Economic Indicators: This Week
มูลค่าส่งออกสินค้าเดือนก.ย. 51 อยู่ที่ 15.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 19.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี ผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออก 1) สินค้าเกษตร จากร้อยละ 45.8 ต่อปีในเดือนส.ค. 51 เป็นร้อยละ 46.1 ต่อปี ตามราคาที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง 2) เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวในอัตราเร่งจากร้อยละ 0.9 ต่อปี ในเดือน ส.ค. 51 เป็นร้อยละ 21.4 ต่อปี ในเดือน ก.ย. 51 เนื่องจากเร่งส่งออกให้ทันเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ และ 3) การกลับมาขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี จากที่เดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกสินค้ายานยนต์มีการขยายตัวชะลอตัวลงจากร้อยละ 46.0 ในเดือน ส.ค. 51 เป็นร้อยละ 26.7 ต่อปี ในเดือน ก.ย. 51 สืบเนื่องมาจากอุปสงค์ต่อรถยนต์ในตลาดโลกที่ลดลงมาก
มูลค่านำเข้าสินค้าเดือนส.ค. 51 อยู่ที่ 15.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 39.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ต่อปี ผลจากการนำเข้าสินค้าทุนจากร้อยละ 6.1 ต่อปี ในเดือนส.ค. เป็นร้อยละ 14.2 ต่อปี ในเดือน ก.ย. เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและเหล็กมากขึ้น ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 34.9 ต่อปี ในเดือนส.ค. 51 เป็นร้อยละ 59.2 ต่อปี ในเดือนก.ย. 51 เนื่องจากการส่งออกยังคงขยายตัวเร่งขึ้น อีกทั้งสินค้าบริโภคที่มีอัตราการขยายตัวเร่งขึ้นจากเดิมร้อยละ 19.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 41.6 ต่อปี ผลจากการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีการขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย จากร้อยละ 44.2 ต่อปีในเดือน ส.ค. 51 เป็นร้อยละ 42.1 ต่อปี ในเดือน ก.ย. 51 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้า เดือนก.ย. 51 เกินดุลที่ 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ส.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 19.1 ต่อปี ชะลอเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.3 ต่อปี ทำให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 22.3 ต่อปี แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลต่อการความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนั้น วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯที่เริ่มลุกลามไปยังทั่วโลก มีส่วนทำให้ ธ.พาณิชย์ชะลอการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่ามาตรการภาครัฐที่ประกาศเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 51 ที่มีเป้าหมายให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 น่าจะช่วยกระตุ้นให้ยอดขายรถยนต์ดีขึ้นในอนาคต
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน ส.ค. 51 หดตัวที่ร้อยละ -22.8 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -25.7 ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ไตรมาสที่ 3 หดตัวสูงถึงร้อยละ -25.8 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวจากรถปิคอัพขนาด 1 ตัน และรถบรรทุก หดตัวร้อยละ -23.8 ต่อปี และร้อยละ -17.2 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะต่อไป สศค. คาดว่า ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์น่าจะยังคงชะลอลง หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลายซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการตัดสินใจขยายการลงทุนภาคเอกชนตามมา แม้ว่าจะได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดีเซลที่เริ่มมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันโลกก็ตาม
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ก.ย 51 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของไม้ผลและไก่เนื้อ ที่ร้อยละ 11.5 และ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจาก อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับ EU ปรับการนำเข้าเป็นแบบโควต้านำเข้าทำให้แต่ละประเทศรวมถึงไทยต้องเร่งส่งออกไก่ให้ได้ตามโควต้า ส่งผลให้เกษตรกรต้องเร่งเพิ่มผลผลิตไก่
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 81.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.0 เป็นผลมาจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำไปสู่การลาออกของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่รุนแรงและลุกลามไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยคาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายภายในประเทศและยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอลง
Foreign Exchange Review
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินในสหรัฐยังตกอยู่ในภาวะวิกฤต แม้ว่ารัฐสภาของสหรัฐได้ผ่านร่างแผนกองทุน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเข้าซื้อหนี้เสียภาคการเงิน (Trouble Assent Rescue Program: TARP) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังสหรัฐแล้ว แต่ตลาดยังไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ภาคการเงินฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของยุโรป กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร รวมทั้งอังกฤษ ได้ประชุมก่อนออกมาตรการ 5 ข้อเพื่อช่วยฟื้นฟูภาคการเงิน โดยมีสาระสำคัญคือเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาโดยตรง ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นรูปธรรม รวดเร็ว และสามารถดึงความเชื่อมั่นได้มากกว่า จึงทำให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมาก ขณะเดียวกันค่าเงินยูโรเริ่มยุติการอ่อนค่าลง
อนึ่ง การที่นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเอเชียโดยเฉพาะเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องเนื่องจากภาคการเงินของเกาหลีใต้มีความเชื่อมโยงกับสหรัฐอย่างมาก ทำให้ค่าเงินวอนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาก โดยในการซื้อขายระหว่างสัปดาห์นั้นได้อ่อนค่าลงกว่าระดับจิตวิทยาที่ 14,000 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินสกุลหลักบางสกุลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่วิกฤตการณ์การเงินสหรัฐลุกลามไปทั่วโลก ในขณะที่ในส่วนของเอเชียแม้จะเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงจากวิกฤต แต่ยังไม่มีการร่วมมือกันในเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการ ทำให้นักลงทุนยังวิตกกังวลในความเสี่ยงของตลาดเงินตลาดทุนเอเชีย และทำให้ค่าเงินเอเชียโดยเฉพาะวอนเกาหลีอ่อนค่าลงมาก ในขณะที่ทางการไทยได้ออกมาตรการอย่างรวดเร็วและทันการณ์ ซึ่งช่วยชะลอความผันผวนของตลาดเงินและเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่แข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินวอน อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากมาตรการที่รุนแรงและทันการณ์ของรัฐบาลอังกฤษ ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 51.1) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 19.3) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 18.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 10.6) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 10.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.9) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 6.6)เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.5) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.2) และยูโร (ร้อยละ 3.8)แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ เงินเยน (ร้อยละ 3.2) และหยวน (ร้อยละ 5.0)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 10 ต.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และForward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 113.90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะจากการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจสถานการณ์การเงินจากวิกฤตการณ์การเงินโลก อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า การเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องการขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 3 ต.ค.51) ร้อยละ 0.67 จาก 34.13 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 10 ต.ค. 51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลขยอดค ปลีกของสหรัฐเดือนก.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -1.2 (mom)เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและนับเป็นการหดตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี จากการที่ผู้บริโภคตัดลดค่าใช้จ่ายลง ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ดึงให้ตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนนี้ลดลงมาจากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลงร้อยละ -3.8 (mom) ยอดขายบ้านและเฟอร์นิเจอร์ลดลงร้อยละ -2.3 (mom) ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ -1.5 (mom) และยอดขายห้างสรรพสินค้าลดลงร้อยละ -1.5 (mom) ทั้งนี้ยอดค้าปลีกไม่รวมรถยนต์หดตัวลงร้อยละ -0.6 (mom)
ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐเดือนก.ย. 51 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ -0.4 (mom) ผลจากการชะลอตัวลงของราคาน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานลดลง โดยในเดือนก.ย. 51 ราคาเชื้อเพลิงสำเร็จรูปหดตัวลงร้อยละ -2.9 (mom) ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ -0.5 (mom) ราคาแก๊สหุงต้มที่ใช้ตามครัวเรือนหดตัวลงร้อยละ -8.2 (mom) และเชื้อเพลิงที่ใช้ทำความร้อนตามบ้านหดตัวลงร้อยละ -13.9 (mom) ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (ไม่รวมต้นทุนพลังงานและอาหาร) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (mom) แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไปและดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานในเดือนก.ย. 51 ยังขยายตัวในอัตราที่สูงที่ร้อยละ 8.7 และ 4.0 ต่อปี ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (HICP) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนส.ค. 51 (ตัวเลข Final) ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ชะลอลงจากเ ดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี จากการชะลอตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีผ่อนคลายลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มยูโรโซนจะชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในช่วงสิ้นปี 51 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในช่วงกลางปี 52 ทั้งนี้ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากการปรับลดลงร้อยละ 0.5 ในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ต่อปี เพิ่มช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงินที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้
ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนส.ค. 51 ลดลงร้อยละ -0.7 ต่อปี แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนส.ค. 51 ผลผลิตสินค้าคงทนหดตัวลงร้อยละ -6.2 ต่อปี ในขณะที่สินค้าไม่คงทนหดตัวลงร้อยละ-2.9 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงอย่างมาก ทั้งนี้ ในเดือนส.ค. 51 ผลผลิตอุตสาหกรรมในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีหดตัวลงที่ร้อยละ -3.7 และ -5.3 ต่อปี ตามลำดับอย่างไรก็ดี ผลผลิตอุตสาหกรรมในเยอรมนีที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ช่วยชดเชยให้ผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมของกลุ่มยูโรโซนไม่หดตัวมากนัก
ดุลการค้าจีนเดือน ก.ย. 51 เกินดุลที่ 29.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจาก28.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนส.ค. 51 ผลจากการส่งออกที่ยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 21.5 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 21.1 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนถึงภาวะส่งออกของจีนที่แม้จะยังคงขยายตัวดีอยู่ แต่ก็ลดความร้อนแรงลงโดยมีการส่งออกเหล็กซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ปรับลดลงจากเดือน ส.ค. 51 ร้อยละ -13.0 (mom) แม้ว่าเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 51 ยังคงขยายตัวประมาณร้อยละ 50 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้ามีการขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 23.1 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้ารถยนต์ลดลง
การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (ไม่รวม re-export) ของสิงคโปร์เดือนก.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -5.7 ต่อปี โดยมีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ -10.7 ต่อปี จากการหดตัวของการส่งออก Disk Drive ถึงร้อยละ-8.1 ต่อปี และการส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์ลดลงร้อยละ -28.7 ต่อปี ผลจากการขยายตัวชะลอลงของเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเงินโลกที่เริ่มส่งผลต่อการส่งออกของเอเชีย โดยการส่งออกไปยัง EU ลดลงถึงร้อยละ -28.7 และไปสหรัฐลดลงร้อยละ -24.5 อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซียยังขยายตัวดีอยู่ ส่วนการส่งออกสินค้าปิโตรเคมีมีการขยายตัวร้อยละ 13.5 ต่อปี จากผลของราคาน้ำมันและปิโตรเลียมที่ลดลง ช่วยให้การส่งออกที่มิใช่น้ำมันหดตัวในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.9 ต่อปีส่วนการส่งออกน้ำมัน (ไม่รวม re-export) มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.8 ต่อปี
ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า NYMEX ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 73.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 4.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยหลัก คือ 1) หน่วยงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ของอุปสงค์น้ำมันโลกลง โดยคาดว่าในปี 51 และ 52 อุปสงค์จะลดลง 4.4 แสนบาร์เรล/วันและ 7.0 แสนบาร์เรล/วัน ตามลำดับ 2) นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นและตลาดน้ำมันเพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤติการเงินโลกรวมทั้งสร้างสภาพคล่อง 3) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องการดอลลาร์สหรัฐเพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดน้ำมัน 4)ปริมาณน้ำมันสำรองคงคลังทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th