รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 10, 2008 11:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 ต.ค. 2551 
SUMMARY:
- ดัชนีความเชื่อมั่นก.ย.51 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
- ยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 26 ต่อปี
- แบงก์ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง เศรษฐกิจเอเชียมีแววถดถอย
HIGHLIGHT:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นก.ย.51 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.51 อยู่ที่ 69.5 จากระดับ 70.5 ในเดือนส.ค. 51 โดยมีปัจจัยหลักจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และความกังวลเรื่องราคาสินค้าแพง
ส่งผลให้รายได้ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ นอกจากนั้นยังได้ผลกระทบจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเกิดจากความไม่มั่นใจจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.51 ส่งผลให้ ผู้บริโภคและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจชะลอการจับจ่ายใช้สอยและชะลอการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในปี 2551 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 5.0 ต่อปี ตามลำดับฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 3.5 และ 8.5 ต่อปี
2.ยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 26 ต่อปี
- กรรมการบริหารส่วนงานขาย บจ.เอ.พี.ฮอนด้า เปิดเผยยอดการจดทะเบียนป้ายวงกลมของจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย.51 มีปริมาณการจดทะเบียนรวม 147,510 คัน ขยายตัวร้อยละ 26 ต่อปี และยอดจดทะเบียนสะสม รวม 9 เดือนแรกปี 51 มีจำนวน 1,323,606 คัน ขยายตัว
ร้อยละ 7 ต่อปี โดยเฉพาะรถที่มีคุณสมบัติประหยัดน้ำมัน คือแบบเครื่องยนต์หัวฉีด ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมามียอดจดทะเบียนเพิ่มต่อเนื่อง 7,330 คันและ 19,045 คัน ในเดือน ส.ค.และก.ย. 51 ตามลำดับ ขยายตัวร้อยละ 160 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ตลาดรถจักรยานยนต์ขยายตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มสำคัญของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เนื่องจากการที่ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดี ประกอบกับราคาสินค้าที่ยังคงขยายได้ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวสูงมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากสภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ใช้รถทั่วไปคำนึงถึงความประหยัดและเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น
3. แบงก์ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง เศรษฐกิจเอเชียมีแววถดถอย
- กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง หลังกจากธนาคารกลางประเทศต่างๆปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ที่เกิดจากวิกฤตการเงินในสหรัฐ ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างชาติจะส่งผลดีต่อแก้ไขวิกฤตทางการเงิน และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ประเทศในเอเชียจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเศรษฐกิจญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์มีโอกาสถดถอยมากขึ้นจากการเทขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างชาติ
- สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐที่ลุกลามไปยังตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อบรรเทาปัญหา โดยมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงทั่วโลกมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในการประชุมครั้งต่อไป
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ