รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2008 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • ประชุม BOI วันนี้ อนุมัติ 2 มาตรการ เพื่อกระตุ้นการลงทุนช่วงศ.ก. ชะลอตัว
  • อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐทรุด ดัชนีการผลิตต่ำสุดในรอบ 25 ปี
  • วิกฤติการเงินโลกฉุดอียูถดถอย คนตกงานเพิ่ม
HIGHLIGHT:
1. ประชุม BOI วันนี้ อนุมัติ 2 มาตรการ เพื่อกระตุ้นการลงทุนช่วงศ.ก. ชะลอตัว
  • รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พิจารณามาตรการเร่งรัดการลงทุนในปีแห่งการลงทุนปี 51-52 โดยประเมินว่า การส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 2551 อาจจะไม่เป็นไปเป้าหมาย 650,000 ล้านบาท โดยใน 9 เดือนแรกของปีนี้ มีเพียง 342,000 ล้านบาท โดยจะกระตุ้นผ่าน 2 มาตรการ คือ 1)การกำหนดพื้นที่ทั่วประเทศเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นกรุงเทพฯ ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์พิเศษ และ2) การให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับโครงการที่ขอยื่นฯ ภายในปี 2552 กับ กิจการที่สามารถที่จะเร่งการลงทุนได้เร็ว โดยเน้นกิจการประหยัดพลังงาน กิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมกะโปรเจค และกิจการที่ใช้พืชผลทางการเกษตร โดยอาจจะพิจารณาเรื่องอากรขาเข้าเครื่องจักร และภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การให้สิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมากในอนาคตให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ของ สศค.การลงทุนในปี 2551 จะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 และการลงทุนในปี 2552 ที่น่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.3-8.3
2. อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐทรุด ดัชนีการผลิตต่ำสุดในรอบ 25 ปี
  • ยอดขายรถยนต์สหรัฐเดือนต.ค.ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ภายในประเทศหรือรถยนต์นำเข้า ลดลงถึง 32% ต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ตัวเลขดัชนีการผลิตของสหรัฐเดือนต.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 38.9 จุด จากเดิมเดือนก.ย. 51 ที่ระดับ 43.5 จุด นับเป็นการดิ่งตัวลงต่ำสุดในรอบ 25ปี ส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานในภาคการผลิตอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทิ้งนี้กระทรวงการคลังสหรัฐเตรียมกู้เงินมูลค่า 5.5 แสนล้านดอลลอาร์สหรัฐเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบที่ชัดเจนถึงภาคการผลิตแล้ว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมแล้ว เห็นได้จากยอดขายรถยนต์และดัชนีภาคการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ประกอบกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี หากภาคการผลิตสหรัฐยังคงหดตัวต่อไปอีก อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งทางตรงในแง่ของการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐที่จะลดลง และทางอ้อมผ่านยอดการสั่งซื้อสินค้าจากไทยโดยประเทศคู่ค้าของสหรัฐได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการจ้างงานของไทยในอนาคต
3. วิกฤติการเงินโลกฉุดอียูถดถอย คนตกงานเพิ่ม
  • คณะกรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อีซี) คาดการณ์ว่าชาติสมาชิกของอียูทั้ง 27 ประเทศจะเข้าสู่ภาสะถดถอยในระยะสั้นและไม่รุนแรง โดยประเมินกันว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอียูจะหดตัวลงร้อยละ -0.1 (qoq) ทั้งในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่อียูตกต่ำจนเข้าสู่ภาวะถดถอยนับตั้งแต่เริ่มต้นใช้เงินยูโรในปี 2542 นอกจากนั้นยังคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของสมาชิกในกลุ่มโดยรวมจะไต่ขึ้นจากระดับร้อยละ 7.2 ในเดือน มี.ค.ปีนี้ ไปอยู่ที่ร้อยละ 8.7 ในปี 2553 เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในฝรั่งเศสเดือน ต.ค. ที่ร่วงลงกว่าร้อยละ 7.3 ส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า วิกฤติการเงินโลกเริ่มส่งผลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ของสหภาพยุโรปแล้ว โดยเห็นได้จากความต้องการในการบริโภคที่ชะลอตัวลงในภาครัวเรือน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาจนต้องลดกำลังการผลิตลง บางแห่งมีแผนที่จะเลิกจ้างแรงงานบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์, อุตสาหกรรมเหล็ก และ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทาง สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ร้อยละ 1 ต่อปี ชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ