Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ต.ค. 2551
SUMMARY:
- อานิสงค์น้ำมันโลกกดราคาเหล็ก
- “โภคภัณฑ์โลก”ดิ่งหนักรอบ 7 ปี รับเศรษฐกิจทรุด-แรงเทขาย
- ไอเอ็มเอฟเตือนการเงินโลกเข้าสู้ภาวะวิกฤติ
HIGHLIGHT:
1. อานิสงค์น้ำมันโลกกดราคาเหล็ก
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าอานิสงค์ราคาน้ำมันตลาดโลกลด ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายรายการลดลง โดยเฉพาะหมวดวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้าง ตะปู ราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 20.0 ขณะที่สินค้ากลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลังปรับตัวลดลงเช่นกันประมาณร้อยละ 10.0 ส่งผลให้สินค้าเนื้อสัตว์มีราคาลดลงตามต้นทุนอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ในส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ราคาเคลื่อนไหวตามราคาแข่งขันในตลาด
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ราคาสินค้าต่างๆเริ่มปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันปรับตัวลดลงโดยเฉพาะราคาเหล็ก และราคาสินค้ากลุ่มวัตถุดิบนั้น จะเป็นปัจจัยบวกในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่ในปี 50 หดตัวถึงร้อยละ -2.3 ต่อปี นอกจากนี้ยังส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงในช่วงปลายปี 51 และปี 52 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 51 และ 52 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.3 และ ร้อยละ 3.0-4.0 ตามลำดับ
2. “โภคภัณฑ์โลก”ดิ่งหนักรอบ 7 ปี รับเศรษฐกิจทรุด-แรงเทขาย
- สำนักข่าวรอยเตอร์และเจฟเฟอร์รีส์ เผยว่าดัชนี ซีอาร์บี ที่บ่งชี้มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์โลกร่วงลงหนักสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาหลังบรรดานักลงทุนเลิกกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไร ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมาก กัดเซาะอุปสงค์วัตถุดิบทั่วโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดทุนและทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ดีราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจสามารถฟื้นตัวได้หากรัฐบาลสหรัฐฯมีมาตรการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดานักลงทุน ซึ่งอาจทำบรรดานักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้อีก
3. ไอเอ็มเอฟเตือนการเงินโลกเข้าสู้ภาวะวิกฤติ
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกแถลงการณ์หลังการประชุมชาติสมาชิก 185 ประเทศเมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) โดยให้การสนับสนุนแผนการกู้วิกฤติการเงินที่ชาติอุตสาหกรรม 7 ประเทศ (จี-7) ได้ออกประกาศเมื่อวันศุกร์ (10 ต.ค.) พร้อมทั้งกล่าวว่าไอเอ็มเอฟพร้อมจะให้เงินช่วยเหลือแก่ทุกประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการเงินในขณะนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การออกแถลงการณ์ของไอเอ็มเอฟในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์การเงินของโลกที่ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติและส่งผลกระทบต่อภาคการเงินทั่วโลก ซึ่งหนทางที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงินหลักๆ และการขาดสภาพคล่องของตลาดสินเชื่อจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อย่างมีระบบและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงความช่วยเหลือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นไอเอ็มเอฟและกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th