ในฉบับที่แล้วผมนำเสนอเรื่องเหตุและผลที่มีการสนับสนุนและคัดค้านการให้ความเป็นอิสระกับธนาคารกลาง หรือ ธปท. ว่าเป็นดาบสองคม
ประโยชน์คือ หน่วยงานนี้สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่โดยไม่ถูกแทรกแซง แต่ก็ต้องไม่เหลิงอำนาจ และเป็นอิสระที่มีขอบเขต โทษที่สามารถเป็นอันตรายที่สำคัญที่สุดคือ บางครั้งธนาคารกลาง หรือ แบงก์ชาติต้องการแสดงให้เห็นว่าตนเป็นอิสระในการตัดสินใจ ไม่ได้ตัดสินใจตามการเมืองหรือตามกระแส จึงตัดสินใจตรงกันข้ามกับข้อเรียกร้องซึ่งอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับเลือกตัดสินใจตามเป้าหมายของแบงก์ชาติเอง
ฉบับนี้ผมนำเสนอความคิดเห็นท้าทายสมองและความคิดของผู้อ่านว่า อิสระในการดำเนินนโยบายของ แบงก์ชาติควรมีขีดจำกัดแค่ไหน ผมเห็นว่าแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องมีอิสระในทุกๆเรื่อง
เรื่องที่ธนาคารควรมีอิสระเต็มที่ ผมเห็นว่าควรให้แบงก์ชาติมีอิสระในการดำเนินนโยบายดังนี้
- การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร
- การกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน (แต่ในหลายประเทศรัฐบาลมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน เช่นอัตราเงินเฟ้อ แบงก์ชาติจึงมีอิสระแต่มีขอบเขตโดยต้องตั้งเป้าหมายสอดคล้องกับรัฐบาล)
- การบริหารจัดการสินทรัพย์ธปท.
- การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
- การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
- การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
เรื่องที่ควรให้คนอื่น (รัฐบาล) มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของธปท. นั้นประกอบด้วย
- การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน(ซึ่งมีแนวโน้มสากลที่จะไปตั้งเป็นหน่วยงานใหม่อยู่นอกแบงก์ชาติ)
- การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา(สิ่งนี้ควรต้องปรึกษาและสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล)
- การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เช่น เรื่องการควบคุมเงินทุน (Capital control) เพราะมีผลสำคัญยิ่งต่อประเทศ (เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงได้)
เนื่องจากที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แบงก์ชาติสามารถบริหารจัดการผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงควรมีการคานอำนาจกัน โดยมีรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นมารับผิดชอบร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งดีที่กฎหมายแบงก์ชาติใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ ทำให้ทั้งผู้ว่าแบงก์ชาติ และองค์กรมีอิสระมากขึ้น แต่อำนาจที่ได้ไปมากเช่นนี้สามารถเป็นอันตรายได้ ถ้าไม่มีการถ่วงดุลหรือคานอำนาจซึ่งกฎหมายก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคานกันการมีอิสระตามกฎหมายปัจจุบัน มีค่อนข้างมากทั้งตัวผู้ว่าฯและองค์กรเอง เช่น ผู้ว่าฯมีอำนาจอิสระในการดูแลกิจการของ ธปท. วาระเหตุผลในการปลดผู้ว่าฯต้องชัดเจนว่ามีความบกพร่องต่อหน้าที่ โดยส่วนตัวเห็นว่า 3 เรื่องด้านบน(ตามข้อ 2) ควรได้รับการทบทวนถึงอำนาจหน้าที่ของ ธปท. แบงก์ชาติมีอำนาจมาก คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ เราจะเห็นได้ว่า คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนหรือองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ เพราะแบงก์ชาติอาจมีภาพพจน์ในทำนองที่ไม่ชอบ และไม่ต้อนรับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่จริงๆแล้วมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่ไม่กล้าพูด เช่นตอนที่แบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ย หรือตอนที่แบงก์ชาติควรยกเลิกมาตรการควบคุมเงินทุน(สำรอง 30 %)
การทำงานของแบงก์ชาตินั้นใหญ่หลวงนัก หากมีการตัดสินใจผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศได้ ดังนั้น จะเป็นอิสระทั้งหมดไม่ได้
โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ AreeMitr54@yahoo.com
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th