รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 7, 2008 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • ธปท. ห่วงวิกฤตการเงินสหรัฐส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารไทยในระยะต่อไป
  • เอกชนได้รับการขยายสิทธิ GSP จากสหรัฐต่ออีก 1 ปี
  • ธนาคารกลางต่างๆของยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ย
HIGHLIGHT:
1. ธปท. ห่วงวิกฤตการเงินสหรัฐส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารไทยในระยะต่อไป
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความกังวลจากปัญหาของวิกฤตภาคการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ และการขยายตัวของสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 50 และ ปี 51 อย่างไรก็ตาม แนวทางการช่วยเหลือของ ธปท. ได้แก่การหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อสอบถามถึงอุปสรรคหรือหลักเกณฑ์ใดที่จะส่งผลต่อการให้สินเชื่อและผ่อนปรนหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น ธปท.ไม่สามารถดำเนินการได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการขยายตัวของสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 51 ที่ยังขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 13.1 ต่อปี ส่วนหนึ่งสะท้อนจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปผลกระทบทางอ้อมทางวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ และผลประกอบการของบริษัทต่างๆ
2. เอกชนได้รับการขยายสิทธิ GSP จากสหรัฐต่ออีก 1 ปี
  • อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าสหรัฐได้ประกาศต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ออกไปอีก 1 ปี ถึง 31 ธ.ค. 52 โดยไม่เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การให้สิทธิ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก ส่งผลให้สินค้ากว่า 3 พันรายการไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่ได้รับสิทธิ ทั้งนี้ ช่วง ม.ค.-มิ.ย.51 ไทยใช้สิทธิส่งออกภายใต้ GSP 1.765 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ใช้ GSP มากสุด ได้แก่ เครื่องรูปพรรณจากโลหะเงิน ยางเรเดียล ชุดสายไฟรถยนต์ อาหารปรุงแต่ง ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอคืนสิทธิ ได้เป็นประจำทุกปี โดยในปี 51 ทางการสหรัฐกำหนดให้ยื่นคำร้องขอยกเว้นเพดานการส่งออกได้จนถึง 13 พ.ย.51
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางศุลกากร จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยในปี 52 อย่างไรก็ดี การส่งออกในปี 52 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ว่าจะเป็น อียู สหรัฐ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การกระจายตลาดส่งออกไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกาให้มากขึ้นจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้บ้าง
3. ธนาคารกลางต่างๆของยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • ธนาคารกลางประเทศต่างๆในยุโรปประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 51 ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางอังกฤษประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี และธนาคารกลางสาธารณรัฐเชกประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในกรณีของอังกฤษที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 1.5 ซึ่งเกินกว่าความคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั่วโลก เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงปัญหาในภาคการเงินของอังกฤษที่เริ่มส่อเค้ารุนแรงและขยายวงกว้างไปยังภาคเศรษฐกิจจริงที่เริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากภาคการเงินและการธนาคารของอังกฤษมีความเกี่ยวเนื่องอย่างสูงกับภาคการเงินของสหรัฐ จึงได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ