Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ต.ค. 2551
SUMMARY:
- ชี้วิกฤติการเงินโลกหนักกว่าBlack Monday
- IMF ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกเหลือร้อยละ 3.9 และ3.0 ในปี 51 และ 52
- แบงก์ชาติ 8 ประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
HIGHLIGHT:
1. ชี้วิกฤติการเงินโลกหนักกว่าBlack Monday
- สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินวิกฤติการเงินครั้งนี้หนักกว่า Black Monday หลายโบรกเกอร์ลดดัชนีหุ้นไทยเหลือ 464 จุด จะปรับตัวลงไปไม่ถึงร้อยละ 80 แต่น่าจะมากกว่าร้อยละ 50 เพราะในช่วง Black Monday โดยในปี 2530 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงร้อยละ49 ดังนั้น จากจุดสูงสุดที่ระดับ 928 จุด ลดลงไปร้อยละ 50 จะอยู่ที่ประมาณ 464 จุด ซึ่งเป็นเป้าหมายดัชนีของโบรกเกอร์หลายแห่ง ครั้งนี้สมาคมนักวิเคราะห์ฯ เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะลงมากกว่าร้อยละ 50 เพราะปัญหารุนแรงกว่า
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติอันเป็นผลมาจาก (1) ปัญหาวิกฤติการเงินโลกที่ลุกลามซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ (2) ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศจากเหตุการณ์การเมืองในประเทศส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทย และคาดว่าจะยังคงผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนในปีหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7-8 ต่อปี หากความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา
2.IMF ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกเหลือร้อยละ 3.9 และ3.0 ในปี 51 และ 52
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค. ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี ในปี 51 และร้อยละ 3.0 ในปี 52 โดยเศรษฐกิจสหรัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 0.1 ในปี 51และปี52 ตามลำดับขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน คราดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 0.2 ในปี 51และ ปี52 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเงินที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 51 และปี 52 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากปัญหาวิกฤติการเงินของสหรัฐที่ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องและลุกลามไปในภูมิภาคอื่นๆรวมถึงประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี และ ร้อยละ 3.3 ต่อปี ในปี 51 และปี 52 จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปีในปี 50 ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงจากร้อยละ 20 ต่อปี ในปี 51 มาอยู่ที่ร้อยละ 11-13 ต่อปีในปี 52
3. แบงก์ชาติ 8 ประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กลายเป็นผู้นำธนาคารกลาง 8 ประเทศท่วโลก เดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์ทางการเงินแล้วเมื่อวันที่ 8 ต.ค. โดยเฟดได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของหสรัฐฯ ลดลงมาอยูที่ร้อยละ 1.5 ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางสวิส และธนาคารกลางสวีเดนหั่นอัตราดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันร้อยละ 0.5 ด้านธนาคารกลางจีนได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.27 ขณะที่ทางการฮ่องกงได้ตัดสินใจหั่นอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 1 และธนาคารกลางกลางคูเวตก็ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลงถึงร้อยละ 1.25
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกมีสาเหตุจากการที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บวกกับความรุนแรงของวิกฤตการณ์การเงินโลกผ่านตลาดเงินตลาดทุนยังบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ สศค.คาดว่าหากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยชะลอลงร้อยละ 1 จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงร้อยละ 1 ด้วย
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th