Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ต.ค. 2551
SUMMARY:
- ยอดขายรถยนต์ 9 เดือน เพิ่มขี้นเพียงร้อยละ 2.2 ต่อปี
- ธนาคารออมสินขยายสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท และผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อรากหญ้า
- เอเชียคลอดกองทุนสู้พิษหนี้เน่า
HIGHLIGHT:
1. ยอดขายรถยนต์ 9 เดือน เพิ่มขี้นเพียงร้อยละ 2.2 ต่อปี
- บ. ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์รวมทุกประเภท 9 เดือนแรก ปี 51 รวมทั้งสิ้น เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.2 ต่อปี จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่รถปิกอัพชนาด 1 ตัน หดตัวที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ร้อยละ 28.8 ต่อปี
- ในขณะที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรก ปี51 มียอดส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี โดยในเดือน ส.ค. ยอดส่งออกจำนวน 6.9 หมื่นคัน ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณของการชะลอตัวของตลาด แต่เมื่อมีวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ อาจจะทำให้ยอดการส่งออกรถยนต์ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 7.9 แสนคัน สำหรับตลาดสหรัฐฯ จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะไทยไม่ได้ส่งรถยนต์ไปขาย ส่วนตลาดที่ส่งออกไปมากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลียและประเทศแถบเอเชีย
- สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณายอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ เดือน ก.ย. 51 (%yoy) หดตัวที่ร้อยละ -10.5 ต่อปี โดยเฉพาะเป็นการหดตัวจากรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งประเภท รถปิกอัพและรถบรรทุก สะท้อนถึงการลงทุนในภาคธุรกิจ SMEs ที่อาจยังฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 51 ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นบ้าง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ราคาน้ำมันที่ลดลง 2) รายได้เกษตรกรตามราคาที่ดีมาตั้งแต่ต้นปี 51 เป็นช่วงกระตุ้นยอดขายตอนปลายปี 3) เป็นช่วงกระตุ้นยอดขายตอนปลายปี
2. ธนาคารออมสินขยายสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท และผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อรากหญ้า
- ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่าธนาคารตั้งเป้าการขยายตัวสินเชื่อในปี 2552 ไว้ที่ร้อยละ 10 ต่อปี หรือสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยยังคงเน้นการให้สินเชื่อเพื่อรายย่อย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของสินเชื่อทั้งหมด นอกจากนี้ ในปี 2552 ธนาคารออมสินจะดำเนินการปรับเกณฑ์เงื่อนไขการสนับสนุนโครงการต่างๆ ให้ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน หรือเอสเอ็มแอล รวมถึงโครงการธนาคารประชาชน
- สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายของธนาคารออมสินมีความสอดคล้องกับ 6 มาตรการป้องกันเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งการขยายสินเชื่อในปี 2552 ไว้ที่อัตราร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ การดำเนินขยายสินเชื่อของธนาคารออมสิน และการผ่อนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อในโครงการต่างๆ นั้น จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาคการบริโภค และการลงทุนในชุมชนระดับฐานรากให้ขยายตัว ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่าเม็ดเงินจากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจำนวน 5 หมื่นล้านบาทจากธนาคารออมสินจะส่งผลให้GDP ไทยในปี 2552 สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.1 — 0.2 ต่อปี
3. เอเชียคลอดกองทุนสู้พิษหนี้เน่า
- สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ร่วมกับ ญี่ปุ่น จีน และ เกาหลีใต้ เห็นพ้องที่จะจัดตั้งกองทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาจากสถาบันการเงินที่เผชิญกับภาวะสั่นคลอน เพื่อกู้วิกฤตการเงินโลกที่เริ่มลุกลามเขาสู่ภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ธนาคารโลกตกลงที่จะมอบทุนสนับสนุนขั้นต้นมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.4 แสนล้านบาท) ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่วนกลุ่มอาเซียน+3 จะเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนที่เหลือ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดตั้งกองทุนกู้วิกฤตการเงินดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนภายหลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก และจะสามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบปัญหาสภาพคล่องผ่านการเข้าซื้อทรัพย์สินด้อยคุณภาพ และการเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนที่มีปัญหา และด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่รวมกันแล้วมีมากมายมหาศาลนั้น สะท้อนความแข็งแกร่งของเอเชีย
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th