วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Bailout Plan) ด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 25 โดยมีผู้คัดค้านจากพรรคเดโมแครตรวม 9 เสียง จากพรรครีพับลิกันรวม 15 เสียง และอีก 1 เสียงจากวุฒิสมาชิกอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง โดยประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯ(นายคริสโตเฟอร์ ดอดด์) ได้กล่าวสนับสนุนการปรับปรุงร่างกฎหมายเดิม
โดยการรวมแผนความช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสรอ. ที่เสนอโดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เข้ากับแผนการปรับเพิ่มเพดานการค้าประกันเงินฝาก และการลดหย่อนภาษีส้าหรับภาคธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ภาคธุรกิจอื่น ๆ และประชาชนชั้นกลาง รวมมูลค่ากว่า 108,000 ล้านเหรียญสรอ. ในปีหน้า ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามาตรการที่เพิ่มเติมเข้ามามีวัตถุประสงค์ในการกระจายความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึง โดยมิได้มุ่งเน้นเฉพาะการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินเพียงด้านเดียว
ดังนั้น
จึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่สภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มเติมในร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับใหม่จากเดิมที่มุ่งเน้นที่การซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Bad Asset) จากสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหานั้น มีรายละเอียดดังนี้
1. ขยายเพดานมูลค่าการประกันเงินฝาก ภายใต้บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) จากเดิม 100,000 เหรียญ สรอ. เป็น 250,000 เหรียญ สรอ. นอกจากนี้ บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ จะได้รับอำนาจชั่วคราวในการกู้ยืมเงินจากกระทรวงการคลังได้โดยไม่จำกัดจำนวน
2. มาตรการทางภาษี
2.1 ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Property Tax) ให้เจ้าของบ้านสามารถทำการลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1,000 เหรียญ สรอ. ต่อครัวเรือนซึ่งนับเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันระหว่างวุฒิสภาสหรัฐฯ และสภาคองเกรสมาเป็นเวลาหลายเดือน
2.2 ขยายการบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน กระแสลม คลื่น และกระแสน้ำ เป็นมูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านเหรียญ สรอ.
2.3 ขยายเวลาการตรึงอัตราภาษีภายใต้ระบบภาษีขั้นต่ำทางเลือก (Alternative Minimum Tax) ต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชั้นกลางกว่า 24 ล้านคน
2.4 ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีหลาย ๆ ข้อที่หมดอายุแล้วออกไปอีกสองปี อาทิ ภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระดับสูงในบางประเภท ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงร้านอาหารและกิจการค้าปลีก และการผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น
2.5 จัดทำมาตรการลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม
3. มอบอำนาจให้แก่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commission: SEC) ในการระงับใช้มาตรฐานทางบัญชีที่เกี่ยวกับการปรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (mark-to-market) เพื่อให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุน เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่ามาตรฐานทางบัญชีดังกล่าวนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ลงหลายพันล้านเหรียญ สรอ.จากผลของการขาดสภาพคล่องในตลาดเงิน
การที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับแก้ไขในครั้งนี้น่าจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อสภาคองเกรสให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ จะมีการส่งร่างกฎหมายฉบับแก้ไขให้สภาคองเกรสพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติในวันที่ 3 ตุลาคม 2551 หลังจากที่เคยมีมติไม่อนุมัติร่างกฎหมายฉบับเดิมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551ที่ผ่านมา
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th