Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิรัฐบาลเดือน ก.ย.51 สามารถจัดเก็บได้สุทธิ 126.2 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.3 โดยตลอด 12 เดือนของปี งปม.51 จัดเก็บได้สุทธิ 1,547.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี โดยรายได้สุทธิของ 3 กรมจัดเก็บภาษี เท่ากับ 1,654.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 ต่อปี โดยภาษีหลักที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นค่าบริการและจำหน่ายกำไรของ บ.ต่างชาติไปต่างประเทศ และผลประกอบการของนิติบุคคลโดยรวมในปี 50 — ครึ่งแรกปี 51ขยายตัวในอัตราที่สูง และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้า การบริโภค และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาฐานภาษี พบว่าในช่วงตลอด 12 เดือนของปีงบประมาณ 2551 ยอดการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล) อยู่ที่ 564.7 พันล้านบาท ขยายตัวตัวร้อยละ15.8 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของนิติบุคคลดังกล่าว ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ 385.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.7 ต่อปีเนื่องจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและการบริโภคภายในประเทศ
รายจ่ายรัฐบาลในเดือน ก.ย. 51 สามารถเบิกจ่ายได้ 130.6 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -13.4 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในเดือนก.ย.50 โดยในเดือนก.ย. 51 รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 107.3 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี ในขณะที่ในส่วนของรายจ่ายลงทุนคาดสามารถเบิกจ่ายได้ 18.2 พันล้านบาท หดตัวลงที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี ทั้งนี้รายจ่ายรัฐบาลทั้งปีสามารถเบิกจ่ายได้เท่ากับ 1,632.0 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2551 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 1,532.4 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปีและคิดเป็นร้อยละ 92.3 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายเป้าหมายที่กำหนดไว้เล็กน้อยที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบ 1,660 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 1,264.9 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 และคิดเป็นร้อยละ 95.8 ของกรอบวงเงินรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนจำนวน 267.5 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปีและคิดเป็นร้อยละ 78.7 ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 16.1 ต่อปี สาเหตุที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เดือน ก.ย. 51 ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ปัจจัยฐานต่ำในเดือน ก.ย. 50 เป็นหลัก นอกจากนั้นยังเป็นผลจาก 2) ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นพิเศษ 3) อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน และ 4) แรงสนับสนุนจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ย. 51 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 69.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 70.5 ซึ่งเป็นไปตามที่ สศค. ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดย ม.หอการค้าไทยให้เหตุผลว่ามีปัจจัยหลักจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ผู้บริโภคยังกังวลเรื่องราคาสินค้าแพง และรายได้ปัจจุบันไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยให้ชะลอตัว
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน ส.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 25.9 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดนับจากเดือน ก.พ. 51 ที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรก โดยมีสาเหตุหลักจากปัจจัยฐานต่ำเดือนก.ย. 50 จากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด นอกจากนั้น ภาวะผันผวนของราคาน้ำมันที่จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้นในขณะที่รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดี สะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจาก 1) ปัจจัยฐานต่ำเดือน ก.ย. 51 2) กำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวได้ในระดับสูง แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับภาระความเสี่ยงจากต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่า ในระยะต่อไปต้นทุนการก่อสร้างที่สูงต่อเนื่อง ในขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ใกล้สิ้นสุดลงในสิ้นเดือน มี.ค. 52 ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องเร่งปรับตัวมากขึ้น โดยปรับลดขนาดของโครงการและมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางมากขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนส.ค.51 มีจำนวน 1.18 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -3.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 1.27 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี เนื่องจากวันที่ 26 ส.ค. 51 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพมหานครต่อเนื่องด้วยวันที่ 29 ส.ค.51 ตำรวจบุกสลายการชุมนุม ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาลงที่สนามบิสุวรรณภูมิลดลงเฉลี่ยวันละร้อยละ 20-30 โดยอัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวแย่ลงในทุกตลาด โดยตลาดที่มีการชะลอตัวลงมาก ได้แก่ ยุโรปโอเชียเนีย ตลาดที่หดตัวลง ได้แก่ เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ในขณะที่ตลาดอเมริกากลับขยายตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้ดุลบริการในเดือนส.ค.ขาดดุลที่-0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ก.ย 51 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี เป็นผลมาจากการชะลอตัวของผลผลิตข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง มาอยู่ที่ร้อยละ 10.0 30.0 และ 50.0 ต่อปี ตามลำดับเนื่องจาก อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรเร่งทำการเก็บเกี่ยวมากขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินในสหรัฐยังตกอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากแม้ว่ารัฐสภาของสหรัฐผ่านร่างแผนกองทุน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเข้าซื้อหนี้เสียภาคการเงิน (Trouble Assent Rescue Program: TARP) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังสหรัฐแล้ว แต่ตลาดยังไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ภาคการเงินฟื้นตัวได้ นอกจากนั้น ปัญหาภาคธนาคารยังได้ลุกลามรุนแรงทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ทำให้ธนาคารในอังกฤษ ไอซ์แลนด์ และ Bank of America ของสหรัฐประสบปัญหาและทำให้ทางการต้องเข้าช่วยเหลือ โดยรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศแผนการจัดตั้งกองทุนจำนวน 4.5 แสนล้านปอนด์เข้าซื้อธนาคารที่ประสบปัญหา ขณะที่ทางการไอซ์แลนด์ได้กู้เงินจากรัฐเซียเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง แต่ก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ 6 ธนาคารกลางชั้นนำของโลกจึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยพร้อมกันเป็นจำนวนร้อยละ 0.5 เพื่อเพื่มสภาพคล่องและฟื้นฟูความเชื่อมั่น ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชือมั่นเพิ่มขึ้นและทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
- อนึ่ง การที่นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องเนื่องจากภาคการเงินของเกาหลีใต้มีความเชื่อมโยงกับสหรัฐอย่างมากนั้นทำให้ค่าเงินวอนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาก โดยในการซื้อขายระหว่างสัปดาห์นั้นได้อ่อนค่าลงกว่าระดับจิตวิทยาที่ 14,000 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย
- อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากนักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนที่ดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่น ยังคงกังวลในสถานการณ์วิกฤตการณ์การเงินโลก จึงแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Unwind Yen Carry Trade) ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เยน ดอลลาร์ฮ่องกง และหยวนจีนที่บาทอ่อนค่าลง
เล็กน้อย
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินสกุลหลักบางสกุลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่วิกฤตการณ์การเงินสหรัฐลุกลามไปทั่วโลกจนทำให้ 6 ธนาคารกลางชั้นนำปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไรก็ตามค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในช่วงระหว่างสัปดาห์จะอ่อนค่าลงมากเนื่องจากความวิตกกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศก็ตาม อนึ่ง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าเงินวอนเกาหลีเนื่องจากความวิตกกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจเกาหลีทำให้ค่าเงินวอนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาก ค่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินวอน
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 10 ต.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.88 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 5.54
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 63.2) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 5.7) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 19.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 10.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 10.3) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.0) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 5.7)เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.4) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.3) และยูโร (ร้อยละ 1.8)แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ เงินเยน (ร้อยละ 6.0) และหยวน (ร้อยละ 5.7)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 3 ต.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 115.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -1.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะจากการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจสถานการณ์การเงินจากวิกฤตการณ์การเงินสหรัฐที่ลุกลามไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องการขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 26 ก.ย.51) 0.22 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.64 จาก 33.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 3 ต.ค. 51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนก.ย. 51 ลดลง 159,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันและเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง โดยเป็นการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นจำนวน 51,000 ตำแหน่ง และภาคบริการที่ลดลงเป็นจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์ถึง 82,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนก.ย. อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรนับตั้งแต่ต้นปี 51 ลดลงทั้งสิ้น 760,000 ตำแหน่ง
ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนส.ค. 51 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 (mom) สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัวของความต้องการภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดค้าปลีกที่เป็นเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนส.ค. นี้ แต่แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 51คาดว่าจะลดลงตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหารและพลังงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลงตาม
ดุลการค้ามาเลเซียเดือน ส.ค.51 เกินดุลที่ 12.65 พันล้านริงกิต ลดลงจากเดือน ก.ค. ที่เกินดุล 14.4 พันล้านริงกิต เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยการส่งออกในเดือน ส.ค.มีมูลค่ารวม 59.6 พันล้านริงกิต คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ10.6 ต่อปี เทียบกับเดือน ก.ค.ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25.4 ต่อปี สาเหตุหลักจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐปรับตัวลดลงถึงร้อยละ -15.2 ต่อปี เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจโดยมีสินค้าส่งออกหลักที่ปรับตัวลดได้แก่สินค้าประเภทอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ -1.3 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 46.9 พันล้านริงกิต ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือน ก.ค. ที่ 48.9 พันล้านริงกิต คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี
ดุลการค้าไต้หวันเดือน ก.ย. 51 เกินดุลที่ 0.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เคยขาดดุลอยู่ที่ -3.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงร้อยละ -1.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 50 ในขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัว แต่มีการชะลอลงจากร้อยละ 39.9 ต่อปี เป็นร้อยละ 10.4 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของไต้หวัน อีกทั้งราคาน้ำมันและวัตถุดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง โดยการส่งออกสิ่งทอและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลงถึงร้อยละ -6.3 และร้อยละ -4.6 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกเนื้อสัตว์และผักมีการขยายตัวที่ร้อยละ 38.0 และร้อยละ 22.6 ต่อปี
รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 51 (Advanced Estimate) หดตัวร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับ GDP ในไตรมาสเดียวกันปี 50 และเมื่อเทียบกับ GDP ในไตรมาส 2 ปี 51 ตัวเลข GDP หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อไตรมาส ต่อเนื่องจากการหดตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.7 ต่อไตรมาส ซึ่งเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นผลจากการหดตัวมากขึ้นในการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -11.5 ต่อปี ตามการส่งออกสินค้าหลักประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงต่อเนื่องมานานร่วม 2 ปี และการส่งออกสินค้าที่มิใช่น้ำมันประเภทอื่นที่เริ่มลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 51
ธนาคารกลาง 16 ประเทศทั่วโลก ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามหยุดยั้งการขาดความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลก อีกทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก โดยเริ่มจากธนาคารกลางอิสราเอลประกาศลดอัตราอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 และธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.0 ในวันที่ 7 ต.ค.51 และในวันที่ 8 ต.ค. 51 ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ย FED ลงจากร้อยละ 2.0 เป็นร้อยละ 1.5 และธนาคารกลางยุโรปประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ECB ลงจากร้อยละ 4.25 เป็นร้อยละ 3.75 เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางแคนาดาที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 และธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์และธนาคารกลางสวีเดนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงร้อยละ 0.5 ส่วนธนาคารกลางจีนนั้น ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ยืม 1 ปี ลงร้อยละ 0.27 เหลือร้อยละ 3.87 และร้อยละ 6.93 ตามลำดับในขณะที่ธนาคารกลางคูเวตประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลงจากร้อยละ 5.75 เป็นร้อยละ 4.5 ต่อมาในวันที่ 9 ต.ค. 51 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 5.25 เป็นร้อยละ 5.0 และธนาคารกลางไต้หวันประกาศลดอัตราดอกเบี้ย rediscount ลงจากร้อยละ 3.61 เป็นร้อยละ 3.25 ส่วนทางการฮ่องกงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงติดกัน 2 วันจากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 2.5 และปรับลดอีกในวันถัดมาเหลือเพียงร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม ยังมีธนาคารกลางเดนมาร์กที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.6 เป็นร้อยละ 5.0 ในวันที่ 7 ต.ค. 51 เพื่อพยุงค่าเงินโครน และธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 8 ต.ค. 51 จากร้อยละ 9.25 เป็นร้อยละ 9.5 เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับร้อยละ 12.14 ต่อปี และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่ตัดสินใจคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อยู่ที่ร้อยละ 6.0
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th