เป็นที่รู้กันว่า สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความเรื่อง “ทำไม 1 ล้านบาท” ว่า อัตราเงินนำส่งมีส่วนสัมพันธ์กับการกำหนดวงเงินจ่ายคืน เนื่องจากการกำหนดวงเงินจ่ายคืนไว้สูงจะทำให้ระยะเวลาในการสะสมเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากใช้ระยะเวลานาน เว้นแต่จะกำหนดอัตราเงินนำส่งไว้ในอัตราที่สูง เพื่อให้ได้เงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่จะเป็นการเพิ่มภาระให้สถาบันการเงินมากขึ้นและสถาบันการเงินอาจผลักภาระไปยังผู้ใช้บริการสถาบันการเงินนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การกำหนดอัตราเงินนำส่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ครบทุกด้านซึ่งบทความนี้ จะนำเสนอประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาการกำหนดอัตราเงินนำส่ง รวมทั้งรูปแบบการกำหนดอัตราเงินนำส่งให้สอดคล้องกับโครงสร้างระบบสถาบันการเงินและเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์
ในหลักการระบบคุ้มครองเงินฝากของไทยและในหลายๆ ประเทศ คือ การให้อุตสาหกรรมทางการเงินหรือที่เรียกว่า Financial Industry มีกลไกในการดูแลกันเอง และมีองค์กรกลางไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานใดก็ตามทำหน้าที่เป็นผู้บริการจัดการระบบโดยส่วนใหญ่รูปแบบของการบริหารจัดการต้องมีความคล่องตัว มีสิทธิและอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนซึ่งการดูแลกันเองในที่นี้หมายถึง เมื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดมีปัญหา ภาระที่สำคัญของสถาบันการเงินลำดับแรก คือ การชำระเงินคืนให้เจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของสถาบันการเงินก็คือ ผู้ฝากเงิน ดังนั้น วิธีการดูแลกันเองก็คือ การที่สถาบันการเงินต่างๆ นำเงินมาลงร่วมกันเพื่อเป็นกองกลาง ในขณะเดียวกันก็มีผู้ดูแลเงินกองกลาง และเมื่อสถาบันการเงินใดประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถนำกองกลางไปชำระหนี้แทนได้
การที่ให้สถาบันการเงินทุกแห่งนำเงินมาลงร่วมกันในอัตราที่เท่าๆ กันก็อาจจะมีประเด็นที่แย้งว่าไม่ยุติธรรมสำหรับสถาบันการเงินที่เข้มแข็งกว่า เพราะวิธีนี้เหมือนกับให้สถาบันการเงินที่เข้มแข็งชดเชยสถาบันการเงินที่อ่อนแอกว่า ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม จึงมีการนำวิธีการกำหนดอัตราเงินนำส่งตามฐานะและการดำเนินงาน หรือที่เรียกว่า Risk-based Premium มาใช้แทน แต่วิธีนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงและพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าระบบสถาบันการเงินพร้อมหรือไม่เพราะการนำวิธีดังกล่าวมาใช้เพียงเพื่ออยากจะนำมาใช้อาจจะเป็นอันตรายหรือส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
ทีนี้กลับมาเข้าเรื่องที่เปิดประเด็นไว้ว่า อัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากควรจะเป็นเท่าไร? ในแต่ละประเทศที่มีระบบคุ้มครองเงินฝากหรือระบบประกันเงินฝากต่างก็กำหนดอัตราเงินนำส่งตามความเหมาะสมซึ่งมีอัตราที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ในอัตราที่อยู่
ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดี ในการกำหนดอัตราเงินนำส่งมีปัจจัยหลักที่สำคัญต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา ดังนี้
1. ความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงอย่างมาก เพราะหากสถาบันการเงินมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งแล้ว โอกาสที่สถาบันการเงินจะถูกสั่งปิดกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตก็มีน้อย ดังนั้น การกำหนดอัตราเงินนำส่งที่สูงก็จะไม่มีความจำเป็น
2. เป้าหมายเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากและระยะเวลาการสะสมเงินกองทุนฯ มีบทบาทต่อการกำหนดอัตราเงินนำส่ง หากกำหนดเป้าหมายไว้สูง หรือระยะเวลาการสะสมเงินกองทุนที่สั้นอาจส่งผลให้การกำหนดอัตราเงินนำส่งสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้สามารถรองรับการจ่ายเงินคืนผู้ฝากได้อย่างเพียงพอในกรณีสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต
3. ภาระของสถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะการกำหนดอัตราเงินนำส่งที่สูงย่อมจะเป็นการสร้างภาระให้กับสถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
4. ภาวะความเสี่ยง (Systematic risk หรือ Market risk) และสถานการณ์ของระบบการเงินของโลก เพราะปัจจุบันระบบการเงินของโลกยุคโลกาภิวัฒน์มีความเชื่อมโยงกันและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น Systematic risk หรือ Market risk เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากสถานการณ์ของระบบการเงินของโลกมีปัญหาก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศต่างๆ ได้
จากปัจจัยสำคัญดังที่กล่าวในข้างต้น การกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากที่เหมาะสมต้องมีความสอดคล้องกัน โดยการคำนึงถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเงินว่าโอกาสที่สถาบันการเงินจะถูกปิดกิจการมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2551 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับร้อยละ 15.2 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำทางกฎหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 8.5 และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross Non Performing Loan) คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของยอดสินเชื่อรวม และ Net NPL ร้อยละ 3.4 ของยอดสินเชื่อรวม นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการกันเงินสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ระบบการเงินของโลกนั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญซึ่งต้องคำนึงถึงเพราะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากระบบการเงินของโลกอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทยได้ ดังนั้น การกำหนดอัตราเงินนำส่งในระดับที่ต่ำจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วยเพราะหากสถาบันการเงินใดสถาบันการเงินหนึ่งถูกปิดกิจการไป กองทุนคุ้มครองเงินฝากต้องมีเงินกองทุนที่เพียงพอในการจ่ายคืนเงินให้กับผู้ฝากเงิน
โดย ทวีศักดิ์ มานะกุล 1
ผู้อำนวยการส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก
พีรกานต์ บูรณากาญจน์
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเงินฝากสถาบันการเงิน
กาญจนา ตั้งปกรณ์ เศรษฐกร 6ว
จรัสวิชญ สายธารทอง เศรษฐกร
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th