหลออกมูลค่า 4,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีการไหลเข้าของเงินทุนมูลค่า 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีเงินทุนไหลออกมูลค่า 4,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีการไหลเข้าของเงินทุนมูลค่า 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศมีมูลค่า 3,661 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 256 สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศมีเงินทุนไหลออกมูลค่า 513 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีเงินทุนไหลเข้ามูลค่า 1,291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศมีเงินทุนไหลออกมูลค่า 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเดียนกันของปีก่อนมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนถึง 2,431 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุที่การลงทุนในตราสารทุนลดลง เกิดจากความวิตกต่อปัญหา sub prime ปัญหาสถาบันการงินของสหรัฐฯ สัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้เกิดการขายหุ้นทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย นอกจากนั้น สถานการณ์การเมืองของไทยยังคงไม่สนับสนุนบรรยากาศการลงทุนของประเทศ โดยกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศคือ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่า 620 และ 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จากต่างประเทศ มีมูลค่า 327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินทุนไหลออก 1,140 ดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า การซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าขายสุทธิ 36,450 ล้านบาท สาเหตุที่มีการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเกิดจากความวิตกต่อปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดการขายหุ้นทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย รวมทั้ง สถานการณ์การเมืองไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติเคลื่อนย้ายเงินทุนออกไป
1.3 สถานการณ์การลงทุนอื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2551
การลงทุนอื่นๆ สุทธิไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีมูลค่า 1,894 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันจากปีก่อนที่เป็นเงินทุนไหลออก 938 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนอื่นๆ ของชาวต่างประเทศมีมูลค่า 960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนอื่นๆ ของชาวไทยในต่างประเทศมีมูลค่า 934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. แนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 3 ปี 2551
คาดว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดุลบัญชีเงินทุนจะขาดทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และ 2) การขายสุทธิอย่างมากของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ จากปัญหาซับไพร์มและปัญหาสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐฯ สร้างความกังวลแก่นักลงทุน ทำให้เกิดการลดการลงทุน โดยเฉพาะในตราสารทุนในโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนปัญหา สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ไม่สนับสนุนการลงทุน
คาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 57.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามข้อมูลการออกใบอนุญาตการส่งเสริมการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่ในระดับต่ำในปี 2551
คาดว่าการลงทุนในตราสารทุนของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 จะมีมูลค่าเงินทุนไหลออก 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ในตลาดหลักทรัพย์ และบรรยากาศการลงทุนที่ได้ผลกระทบจากปัญหาการเมือง รวมทั้งความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th