ความคืบหน้ากฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ และการขายกิจการของธนาคารอีกสองแห่งในสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2008 15:26 —กระทรวงการคลัง

          สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงาน
(1) แถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เกี่ยวกับสภาวะตลาดเงินและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคาร วุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 23 กันยายน 2551และคณะกรรมาธิการร่วมสายเศรษฐกิจ สภาคองเกรส เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551
(2) ผลการประชุมสภาคองเกรสเกี่ยวกับกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสนอโดยธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ
(3) การขายกิจการของธนาคารวอชิงตัน มูชวล และ
(4) การขายกิจการของธนาคารวาโคเวีย ดังนี้
1. แถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ
ภาพรวมเศรษฐกิจ
นาย เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคาร วุฒิสภาสหรัฐฯ และคณะกรรมาธิการร่วมสายเศรษฐกิจ สภาคองเกรส ถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงชะลอตัว ทั้งตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง อัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพคล่องในตลาดเงินที่ตึงตัวอย่างมาก หากวิกฤติตลาดเงินสหรัฐฯ ยังยืดเยื้อต่อไปอีกนั้น จะส่งผลกระทบในเชิงลบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวงกว้างอย่างแน่นอน
การตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นสาเหตุหลักของทั้งความตึงตัวในตลาดเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ราคาบ้านที่ตกต่ำและอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นมาก นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้สถาบันการเงินประสบภาวะขาดทุนและกดดันให้สถาบันการเงินต้องเร่งระดมทุนเพิ่มเติม นอกจากนี้ การตกต่ำของราคาหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgaged-back Securities) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะลดความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุนและสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่ประสบวิกฤติแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องให้ราคาหลักทรัพย์หรือมูลค่าของสถาบันการเงินนั้น ๆลดลงตามไปด้วย
มาตรการกู้วิกฤติตลาดเงิน
ธนาคารกลางสหรัฐฯ เห็นว่าควรแก้ปัญหาที่กล่าว ด้วยกลไกการดำเนินธุรกรรมของภาคเอกชนเอง อาทิ การระดมทุนผ่านการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าไปช่วยเหลือก็ต่อเมื่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมสั่นคลอน และสภาวะเศรษฐกิจในวงกว้างตกอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ในกรณีของบริษัทแฟนนี่ เม และบริษัทเฟรดดี้ แมค ที่ไม่สามารถระดมเงินทุนได้เพียงพอ และไม่สามารถระดมทุนผ่านการควบรวมกิจการได้ จากข้อจำกัดที่สถาบันการเงินทั้งสองแห่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จึงต้องตัดสินใจเข้าไปแทรกแซง โดยนายเบอร์นันเก้เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการเสนอซื้อบริษัทเลห์แมน บราเธอรส์ และบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนลกรุ๊ป (เอไอจี) จากภาคเอกชน เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลายของสถาบันการเงินดังกล่าว โดยปราศจากการแทรกแซงของทางการ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งการล้มละลายของเอไอจีนั้น จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินทั่วโลก เนื่องจากมูลค่าและองค์ประกอบของภาระผูกพัน หรือ Obligation ที่เอไอจีถือครอง โดยนายเบอนันเก้ได้กล่าวยืนยันว่า มาตรการช่วยเหลือเอไอจีของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น จะไม่เป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่อื่น ๆ เลือกดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ส่วนกรณีของวาณิชธนกิจเลห์แมน บราเธอรส์ นั้น ถึงแม้การล้มละละลายของเลห์แมน บราเธอรส์จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดเงิน แต่นักลงทุนและเจ้าหนี้ของเลห์แมน บราเธอรส์ได้มองเห็นปัญหาการดำเนินการของเลห์แมน บราเธอรส์ มาแล้วระยะหนึ่ง และมีเวลาในการเตรียมมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จึงตัดสินใจที่จะไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม การล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอรส์ ร่วมกับการล้มเหลวที่ไม่ได้คาดหมายของเอไอจีนั้น ได้สร้างความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหลักทรัพย์ตกต่ำ ต้นทุนตราสารหนี้ระยะสั้นทะยานขึ้น สภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัวอย่างรุนแรง และการขาดทุนของกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ขนาดใหญ่ที่สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุน ได้กระตุ้นให้นักลงทุนถอนเงินลงทุนจากกองทุนเหล่านั้น ส่งผลให้อุปสงค์ของสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากราคาพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลที่ลดลงหลายร้อยจุด
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เนินมาตรการต่าง ๆ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน เช่น การขยายมูลค่าการดำเนินธุรกรรมซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศกับธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั้งธนาคารกลางสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา และธนาคารแห่งชาติสวิส
ทั้งนี้ นายเบอร์นันเก้ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เสนอให้ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการซื้อสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ (Illiquid Assets) จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ประสบปัญหา ซึ่งจะเป็นการอัดฉีดสภาพคล่อง กระตุ้นราคาหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน และลดความผันผวนในตลาดให้กับนักลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจของนักลงทุนในระบบการเงินสหรัฐฯ และส่งเสริมการระดมทุนของธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายเบอร์นันเก้ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤติในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน และเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีก การระบุจุดอ่อนของระบบการเงินสหรัฐฯ นับเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม การจัดทำมาตรการรับมือวิกฤติในครั้งนี้ จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ประกอบกอบการวิเคราะห์อย่างรายละเอียด ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ ได้แนบรายละเอียด Federal Reserve Press Release ลงวันที่ 23 และ 24 กันยายน 2551 ดังปรากฏในเอกสารแนบ
2. สภาคองเกรสไม่ผ่านกฎหมายอนุมัติกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Bailout Plan)
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้แถลงการณ์สนับสนุนให้สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณ 7 แสนล้านเหรียญ สรอ. เพื่อเข้าไปช่วยเหลือ(Bailout) สถาบันการเงินสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ และอาจเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือดังกล่าว จะมุ่งเน้นที่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมเป็นหลัก ไม่ใช่แค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือภาคอุตสาหกรรมอันใดอันหนึ่ง โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะที่มีความตื่นตระหนกทางการเงิน (Financial Panic) นั้น เป็นผลจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ และการคาดการณ์ที่ผิดพลาดว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความมั่นใจของนักลงทุนที่ลดต่ำลงจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ได้สร้างแรงกดดันในทางลบต่อมูลค่าสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Consumer Lending) กระทบต่อตลาดหลักทรัพย์โดยรวม ธนาคารและธุรกิจอื่นๆ ต้องประสบภาวะขาดทุน อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น และจะไปฉุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐฯ อีกด้วย
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เรียกประชุมฉุกเฉินสภาคองเกรส โดยมีวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน และนายบารัค โอบาม่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมประชุมด้วย เพื่อหาข้อตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญ สรอ. ตามข้อเสนอของธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ได้รับการคัดค้านจากสภาคองเกรสในด้านของ (1) เงินงบประมาณที่สูงเกินไป (2) ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และ (3) แรงกดดันที่เร่งในการอนุมัติมาตรการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยภายหลังการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง ได้มีข้อสรุปที่เรียกว่า ข้อตกลงขั้นพื้นฐาน หรือ “Agreement on Principle” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ (1) อนุมัติงบประมาณรวม 250,000 ล้านเหรียญ สรอ. เพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือระบบการเงินได้ทันที เมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ (2) อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 100,000 เหรียญ สรอ. หากมีความจำเป็นและได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี และ (3) การอนุมัติงบระมาณส่วนที่เหลือ 350,000 ล้านเหรียญ สรอ. นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาทบทวนของสภาคองเกรสที่จะมีต่อไป
ทั้งนี้ สภาคองเกรสได้เรียกร้องให้ (1) ผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระและสำนักบัญชีกลางสหรัฐฯ (Government Accountability Office) ทำการตรวจสอบความโปร่งใสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในการดำเนินมาตรการดังกล่าว (2) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดทำมาตรฐานการดำเนินงาน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่มากเกินไปหรือจ่ายค่าชดเชยอย่างไม่เหมาะสมแก่ผู้บริหารของสถาบันการเงินที่เข้ารับการช่วยเหลือของทางการ และ(3) จัดทำมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ อาทิ จัดทำข้อกำหนดให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยึดครองหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินที่เข้ารับการช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะได้คืนเงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Bad Assets) เมื่อความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงินเหล่านั้นกลับสู่สภาพปกติ และ (4) ภายหลังจากซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังจากสถาบันการเงินต่าง ๆ แล้ว ทางการสหรัฐฯ สามารถใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขของสินเชื่อให้แก่เจ้าของบ้านที่กำลังจะหลุดจำนองได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลักจากการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมงในวันที่ 29 กันยายน 2551 สภาคองเกรสมีมติไม่ผ่านกฎหมายเพื่อเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงิน หรือ Bailout Plan ที่กล่าว โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบขาดไปเพียง 13 เสียง จากที่ต้องการทั้งหมด 218 เสียง ซึ่งกว่าร้อยละ 60 ของผู้แทนจากพรรคเดโมแครตออกเสียงเห็นชอบ ในขณะที่เพียงหนึ่งในสามของผู้แทนจากพรรครีพลับบลิกันออกเสียงสนับสนุน ทั้งๆ ที่ระธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ออกมาแถลงการณ์สนับสนุนกฎหมายก็ตาม มติดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงมากกว่า 700 จุด และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (T-bill Yield) ลดลงจากร้อยละ 0.87 เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 0.32 จากความกังวลของนักลงทุนว่าระบบการเงินสหรัฐฯ จะย่ำแย่ลงไปอีกจากหนี้เสียจากสินเชื่ออสั งหาริมทรัพย์ที่ลุกลามจนส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ภายหลังมติไม่ผ่านกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ สภาคองเกรสยังไม่ได้ระบุแนวทางขั้นต่อไปในการกู้วิกฤติอย่างชัดเจน
3. การขายกิจการของธนาคารวอชิงตัน มูชวล
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation - FDIC) ได้ประกาศปิดกิจการธนาคารวอชิงตัน มูชวล (Washington Mutual Inc.) ซึ่งนับเป็นการประกาศล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินการธนาคารสหรัฐฯ ด้วยสินทรัพย์รวม 307,000 ล้านเหรียญ สรอ. นอกจากนี้ บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงมูลค่า 1,900 ล้านเหรียญ สรอ. เพื่อขายสินทรัพย์ของธนาคารให้แก่บริษัท เจ พี มอร์แกน เชส
ธนาคารวอชิงตัน มูชวล เป็นสถาบันการเงินอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในส่วนของตราสารอนุพันธ์ออปชั่น ที่เรียกว่า Adjustable-Rate Mortgage หรือ ARM ซึ่งผู้กู้สามารถจ่ายคืนเงินต้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป และไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในปีแรก วอชิงตัน มูชวล เริ่มประสบภาวะขาดทุนจากตราสารหนี้ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2549 ส่งผลให้ธนาคารตัดสินใจชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยกเลิกการปล่อยกู้ตราสารหนี้ประเภทดังกล่าวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านเหรียญ สรอ. ในการรีไฟแนนซ์แก่ผู้กู้เพื่อลดอัตราการผิดนัดชำระหนี้ ร่วมกับการดำเนินมาตรการลดรายจ่าย ลดจำนวนพนักงานและปรับลดเงินปันผล แต่ก็ยังไม่สามารถกู้วิกฤติของธนาคารได้ โดยในสามไตรมาสที่ผ่านมาธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนถึง 10,900 ล้านเหรียญ สรอ. นอกจากนี้ การประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคาร โดยบริษัทแสตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ ได้เพิ่มแรงกดดันและความกังวลให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับความมั่นคงและสภาพคล่องของธนาคารมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงถึงร้อยละ 95 จากราคาสูงสุดในรอบปีที่ 36.47 เหรียญ สรอ. ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 1.69 เหรียญ สรอ. ต่อหน่วยเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงซื้อกิจการของ เจ พี มอร์แกน เชส ไม่ได้ครอบคลุมส่วนของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ที่ไม่มีหลักประกัน (Senior Unsecured Debt) หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ (Subordinated Debt) และหุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stock) ของธนาคารวอชิงตัน มูชวล โดยการซื้อกิจการในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มธนาคารสาขาให้กับเจ พี มอร์แกน เชส กว่า 5,400 แห่งใน 23 มลรัฐ แล้ว ยังส่งผลในทางบวกต่อการคาดการณ์รายรับในปี 2552 ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ พี มอร์แกน เชส ได้วางแผนการบริหารจัดการภายหลังการรวมกิจการ ดังนี้ (1) ลดสาขาของธนาคารลงร้อยละ 10 (2) ระดมทุนเพิ่มเติมรวม 8,000 ล้านเหรียญ สรอ. ผ่านการขายหลักทรัพย์สามัญ และ (3) ตัดจำหน่ายหนี้สูญของธนาคารวอชิงตัน มูชวล รวม 31,000 ล้านเหรียญ สรอ. ทั้งนี้ มูลค่าการตัดหนี้สูญดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงหากทางการสหรัฐฯ อนุมัติแผนฟื้นฟูที่กล่าวข้างต้น และเจ พี มอร์แกน เชส ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว
อนึ่ง วอชิงตัน มูชวล นับเป็นสถาบันการเงินแห่งที่สองซึ่งประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจากวิกฤติสินเชื่อคุณภาพต่ำที่เจ พี มอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการในปีที่ผ่านมาหลังจากซื้อกิจการของวาณิชธนกิจ แบร์ เสทิร์น มูลค่ารวม 1,400 ล้านเหรียญ สรอ. ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เจ พี มอร์แกน เชส นับเป็นธนาคารอันดับสองของสหรัฐฯ รองจากแบงก์ ออฟอเมริกา
4. การขายกิจการของธนาคารวาโคเวีย (Wachovia)
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศข้อตกลงของบริษัทซิตี้กรุ๊ปในการเข้าซื้อกิจการธนาคารวาโคเวีย (Wachovia) ด้วยมูลค่ารวม 2,160 ล้านเหรียญ สรอ. (1 เหรียญ สรอ. ต่อหน่วยหลักทรัพย์) อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงซื้อขายที่กล่าวจะไม่ครอบคลุมธุรกิจการจัดการและบริการทรัพย์สินส่วนบุคคล (Wealth Management)และธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage Operation) ซึ่งการเข้าซื้อกิจการธนาคารวาโคเวียในครั้งนี้ นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของซิตี้กรุ๊ปในการแข่งขันกับแบงก์ ออฟ อเมริกา และ เจ พี มอร์แกน เชส สองผู้นำในธุรกิจการเงินการธนาคารในปัจจุบัน ทั้งนี้ สถาบันการเงินทั้งสามแห่งข้างต้นถือครองเงินฝากส่วนบุคคลรวมกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าเงินฝากรวมของสหรัฐฯ
ธนาคารวาโคเวียได้รับผลกระทบจากการซื้อกิจการของบริษัทโกลเด้น เวสท์ ไฟแนนเชียล สถาบันด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2549 ที่ส่งผลให้ธนาคารวาโคเวียประสบภาวะขาดทุนจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ถึง 312,000 ล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งการที่ซิตี้กรุ๊ปเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ได้แบ่งเบาผลประกอบการขาดทุนกว่า 42,000 ล้านเหรียญ สรอ. และมีบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนที่เหลือ โดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ จะได้รับหุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stock) และใบสำคัญแสดงสิทธิในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ (Warrant) ของซิตี้กรุ๊ปรวมมูล 12,000 ล้านเหรียญ สรอ. เพื่อเป็นหลักประกัน อนึ่ง ซิตี้กรุ๊ปได้วางแผนรับมือกับปัญหาสินเชื่อของวาโคเวีย โดยการตัดลดเงินปันผลและการระดมเงินทุนเพิ่มเติมอีก 10 ล้านเหรียญ สรอ.
ประธานบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ (นายชีลล่า แบร์) กล่าวถึงเป้าหมายหลักในการตัดสินใจดำเนินการขายกิจการของธนาคารวอชิงตัน มูชวล และธนาคารวาโคเวียว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภคในธุรกิจการเงินการธนาคาร และกล่าวยืนยันว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังคงมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ทั้งนี้ สำนักงานที่ปรึกษาฯ จะติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ โดยละเอียดต่อไป
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ