รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 31, 2008 11:42 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีสัญญาณขยายตัวชะลอลง เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกเริ่มปรับตัว ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องตามภาระค่าครองชีพจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง และผลของมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับมั่นคงจากความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมากอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและผลของ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนโดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าโดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (ณ ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 16.1 ต่อปีในไตรมาสที่ 3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อปี เนื่องจากภาระค่าครองชีพที่ลดลงตามระดับราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวลง ส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคจากปริมาณการนำเข้า สินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 29.8 ต่อปี เช่นเดียวกับเครื่องชี้การบริโภคสินค้าคงทนจากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.0 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี สะท้อนการใช้จ่ายของประชาชนในเขตภูมิภาคที่ขยายตัวดีต่อเนื่องเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราขยายตัวของราคาสินค้าเกษตรจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปอาจจะเริ่มมีทิศทางชะลอลง เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคเอกชนต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นเครื่องชี้แนวโน้มการบริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70.6 จากระดับ 71.9 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่น และปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย

2. การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 โดยเครื่องชี้ด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 29.3 ต่อปี เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 หดตัวลงมากจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 13.1 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยโดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวที่สูงเป็นพิเศษจากการนำเข้าแท่นขุดเจาะในเดือนกรกฎาคม แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม —กันยายน 2551) ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนเริ่มขยายตัวชะลอลงมากเฉลี่ย 2 เดือนที่ร้อยละ 6.0 ต่อปีสำหรับเครื่องชี้การลงทุนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ที่หดตัวลงมากจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -25.8 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของรถบรรทุกและรถปิคอัพเป็นหลัก

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 พบว่ารายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาลจาก 3 กรมจัดเก็บยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 12.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศในช่วงที่ผ่านมาที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อปีในไตรมาสที่ 3 สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อปี สะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทเอกชนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี และภาษีฐานการบริโภคขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 21.8 ต่อปีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยด้านราคาสินค้าและบริการที่ขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ รายได้จัดเก็บของรัฐบาลทั้งปีงบประมาณ 2551 จัดเก็บได้รวมทั้งสิ้น 1,547.2 พันล้านบาทขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับรายจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 413.3 พันล้านบาทส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2551 (เดือนตุลาคม2550 — กันยายน 2551) เบิกจ่ายได้ 1,633.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี โดยเป็นการเบิกจ่าย ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 จำนวน 1,532.5 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 92.3 ของกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี (1,660 พันล้านบาท) ในการนี้ รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) ทั้งปีงบประมาณ 2551 รวม -78.7 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

4. การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เริ่มขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง โดยปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 11.3 ต่อปี โดยเป็นการลดลงของสินค้าหมวดอิเลคทรอนิกส์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการส่งออกแล้วจะพบว่ายังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.2 ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ ร้อยละ 15.0 ต่อปีในไตรมาสที่ 3 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะราคาสินค้าส่งออกหมวดเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 52.2 ต่อปีในไตรมาสที่ 3 ขณะที่เมื่อพิจารณาจากมิติคู่ค้าแล้วจะพบว่าตลาดส่งออกใหม่ เช่น ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวได้ดี แต่ตลาดหลักในสหรัฐ ยุโรป และจีน เริ่มมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยเป็นการขยายตัวของปริมาณสินค้านำเข้าเป็นหลักโดยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปีโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่ปริมาณนำเข้ายังขยายตัวในระดับสูงในไตรมาสที่ 3 ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าโดยรวมเริ่มขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเป็นหลัก ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ขาดดุลจำนวน -1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 พบว่า ผลผลิตภาคการเกษตรภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณการชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรที่วัดจากดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 35.5 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 จากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 38.2 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ตามภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ชะลอลง ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 หดตัวลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 3.35 ล้านคน หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี อันเป็นผลกระทบจากความไม่เชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นสำคัญ ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ9.4 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการชะลอตัวลงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ยานยนต์ และอุตสาหกรรม เครื่องหนังที่เริ่มชะลอลงตามความต้องการของตลาดโลก

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.6 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และผลของ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในช่วง สองเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ณ เดือนสิงหาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 35.5 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 อยู่ในระดับสูงที่ 102.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า

--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฉบับที่ 29/2551--

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ