รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 24, 2008 16:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ต.ค. 2551

SUMMARY:
  • นักลงทุนทิ้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
  • ธนาคารพาณิชย์ชี้ถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL หลังไตรมาส 3 ปี 51
  • วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐส่งผลถึงภาคธุรกิจ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตัวลง
HIGHLIGHT:
1. นักลงทุนทิ้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
  • ผู้บริหารตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ระบุวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้จำนวนธุรกรรมเหลือ เพียง 600 สัญญาต่อวัน (สินค้ายาง 500 สัญญา และข้าว 100 สัญญา) จากเป้ารวมที่ตั้งไว้ 1,000 สัญญา ขณะที่เป้าปี 52 อยู่ที่ 1,500 สัญญา ซึ่งต้องมีแผนปรับตัวโดยขยายฐานนักลงทุนไปยังกลุ่มนักลงทุนในตลาดทุนผ่านตลาดอนุพันธ์
  • นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเข้าไปประกันข้าวจากเกษตรกร ทำให้ราคาข้าวไม่มีความผันผวน ซึ่งทำให้ความน่าสนใจในการเข้ามาเก็งกำไรใน AFET ลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญของการลดลงของจำนวนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เนื่องจากการลดลงของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว เนื่องจากผลผลิตทั่วโลกเพิ่ม ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา ส่งผลให้นักลงทุนปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าออกมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐนำสินค้าข้าวที่รับซื้อไว้มาบริหารความเสี่ยงในตลาดล่วงหน้า จะส่งผลให้สัญญาซื้อขายมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ในที่สุด
2. ธนาคารพาณิชย์ชี้ถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL หลังไตรมาส 3 ปี 51
  • ธนาคารพาณิชย์ในประเทศจำนวน 12 แห่ง รายงานตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาสที่ 3 ปี 51 พบว่าส่วนใหญ่สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อมีสัดส่วนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 51 โดยธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาส 2 เป็นร้อยละ 5.6 ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ สำหรับธนาคารที่มีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อ เพิ่มขึ้นมีจำนวน 2 แห่งได้แก่ธนาคารทหารไทยซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.5 ในไตรมาส 2 เป็นที่ระดับร้อยละ 14.6 ในไตรมาส 3 และธนาคารธนชาตที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาส 2 เป็นร้อยละ 2.6 ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ได้กล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของ NPL ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายหลังช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 51 โดยมีสาหตุจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงและคุณภาพของสินเชื่อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าธปท.จะยังไม่ประกาศตัวเลข NPL ต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบการเงินในไตรมาสที่ 3 แต่ สศค.คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธนาคารไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 52 น่าจะทำให้แนวโน้มของ NPL ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินเชื่อภาคการบริโภคจากความผันผวนของรายได้ ทั้งนี้ คาดว่า ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจน่าจะส่งผลต่อนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ในภาพรวมของสินเชื่อในระยะต่อไปมีแนวโน้มชะลอตัวลง
3. วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐส่งผลถึงภาคธุรกิจ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตัวลง
  • เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่อเค้าถึงภาวะวิกฤต โดยบริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น เมิร์ก ยาฮู และโกลด์แมแซคส์ ประกาศปลดพนักงานลงเป็นจำนวนร่วมหมื่นคน ซึ่งเป็นผลจากภาวะขาดทุนอย่างหนักในไตรมาสสาม ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯและทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงกว่า 500 จุด หรือร้อยละ 4 ดัชนีนิกเคอิปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 7 และดัชนี FTSE 100 ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐที่มีจุดเริ่มมาจากภาคการเงินเริ่มส่งผลกระทบถึงการจ้างงานและภาคการผลิตแล้ว โดยรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะกำหนดนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวลดลง ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในแง่จุลภาคและมหภาค โดยบริษัทลูกของบริษัทชั้นนำของสหรัฐที่ดำเนินการในประเทศไทย อาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการปรับลดจำนวนพนักงานลง ขณะเดียวกัน การส่งออกไปยังสหรัฐอาจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีหน้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ