IMF เตือนผู้นำทั่วโลกบริหารระบบการเงินให้รัดกุม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2008 12:11 —กระทรวงการคลัง

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำตัวเงียบเชียบทั้งๆ ที่น่าจะมีบทบาทมากในการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า จะได้ช่วยไม่ให้วิกฤติการเงินลุกลามไปมากขนาดนี้ เลยทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมมานี้ ผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ออกขาวมากขึ้น และเริ่มออกมามีบทบาทมากขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติสถาบันการเงิน

แนวทางที่ IMF เห็นว่าช่วยป้องกันการลุกลามของวิกฤติการเงินโดยหลักๆ คือ ให้ผู้นำประเทศต่างๆ หาแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในชาติเกี่ยวกับระบบการเงินของตนให้ได้ ผู้นำประเทศต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบแต่เด็ดขาดและรวดเร็วในการใช้มาตรการป้องกันวิกฤติการเงิน ซึ่งทาง IMF เห็นว่ามาตรการเหล่านั้นได้แก่

มาตรการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนว IMF เห็นว่าในช่วงวิกฤตินั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนจะเกิดความตระหนกจนเกินความจำเป็น อันจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยคุ้มครองเงินฝากให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร เพื่อป้องกันมิให้ระบบหยุดชะงัก มาตรการคุ้มครองนี้ควรเป็นมาตรการระยะสั้นและควรดำเนินการควบคู่ไปกับการจำกัดเพดานอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น

มาตรการให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการให้ธุรกิจรับรู้ผลเสียหายที่เกิดขึ้นโดยผู้ถือหุ้นควรเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็ให้แยกทรัพย์สินที่เสียหายออกมาดำเนินการต่างหาก เปิดทางให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมทุน

มาตรการให้รัฐเข้าไปร่วมทุน เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดค่อนข้างฝืดเคือง ในบางกรณีภาครัฐอาจเข้าไปลงทุนในสถาบันที่ประสบปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเอกชนรายใหม่ในการเข้าไปร่วมทุน ซึ่งการดำเนินมาตรการนี้แม้จะได้ผลดีแต่อาจได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่านำเงินภาษีไปช่วยอุ้มธุรกิจ ซึ่งกรณีนี้ในภายหลังทาง IMF ก็ออกมาแจ้งแนวทางผ่อนคลายแรงต้านจากประชาชนผู้เสียภาษีว่าอาจมีมาตรการทำนองว่าเป็นการคืนประโยชน์ให้ผู้เสียภาษีเมื่อยามที่ราคาหลักทรัพย์สูงขึ้นหลังวิกฤติ

มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ในช่วงของการเกิดวิกฤติการเงินนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เกิดวิกฤติตามไปด้วยเช่นกันเพราะแต่ละประเทศขาดความเชื่อมั่นระหว่างกัน และมาตรการที่แต่ละประเทศใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศนั้นบางมาตรการดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ IMF ยังออกมาแสดงความเห็นว่าสาเหตุของวิกฤติการเงินครั้งนี้เกิดมาจากความล้มเหลวของ 3 ปัจจัยได้แก่ (1) ความล้มเหลวของระบบกฎหมายและระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้ว (2) ความล้มเหลวของการบริหารความเสี่ยงในสถาบันการเงินเอกชน และ (3) ความบกพร่องของกลไกการตลาดการเงิน ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้ทำให้ปัญหาวิกฤติการเงินลุกลามไปในโลกที่พัฒนาแล้วอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ IMF เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ระบบการเงินโลกจะต้องมีการปฏิรูปตัวเองกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างกฎหมายและการกำกับดูแล เพื่อรอบรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ

นอกจากมาตรการหลักๆ ที่กล่าวมาแล้ว IMF ยังให้ข้อคิดแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีก 7 ประการในการป้องกันและแก้ไขวิกฤติการเงินที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

1. ความสอดคล้องในเชิงนโยบายของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการดำเนินมาตรการใดๆ โดยเอกเทศ

2. วิกฤติการเงินในครั้งนี้เป็นเรื่องร้ายแรงและอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจะฟื้นฟูกลับมาได้อย่างช้าๆ โดยเริ่มจากกลางปี 2552 เป็นต้นไป

3. นอกจากนี้ได้เตรียมวงเงินสำรองไว้สำหรับประเทศที่ต้องการใช้ยามฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว IMF ก็พร้อมจะให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง

4. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังอาจจะเป็นยารักษาวิกฤติการเงินได้ในช่วงแรก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป

5. ผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศจะต้องไม่ลืมนึกถึงวิกฤติอื่นๆ ด้วย เช่น วิกฤติการอาหารโลกและวิกฤติการราคาน้ำมัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องไม่ตัดความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศยากจนเพียงเพื่อจะให้ตัวเองเอาตัวรอด

6. หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินควรเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้รวมถึงการทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ การจัดอันดับเครดิต การเปิดช่องโหว่ทางกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ และการเปิดเผยขัอมูลการดำเนินธุรกิจอย่างครบถ้วน

7. โครงสร้างของระบบการเงินโลกจะต้องได้รับการทบทวนเพื่อให้เหมาะสมและตอบสนองกับความต้องการในยุคศตวรรษที่ 21

ปัจจุบันนี้มีประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินและกำลังอยู่ระหว่างการขอรับความช่วยเหลือจาก IMF ประมาณ 5 ประเทศ ได้แก่ ฮังการี ปากีสถาน ยูเครน ไอซ์แลนด์ และเบลารุส ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม IMF ก็ได้อนุมัติวงเงิน 16.5 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับประเทศยูเครนเพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้นและยังมีอีก $200 พันล้านเหรียญที่ยังเตรียมไว้สำหรับประเทศอื่นๆ ที่อาจประสบปัญหาอีก

โดย พรวสา ศิรินุพงศ์

หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือทางการเงินยุโรป-อเมริกา

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ