Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 พ.ย. 2551
SUMMARY:
- กระทรวงการคลังเตรียมกู้เงิน 1 แสนล้านบาทเพื่อการจำนำสินค้าราคาเกษตร
- อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 51 ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง
- แบงก์คุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯยอดลูกค้ากู้ไม่ผ่านพุ่งร้อยละ 30
HIGHLIGHT:
1. กระทรวงการคลังเตรียมกู้เงิน 1 แสนล้านบาทเพื่อการจำนำสินค้าราคาเกษตร
- กระทรวงการคลังเปิดเผยแนวทางการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 และสินค้าเกษตร เนื่องจากรัฐบาลต้องการวงเงินรับจำนำปีนี้เป็นจำนวน 110,000 ล้านบาท ประกอบด้วยสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน 40,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 40,000 ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย 15,000 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย 15,000 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย MRL ร้อยละ 2 และมีระยะเวลากู้ 2 ปี โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อรับจำนำข้าวเปลือก 97,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท จาก 3.4 ล้านล้านบาทเป็น 3.5 ล้านล้านบาท โดยในขณะนี้เป็นการกู้แล้ว 100,000 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีราคาพืชผลล่าสุดในเดือนกันยายน 51 มีการปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -8.7 จากเดือนกรกฎาคม 51 เนื่องจากความต้องการที่ลดลงของกลุ่มพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับพลังงานทดแทน จากราคาน้ำมันที่ลดลง และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอซึ่งกระทบต่อความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรโดยรวม ทั้งนี้ การประกันราคาสินค้าเกษตรภายใต้ 3 โครงการ (ข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพด) จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาที่ลดลงให้แก่เกษตรกรได้
2. อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 51 ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง
- กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี ผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ต.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปีเช่นกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 51 ที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันภายในประเทศตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงถึงร้อยละ 37.5 เมื่อเทียบกับราคา ณ สิ้นเดือนก.ย. 51 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงทำให้ดัชนีราคาอาหารปรับลดลงตาม หากอัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีอาจอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 ต่อปี และแรงกดดันทางเงินเฟ้อที่ลดลงจะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องในไตรมาส 4 ของปี 51
3. แบงก์คุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯยอดลูกค้ากู้ไม่ผ่านพุ่งร้อยละ 30
- กรรมการผู้จัดการบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ เผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติทางการเงินโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดลูกค้าที่ผ่อนดาวน์ไปได้ระยะหนึ่งกู้ไม่ผ่าน โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนลูกค้าที่ขอกู้ไม่ผ่านเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดจากพื้นที่รับอนุญาตการก่อสร้างล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค. 51 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี สะท้อนการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ การชะลอของสินเชื่อให้แก่ผู้ซื้อบ้านของธนาคารพาณิชย์จะยิ่งสร้างผลกระทบต่อภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้มีมาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ การลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือร้อยละ 0.1 และการลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอนและการจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th